ชาคริต แก้วทันคำ : ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในเรื่องสั้น ของ “เพณิญ” และ “ตินกานต์”

รูปแบบวิถีชีวิตและโครงสร้างของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

สมาชิกในครอบครัวจึงต้องเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ขาดคนกลางคอยไกล่เกลี่ยหรือให้คำปรึกษา

ซึ่งความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตท่ามกลางระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวได้รับความกดดันและขาดการควบคุมทางอารมณ์ จนกลายเป็นความขัดแย้งขึ้น เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เพศ สุขภาพกับเด็ก ผู้หญิงหรือภรรยา ผู้สูงอายุ เป็นต้น

บทความนี้จะศึกษาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่สามีกระทำต่อภรรยา จากปัจจัยเสี่ยงและตัวบ่งชี้ความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบโดยตรงมาถึงลูกในเรื่องสั้น “เพียงเถ้าธุลีของหินผา” ของเพณิญ จากรวมเรื่องสั้น “ทะเลมีสะอื้นเล็กน้อยถึงปานกลาง”

และเรื่องสั้น “บัว” ของตินกานต์ จากรวมเรื่องสั้น “ดอก รัก” ซึ่งถ่ายทอดความคิด มุมมองและน้ำเสียงผ่านตัวละครผู้หญิงสมัยใหม่ ในครอบครัวที่มีพ่อและสามีเป็นทหาร

ภายใต้บริบทครอบครัวและสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy)

 

“ชีวิตของฉันต้องไม่ลงเอยเหมือนชีวิตคู่ของพ่อ-แม่”
: การเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อโต้กลับ

เรื่องสั้น “บัว” ของตินกานท์ ให้บัวหรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบย้อน เมื่อเธอใช้ส้อมคันใหญ่เสียบเข้าไปที่ท้องของสามี

จากนั้นเธอก็ครุ่นคิดถึงสาเหตุ และชีวิตคู่รักที่พังพินาศ เธอขุดคุ้ยความทรงจำในอดีตที่พ่อทำกับแม่

“บัวพบความบ้าอำนาจของพ่อที่ครอบงำเอาไว้ทุกมุมทุกซอก สวมเครื่องแบบติดยศใหญ่ ใช้วาทะดั่งเมียและลูกเป็นบริวาร” (น.76)

ข้อความข้างต้น ไม่ว่าชุดคำ “บ้าอำนาจ” “ครอบงำ” “สวมเครื่องแบบ” “ใช้วาทะ” “บริวาร” ล้วนแสดงถึงอำนาจนิยมจากแนวคิดผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ตามระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ปัจจัยการกระทำความรุนแรงในครอบครัวด้านจิตลักษณะ (psychological factors) ที่พ่อแสดงความโกรธ มีอารมณ์มุ่งร้าย

นอกจากความบ้าอำนาจของพ่อแล้ว

การใช้ “วาจาหยาบกระด้าง สายตาหยามเหยียด รุนแรงปึงปังผ่านข้าวของ” (น.77) ยังเป็นตัวบ่งชี้ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ที่ขัดแย้งกันจากปัญหามีปากเสียง การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่คุกคาม และการบังคับมีเพศสัมพันธ์

สิ่งที่พ่อกระทำกับแม่ เป็นการทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อบัว

โดยเฉพาะพ่อที่แอบย่องเข้าไปในห้องเก็บของ หลังทั้งคู่แยกห้องกันในคืนหนึ่ง ซึ่ง “เงานั้นกลับโถมทับหนักหน่วงที่ใจของเด็กหญิง เธอเห็นการโต้ตอบกันของสองเพศเป็นครั้งแรก เคลื่อนไหวในรูปร่างเงาสะท้อน เสียงคำรามออกคำสั่งทำให้คนที่ลอบมองอยู่หวาดกลัว” (น.77)

แต่แม่ก็เป็นผู้หญิงที่สงบปากคำ เงียบใบ้ ไม่ตอบโต้ใดๆ เท่ากับเป็น “ผู้ไร้เสียง” (the subaltern) และสมยอมให้พ่อกระทำความรุนแรง ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ความรุนแรงในครอบครัวจากตัวอย่างพ่อ-แม่ กลายเป็นปมฝังใจลูก เมื่อบัวแต่งงานกับผู้ชายที่ถอดแบบนิสัยพ่อมาทุกกระเบียด

ส่งผลให้ชีวิตคู่ของเธอไม่ต่างจากแม่ แต่เธอจะไม่ทน เธอจึงใช้ส้อมคันใหญ่เสียบเข้าที่ท้องของสามีในงานเลี้ยง

เป็นการเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ

ดังนั้น การใช้ส้อมแทงสามีจึงเป็นสัญลักษณ์ (symbol) ของชีวิตคู่ที่ถูกแยกจากช้อน และหากพิจารณาความหมายจากคำพ้องเสียงของส้อม

ชีวิตคู่ของเธอกับสามีไม่อาจซ่อมสร้างขึ้นใหม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ การใช้ส้อมแทงสามีในงานเลี้ยง ยังเป็นการตอบโต้ด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ (public) เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจะไม่ทนตกเป็นเหยื่อความบ้าอำนาจ ความไร้เหตุผล ความหึงหวงจากสามีอีกต่อไป

ต่างจากแม่ที่ต้องทนทุกข์ เป็นที่ระบายอารมณ์ ถูกกระทำซ้ำอยู่ในบ้านหรือห้องเก็บของ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private) และไม่อาจก้าวข้ามอำนาจนิยมของสามีผู้เป็นใหญ่ในครอบครัวได้

การที่บัวเลือกใช้ความรุนแรงโต้กลับ นอกจากความสาสมแล้ว เธอไม่อยากมีชีวิตคู่ลงเอยแบบพ่อ-แม่ อยากก้าวให้พ้นจากมายาคติ (myth) ที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของสามี หรือตกเป็นวัตถุทางเพศ

เพราะทัศนคติของสังคมไทยยังเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว น่าอับอาย ไม่ควรเปิดเผย

 

“ฉันอยากให้พ่อตายไปซะ”
: สัมพันธภาพในครอบครัวที่ล้มละลาย

เรื่องสั้น “เพียงเถ้าธุลีของหินผา” ของเพณิญ ให้ฉันหรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นผู้เล่าเรื่องที่ประสบพบมา ถึงปมปัญหาในครอบครัวที่ทำให้ฉันมักคิดว่าตนเองไม่ใช่ลูกของพ่อ จากหลักฐานการถูกทำโทษรุนแรงกว่าน้องสาว กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กที่ถูกกระทำจากบุคคลในครอบครัว

เมื่อฉันเติบโตขึ้น “ฉันแทบไม่เคยกลับบ้าน นับตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และย้ายตัวเองออกจากบ้านที่ร้อนเหมือนไฟสุมตลอดเวลา” (น.74)

ซึ่งสะท้อนความคิดของฉันที่ไม่อยากกลับไปเจอพ่อหรือสัมผัสสภาพแวดล้อมที่ตนเคยถูกทำโทษหรือเป็นที่ระบายอารมณ์ของผู้ใหญ่

นอกจากนี้ เสียงตะคอกหยาบคาย เสียงขากเสลด ถุงกับข้าวและกระปุกเกลือที่ถูกเหวี่ยงกระจายกลางบ้าน เศษแก้วที่กระจายบนพื้น

ผมของแม่ที่ถูกกล้อนจนแหว่งวิ่น รอยห้อเลือดเป็นแนวยาวจากแรงฟาดด้วยไม้แขวนเสื้อ ยังเป็นอุบัติการณ์ความรุนแรงที่ทำให้สัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัวถูกทำลายลง

“พ่อพบปะสังสรรค์กับผู้คนนอกบ้านด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แฝงไปด้วยแววตาที่มุ่งมั่นจริงจัง แต่ก็ยังเกรี้ยวกราดสม่ำเสมอกับคนในบ้าน แม่ชินชากับการรองรับอารมณ์เสียแล้ว น้องสาวเฉยเมยและเหมือนไม่ใส่ใจอะไรทั้งนั้น ส่วนฉันได้แต่เฝ้ามอง ต่อต้านอย่างเงียบงันและทดความเกลียดชังนั้นไว้ในใจ” (น.69)

ข้อความข้างต้น จะเห็นถึงความขัดแย้งทางอารมณ์เมื่อพ่ออยู่กับผู้อื่นนอกบ้าน พ่อจะยิ้มแย้ม แต่เมื่ออยู่กับครอบครัวในบ้านจะเกรี้ยวกราด

เป็นภาพสะท้อนปัจจัยการกระทำรุนแรงด้านจิตลักษณะ (psycholigical factors) จากการแสดงความโกรธ มีอารมณ์มุ่งร้าย ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึก “ชินชา” “เฉยเมยหรือไม่ใส่ใจ”

ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการสมยอมของแม่กับน้องสาว

แต่ฉันกลับ “เฝ้ามอง” “ต่อต้าน” “ทดความเกลียดชังไว้ในใจ” เป็นการไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรงนั้น

ต่อมาจึงกลายเป็นปมจากการใช้อำนาจฟุ่มเฟือยของพ่อครอบงำสมาชิกในครอบครัว

ทำให้ “ฉันอยากให้พ่อตายไปซะ”

แล้วพ่อก็ตาย ไม่ได้ตายจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุอย่างที่ฉันคิด แต่ผูกคอตายหนีความผิดจากข้อหาร้ายแรงอันเป็นภัยต่อความมั่นคง

ภาพพ่อที่เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่างไม่เหลืออีกแล้ว

พ่อเลือกความตายหนีปัญหาและความรับผิดชอบ ซึ่งอาจมองว่าเป็นวิกฤตความเป็นชาย โดยใช้การฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง (egoistic suicide)

 

ความน่าสนใจในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้คือ ชื่อเรื่อง เรื่องสั้น “บัว” ของตินกานต์ เป็นการใช้สัญลักษณ์ดอกไม้แทนผู้หญิง นำไปสู่การตีความว่า เธอต้องเป็นบัวโผล่พ้นจากโคลนตมความรุนแรงสะสมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมีภาพชีวิตคู่ของพ่อแม่ฝังใจ และไม่อยากลงเอยแบบนั้น

ส่วนเรื่องสั้น “เพียงเถ้าธุลีของหินผา” ของเพณิญ เปรียบพ่อเป็นหินผาที่แข็งแกร่ง แต่สุดท้ายก็ตายเหลือเพียงเถ้าธุลี เป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงอดีตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บทบาทและตัวละครพ่อหรือสามีของทั้งสองเรื่องสั้นที่มีอาชีพเป็นทหาร ยังเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจ ที่สะท้อนปัจจัยเสี่ยงด้านจิตลักษณะผ่านการแสดงอารมณ์โกรธ มุ่งร้าย ใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

มีรายละเอียดแตกต่างเพียงเรื่องสั้น “บัว” มีการสร้างปมขัดแย้งสองชั้นตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาจนถึงรุ่นคู่ตัวเอง เน้นการกระทำรุนแรงทางเพศ เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ จากบทบาทของภรรยา

แต่ในเรื่องสั้น “เพียงเถ้าธุลีของหินผา” เป็นเรื่องสั้นชั้นเดียวที่เกิดจากปมความขัดแย้งภายในใจของลูก สะท้อนความรุนแรงจากประสบการณ์ตรงในวัยเด็ก

แต่ทั้งสองเรื่องสั้นมีความเหมือนกันตรงความเก็บกดที่ตัวละครเอก (รุ่นลูก) ของเรื่องไม่ยอมจำนนหรือสมยอมอยู่ภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่เหมือนรุ่นแม่ ที่อาจสื่อถึงเสียงของผู้หญิงแห่งยุคสมัย ให้ระเบิดระบายความทุกข์ออกมา ผู้หญิงจึงต้องต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ ทั้งการแยกขาดจากสามี ไม่ยอมกลับบ้านหรือด้วยความตายของพ่อ

เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวอีกต่อไป