มีเกียรติ แซ่จิว : Take Care of My Cat ขอออกไปเป็น “แมวป่า” สักครั้งในชีวิต

“สิ่งที่เจ็บปวดคือเราห่างเหินกัน มันเยี่ยมมากตอนที่เราอยู่ที่โรงเรียน เดี๋ยวนี้เวลาเจอกัน เราก็ไม่คุยกันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

Take Care of My Cat ว่าด้วยเรื่องราวของเพื่อนซี้ 5 คนที่เรียนจบมัธยมปลายในเมืองท่าเรืออินชอนมาด้วยกัน และถึงวันต้องออกสู่โลกกว้าง ทำงานหาเลี้ยงตัว ก้าวย่างใหม่ๆ ของพวกเธอที่จะไม่เหมือนสมัยเรียนอีกต่อไป แต่ละคนต้องออกไปหางาน แสวงหาชีวิตบทใหม่ให้กับตัวเอง

“บียูกับออนจู” (ลีอึนชิล, ลีอึนจู) ฝาแฝดลูกครึ่งจีนพอใจกับอาชีพทำสร้อยและกำไลข้อมือขายแบกะดิน

“เฮโจ” (ลีโยวอน) ไปทำงานบริษัทใหญ่หวังไต่เต้าในอาชีพ

“เตฮี” (เบดูนา) ช่วยงานที่บ้านกิจการเซาน่าหินร้อนธรรมชาติ

และ “จูยอง” (โอ๊กจียอง) เพื่อนคนเดียวในกลุ่มที่ยังหางานทำไม่ได้

จูยองได้นำลูกแมวที่ถูกทอดทิ้งมาเลี้ยงไว้ในบ้านเช่าสังกะสีซอมซ่อในย่านชุมชนแออัด เธออาศัยอยู่กับตาที่นอนป่วยและยายซึ่งทำงานเย็บผ้าหาเลี้ยงตัวไปวันๆ ส่วนพ่อ-แม่ของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว

วันหนึ่งเมื่อถึงวันเกิดของ “เฮโจ” จูยองได้มอบลูกแมวที่เธอตั้งชื่อมันว่า “ตีตี” (TEETEE) ให้เป็นของขวัญ แต่หลังจากนั้นเฮโจก็นำลูกแมวมาส่งคืน

โดยให้เหตุผลว่า เธอต้องทำงาน คงไม่มีเวลาดูแล

 

เฮโจดูจะไปได้ดีกับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ แม้เธอจะต้องทำงานสารพัดทั้งคอยรับโทรศัพท์ ถ่ายเอกสาร ตามงานให้คนนั้นคนนี้ เสิร์ฟกาแฟ แต่เธอก็ไม่เคยปริปากบ่นเมื่อได้ใส่เสื้อผ้าสวยๆ หรือยิ้มกะพริบตาให้หัวหน้าทั้งที่เธอก็มี “ชานยอง” เพื่อนหนุ่มที่รักเธออยู่ฝ่ายเดียวและพร้อม “เป็นมือเป็นเท้า” ทำตามทุกอย่างที่เธอร้องขอ (“ชานยอง ฝากเอาขยะไปทิ้งให้หน่อย”)

ผิดกับจูยองที่วันแต่ละวันของเธออยู่กับบ้านและร้านกาแฟ เพนต์งานศิลปะที่เธอชอบแต่ไม่มีใครสนใจ เธอพูดคุยกับ “ตีตี” แมวของเธอมากกว่าใคร เพราะเพื่อนแต่ละคนก็มีงานทำกันหมด ส่วนเธอยังเดินเตะฝุ่นหางานทำ เธออยากเรียนต่อ แต่ก็ไม่มีเงิน ยังโทร.ไปขอยืมเพื่อนอยู่บ่อยครั้ง

ครั้งหนึ่งเฮโจบอกกับเตฮีที่ให้เพื่อนยืมเงินว่า จูยองเคยมายืมเงินเธอสองสามครั้ง และว่า

“เธอไม่มีทางได้เงินคืนหรอก”

 

ส่วนเตฮี นอกจากช่วยเหลืองานที่บ้านแล้ว เธอยังไปทำงานอาสาสมัคร พิมพ์ดีดบทกวีให้ผู้พิการที่อยากมีผลงานรวมบทกวีเป็นของตัวเอง แต่ไม่สามารถพิมพ์ดีดได้ เธอจึงฟังเขาด้นสดและช่วยพิมพ์ไปพร้อมกัน

เตฮีเป็นคนขี้สงสาร เมื่อเธอนั่งอยู่บนรถประจำทาง มีคนนำของขึ้นมาขายเธอก็ช่วยซื้อ ตามร้านอาหารเธอก็ยินดีช่วยเหลือ

เธอมักเป็นตัวกลางประสานเพื่อนๆ ในกลุ่ม รับฟังปัญหาของเพื่อน และเธอไม่เข้าข้างใคร

เมื่อตอนที่เฮโจกับจูยองผิดใจกัน ก็เป็นเตฮีที่พยายามหาทางไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม (“เมื่อก่อนพวกเธอสองคนเคยเป็นเพื่อนซี้กัน”)

คราวหนึ่งเตฮีกับจูยองพูดคุยปรับทุกข์กัน ระหว่างทางทั้งสองเจอคนไร้บ้านทำท่าเหมือนจะเดินตาม ต่างรีบเดินจ้ำและหันมองอย่างระแวดระวัง แต่ในสายตาของเตฮีกลับรู้สึกมากไปกว่านั้น เธอบอกจูยองว่า

“บางครั้ง ฉันอยากเดินทาง เพราะความอยากรู้ อยากรู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เอ้อระเหยโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง”

“เธอคงคิดว่ามันคืออิสรภาพ ฉันไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยนะ ถ้าบางอย่างเกิดขึ้นกับเธอ เธอจะว่าอย่างไร”

เตฮีคงกำลังฝันถึงอิสรภาพจริงเหมือนอย่างที่จูยองว่า และคงกำลังใคร่ครวญถึงมันอยู่ทุกๆ วัน เหมือนตอนที่เธออยากสมัครไปเป็นลูกเรือ แต่พอเธอเห็นมีแต่ผู้ชายเลยเกิดอาการละล้าละลังไม่มั่นใจขึ้นมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเธอถูกเลี้ยงดูอยู่ในครอบครัวใหญ่มาตั้งแต่เด็ก (เธอเป็นคนเดียวในกลุ่มเพื่อนที่ครอบครัวรักใคร่กลมเกลียว)

เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ-แม่ ไม่ต่างจากแมวเลี้ยงในบ้านที่ไม่เคยออกไปหากินเอง เลยไม่รู้ว่าโลกกว้างภายนอกที่ไม่คุ้นเคยนั้นเป็นอย่างไร

 

Take Care of My Cat นอกจากหมายถึงการ “ฝากดูแล” และ “ส่งต่อ” แล้ว (ตัวละครทุกตัวจะได้รับแมวส่งต่อกัน) ด้านหนึ่ง “แมว” ยังถูกนำไปเชื่อมสื่อความหมายทางไสยศาสตร์ผ่านปากคำของยายจูยอง เมื่อแรกเห็นจูยองอุ้มลูกแมวเดินมาตามทางในตอนแรกว่า

“แมวเป็นสัตว์มีคาถาอาคม ไม่ควรเอามาเลี้ยงไว้ในบ้าน มันไม่ดี รู้มั้ย ยายเกิดปีเสือ แมวไม่ถูกกับปีเสือ”

และในฉากท้ายๆ ตามความเชื่อของยายก็มีผลให้บ้านสังกะสีผุพังถล่มลงมาทับตา-ยายสองคนตายอยู่ในกองซากปรักหักพัง ในขณะที่จูยองไม่อยู่บ้าน หลังเกิดโศกนาฏกรรม ก็มีเหตุให้เธอต้องนำแมวไปฝากไว้กับเตฮี

ส่วนอีกด้าน “ชานยอง” ชายหนุ่มผู้มองโลกในแง่ดีและรักเฮโจมากนั้น ก็ให้นิยามความหมายของแมวตามคำโบราณว่า “ผู้ชายที่เกลียดแมว มักไม่เจอผู้หญิงดีๆ”

หนังไม่ได้นำเสนอว่าเขาเป็นคนเกลียดแมว แต่เขาก็เจอผู้หญิงอย่าง “เฮโจ” ที่เห็นค่าในความรักของเขาน้อยเกินไป

แต่ก็เป็นเขาคนนี้อีกเช่นกันที่เป็นไหล่พักพิงให้เฮโจในวันที่เธอต้องการกำลังใจ

 

แต่สุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด) “แมว” สื่อความหมายได้ตรงที่สุดคือ “อิสรภาพ” เมื่อมันถูกส่งต่ออีกครั้งจาก “เตฮี” ไปให้ “บียูและออนจู” ซึ่งก็ยินดีรับฝากแมวมาเลี้ยงไว้ ทั้งสองเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมีความสุขกับชีวิต จึงไม่เคยคิดตั้งคำถามไปไกลเกินกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่

ดังจะเห็นได้ในทุกฉากที่ฝาแฝดปรากฏตัว เราจะเห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สนุกสนานกับการทำอาหารและกินอย่างเอร็ดอร่อย มีมุขตลกเวลาขายของมากกว่าทำหน้าเศร้า เซื่องซึม และมองโลกในแง่ร้าย

อีกอย่าง บียูและออนจูอาจเหมาะที่จะเลี้ยงแมวมากกว่าทุกคน เพราะทั้งสองเป็นเจ้านายตัวเอง มีอิสระและเวลาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างให้ใครโขกสับเหมือนอย่าง “เฮโจ” เดินเตร็ดเตร่หางานทำเหมือนอย่าง “จูยอง” ช่วยดูแลกิจการครอบครัวอย่างซังกะตายเหมือนอย่าง “เตฮี”

แต่ที่ทุกคนมีเหมือนและไม่แตกต่างกันก็คือ ทุกคนยังอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนที่คุ้นชิน ไม่เคยเดินทางออกไปไหนไกล (มีเพียงฉากเดียวที่ทุกคนรวมกลุ่มกันไปเที่ยวหาเฮโจที่ไปทำงานอยู่โซล)

ว่ากันว่า ชีวิตคือการเดินทางเป็นเส้นรอบวงกลม เราลากเส้นจากจุดตั้งต้นเพื่อจะเดินกลับมาสู่จุดเริ่มใหม่อีกครั้ง เหมือนกับ “เจนนี่” ใน Forrest Gump ที่โผบินออกจากรวงรัง ผจญโลกกว้าง เรียนรู้ชีวิต ประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลาน แล้ววกกลับ “บ้าน” ที่เธอจากมา

แต่คงเพราะความไม่รู้และอยากออกไปเรียนรู้ประสบการณ์นี่เอง เตฮีจึงตัดสินใจปลดสัมภาระบนบ่าทั้งหมด (ทั้งครอบครัวและแมวที่นำไปฝากเลี้ยง) แล้วมาชวนจูยอง (ซึ่งบัดนี้ไม่มีภาระใดให้ต้องรับผิดชอบ) ออกไปผจญโลกกว้างร่วมกัน ออกไปเป็น “แมวป่า” สองตัวที่เสาะแสวงหาชีวิตใหม่ด้วยตัวเอง

…มิตรภาพจะคงไว้ในรูปถ่าย แต่จะไม่มีอะไรคงอยู่เหมือนเดิม เมื่อเราเติบโตขึ้น