กรองกระแส : 3 ปี รัฐประหาร ปฏิกิริยา เริ่มขยายวง จากพวกเดียวกัน

กรองกระแส

3 ปี รัฐประหาร ปฏิกิริยา เริ่มขยายวง จากพวกเดียวกัน

ยิ่งใกล้วันที่ 22 พฤษภาคม มากเพียงใด บรรยากาศแห่งการประเมินและให้ความหมายกับรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อนยิ่งดำเนินไปอย่างคึกคัก เข้มข้น มากเพียงนั้น

ภายในจำนวนนี้จะปรากฏ 2 กระแส

กระแส 1 ให้ค่าและความหมายของรัฐประหารค่อนข้างสูง กระแส 1 ให้ค่าและความหมายของรัฐประหารค่อนข้างต่ำ

แน่นอนกระแสแรกมาจาก “คสช.” และที่แวดล้อม “คสช.”

ขณะเดียวกัน กระแสหลังที่เป็นจุดเด่นเป็นอย่างมากอาจมาจากพรรคเพื่อไทย และพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยคือ นปช. คนเสื้อแดง

นี่เป็น “กระแส” ที่สามารถเข้าใจได้

กระนั้น ปรากฏการณ์ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ของการรัฐประหาร ส่วนที่เคยแนบแน่นอยู่กับกระแสที่ 1 กระทั่งอาจดำรงอยู่ในฐานะกองเชียร์และให้การสนับสนุนกลับเริ่มแปรเปลี่ยนและแยกตัวออกมา แม้ไม่ถึงระนาบเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. แต่ก็เริ่มเห็นผลงานและความสำเร็จของ คสช. และรัฐบาลตามความเป็นจริง

ความเป็นจริงนั้นน่าสนใจที่สอดรับกับที่พรรคเพื่อไทยและ นปช. ตั้งข้อสังเกตมาอย่างต่อเนื่อง

 

รัฐประหาร 2557

รัฐประหาร 2549

เจตนาของรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความต้องการยังเป็นเหมือนกับเมื่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คือ ต้องการโค่นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เพราะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย คือความต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย

ความหมายอันเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในกาลต่อมาก็คือ เห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ”

เพราะไม่สามารถทำลายความนิยมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยลงได้

จึงเด่นชัดยิ่งว่า การก่อรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เพื่อสานต่อเจตจำนงเดิมของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ให้เป็นจริง

การจัดการกับคนของพรรคเพื่อไทยและ นปช. จึงเข้มข้นยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงวางกรอบไม่ว่าการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคการเมือง ไม่ว่าองค์กรอิสระ ที่พุ่งปลายหอกอย่างเข้มข้นเพื่อกีดกันและตีกรอบให้กับพรรคเพื่อไทยและ นปช.

จับขังคุกได้ก็ขัง ถอดถอนได้ก็ถอดถอน ยึดทรัพย์ได้ก็ยึด

 

จุดต่างของ คสช.

บทเรียนจาก คมช.

เมื่อรัฐประหารสำเร็จ คสช. ไม่เดินตามรอยของ คมช. ด้วยการมอบอำนาจให้คนอื่นเหมือนที่ คมช. มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

จากนั้นอีก 1 ปีต่อมาก็จัดการเลือกตั้ง

ตรงกันข้าม คสช. ยึดกุมทั้งอำนาจการทหารและอำนาจทางการเมือง หัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้มีการจัดตั้ง “แม่น้ำ 5 สาย” แต่อยู่ในความควบคุมของ “คสช.”

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศอย่างแจ้งชัดว่าแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาที่ คสช. กำหนดไว้ ไม่ว่าจะโดยโครงสร้างการเลือกตั้ง โครงสร้างสมาชิกวุฒิสภา โครงสร้างองค์กรอิสระและการจัดวางยุทธศาสตร์ล่วงหน้า 20 ปี

อำนาจของ คสช. ที่อยู่ในกองทัพยังกำกับและควบคุมการเมืองต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญ

สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า แม้ไม่มีบันได 4 ขั้น แต่ คสช. ก็มีองค์ประกอบและเครือข่ายอย่างบริบูรณ์ในการบริหารจัดการ

ทั้งโดยตรง ทั้งโดยอ้อม

 

อำนาจเบ็ดเสร็จ

เริ่มถูกตรวจสอบ

นับแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ในเดือนเมษายนเป็นต้นมา บรรยากาศทางการเมืองดำเนินไปอย่างคึกคัก

เพราะเท่ากับเป็นบาทก้าวที่วันเวลาแห่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามา

แม้อำนาจของ คสช. ไม่ว่าโดยกองทัพ ไม่ว่าโดยรัฐบาล ไม่ว่าโดยองค์กรอิสระจะดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ก็เริ่มมีการออกมาตรวจสอบและทดสอบพลานุภาพมากยิ่งขึ้น

แน่นอน ยังมาจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่ นปช. เริ่มเงียบเสียงลงเพราะติดคดีความ

กระนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดคิดของ คสช. ก็คือ ปรากฏการณ์อันมาจากกลุ่มการเมืองที่เคยเห็นด้วยกับกระบวนการรัฐประหาร นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

“ปฏิกิริยา” นี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ “ใหม่”

อาจไม่ได้เกิดขึ้นใน 1 ปีของรัฐประหาร อาจไม่ได้คึกคักใน 2 ปีของรัฐประหาร แต่กลับมีมากยิ่งขึ้นเป็นอย่างยิ่งในปีที่ 3

การประเมินผลงานและความสำเร็จของการรัฐประหารจึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น