ต่างประเทศ : จากสถานะผู้อพยพ สู่เหยื่อค้ามนุษย์ในลิเบีย

เรื่อง “ผู้อพยพลี้ภัย” ที่ยังคงหลั่งไหลไปยังภูมิภาคยุโรปอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศที่ยังแก้ไม่ตก

และดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โต โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ค้ามนุษย์” ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่มีทางเลือก

โดยเฉพาะที่ประเทศลิเบีย ที่มีรายงานพบว่า มีผู้อพยพตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์จำนวนมาก

จนกลายเป็นที่มาของการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี เตรียมที่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และดูว่า จะสามารถนำเรื่องขึ้นศาลได้หรือไม่

 

นางฟาทู เบนซูดา ทนายความชาวแกมเบียและอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าทางไอซีซีกำลังพิจารณาว่าจะเข้าไปตรวจสอบการก่ออาชญากรรมต่อผู้อพยพในประเทศลิเบีย ที่กำลังกลายเป็นตลาดของการค้ามนุษย์ไปแล้วในตอนนี้

เบนซูดาบอกว่า ขณะนี้ไอซีซีได้รวบรวมหลักฐานต่อข้อกล่าวหาที่ว่ามีความพยายามลักลอบส่งผ่านตัวผู้อพยพในประเทศลิเบีย

และว่า มีผู้อพยพที่ด้อยโอกาสหลายพันคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศลิเบีย และถูกกระทำต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการถูกฆ่า ข่มขืนและทรมาน ที่มีรายงานว่า เกิดขึ้นเป็นประจำ “ทุกวัน”

เบนซูดาบอกว่า เธอรู้สึกตกใจอย่างมากกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ที่ระบุว่า “ลิเบีย” ได้กลายเป็นตลาดของการค้ามนุษย์ไปแล้ว

และทางทีมอัยการของไอซีซี กำลังตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสอบสวนเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวโยงกับการอพยพของผู้คนในประเทศลิเบีย หากประเด็นดังกล่าวถือว่าอยู่ภายใต้ขอบเขตการดูแลของศาลอาญาระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ประเทศลิเบียตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายนับตั้งแต่ พันเอกโมอามาร์ กาดาฟี ผู้นำเผด็จการของลิเบียถูกโค่นจากอำนาจเมื่อปี ค.ศ.2011 ประเทศลิเบียก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มต้านรัฐบาล 2 กลุ่มที่ได้รับการหนุนหลังโดยกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งบางกลุ่มก็ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส

ด้วยความโกลาหลวุ่นวายภายในประเทศของลิเบีย ทำให้เกิดการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นและการค้ามนุษย์ ที่ได้เปลี่ยนแปลงทำให้ชายฝั่งของประเทศลิเบียกลายเป็นด่านสำคัญในการส่งคนไปยัง “ยุโรป” เป้าหมายที่ทุกคนใฝ่ฝันเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

เบนซูดายังได้ย้ำถึงเรื่องความมั่นคงโดยรวมของประเทศลิเบีย ที่กำลัง “ตกต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ” นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนว่า การลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายการก่ออาชญากรรมและการก่อการร้ายขยายไปทั่วบริเวณตอนเหนือของประเทศลิเบีย

เบนซูดาบอกด้วยว่า สำนักงานของเธอติดตามการปฏิบัติการเชิงรุกของกองกำลังที่ภักดีต่อ คาลิฟา ฮาฟตาร์ ในเมืองเบงกาซีอย่างใกล้ชิด หลังจากปรากฏวิดีโอแสดงให้เห็นว่า กองทัพแห่งชาติลิเบียก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การประหารหมู่ผู้ที่ถูกควบคุมโดยไม่มีการไต่สวน

เรียกร้องให้ทางการลิเบียจับกุมตัวอดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อัล ทูฮามี โมฮัมเหม็ด คาเหล็ด ซึ่งเธอระบุว่าพำนักอยู่ในลิเบีย และตกเป็นผู้ต้องหาเป็นอาชญากรสงคราม ที่ไอซีซีได้ออกหมายจับนายคาเหล็ดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่อพยพออกจากประเทศลิเบีย และเดินทางไปถึงยุโรปมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีผู้อพยพจากลิเบียเดินทางไปถึงยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2016 เฉพาะประเทศอิตาลีประเทศเดียว มีผู้อพยพทางเรือเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน จำนวนของผู้อพยพที่ต้องจบชีวิตลงระหว่างการเดินทางทางทะเลก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ

อย่างเหตุการณ์เรือผู้อพยพ 2 ลำที่ออกจากชายฝั่งประเทศลิเบียล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานของสหประชาชาติรายงานว่า คาดว่าจะมีผู้อพยพเสียชีวิตราว 250 คน

ขณะที่กลุ่มเสี้ยววงเดือนแดงพบว่ามีศพที่ถูกซัดขึ้นฝั่งลิเบียแล้วอย่างน้อย 11 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และมีเด็กหญิงที่อายุไม่ถึง 1 ขวบอยู่หนึ่งราย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ยามฝั่งสามารถช่วยเหลือผู้อพยพมาได้อย่างน้อย 7 คน และผู้รอดชีวิตเหล่านี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เรือลำเดียวบรรทุกคนได้ถึง 170 คน

ส่วนผู้รอดชีวิตจากเรืออีกลำ เปิดเผยว่า เรือของพวกตนมีผู้อพยพอยู่บนเรือราว 130 คน

คำบอกกล่าวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้อพยพที่ขอเสี่ยงที่จะอาศัยเรือที่แม้จะเห็นว่าเต็มไปด้วยผู้คนและเกินพิกัดบรรทุก แต่ก็จะขอใช้เป็นหนทางเพื่อมุ่งหน้าสู่ยุโรป

โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุด ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการอพยพในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,300 รายแล้ว

และในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 วัน มีผู้อพยพที่ได้รับการช่วยเหลือจากการล่องทะเลเพื่อลี้ภัยไปยุโรปแล้วอย่างน้อย 7,500 คน

จะเห็นได้ว่า แม้จะมีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่ตลอดเวลา ที่สุดแล้ว ชะตากรรมของผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ก็ยังคงต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเสี่ยงต่อการเดินทางกลางทะเล ที่อาจจะเกิดเหตุเรือล่มและต้องจบชีวิตกลางทะเล หรือแม้แต่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ก็เกิดจากความจำเป็นในการละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เพราะความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้