ปริศนาโบราณคดี : นิตยสาร “ทรรศนะ” สะท้อนบทกวียุคแรก แนวโลกสวยของ “จิตร ภูมิศักดิ์”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทบาทที่โดดเด่นอีกด้านหนึ่งของนักคิดนักเขียนผู้ยิ่งยง “จิตร ภูมิศักดิ์” ในช่วงที่ยังเป็นนิสิตร่มรั้ว “เทวาลัย” (เป็นชื่อตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็คืองานด้าน “สาราณียกร”

คำว่า “สาราณียกร” คำนี้ แตกต่างจาก “บรรณาธิการ” อย่างไร

บรรณาธิการ (บรรณ = ใบไม้, กระดาษ + อธิการ = ผู้รับผิดชอบ) ตรงกับ Editor หมายถึง บุคคลที่รับผิดชอบในการจัดพิมพ์หนังสือหรือเอกสารต่างๆ โดยทำหน้าที่คัดเลือกและตรวจแก้เรื่องที่ลงพิมพ์

สาราณียกร (สาราณีย = รับรองไว้, เป็นที่ตั้งแห่ง + อากร = แหล่ง/สถานที่) แปลว่า ผู้ทำหน้าที่รองรับ (งานด้านหนังสือ) ในสถานที่นั้นๆ

ตรงกับคำว่า The Mouthpiece ของภาษาอังกฤษ (หมายถึงกระบอกเสียง) อันที่จริงสาราณียกรก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับบรรณาธิการ ต่างกันที่ สาราณียกรเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจ ไม่ใช่บรรณาธิการโดยอาชีพ เช่น จัดทำหนังสือรุ่นนักเรียนนักศึกษา หรือหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ของสมาคมหรือสถาบันการศึกษา เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกรวารสารสำคัญฉบับหนึ่งชื่อ “มหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาฯ” อันเป็นชนวนของการถูกจับ “โยนบก” เมื่อปี 2496 เนื่องจากเป็นวารสารที่จัดทำในสถานศึกษานั่นเอง

แต่กรณีของนิตยสาร “ทรรศนะ” ที่จะกล่าวถึงนี้ เราจะไม่เรียกบทบาทของจิตรว่าเป็นสาราณียกร เนื่องจากไม่ได้ทำขึ้นภายในสถานศึกษาแต่อย่างใด หากทำขึ้นเป็นสื่อสาธารณะแบบอิสระ วางแผงขายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

แม้ว่าตัวจิตรเองขณะนั้นจะเป็นเพียงนิสิตจุฬาฯ ปีหนึ่ง

 

ทรรศนะที่คนไม่ทัศนา

ทรงคุณค่าแต่ถูกมองข้าม

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนหนังสือตั้งแต่ยังนุ่งขาสั้น สมัยอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เคยส่งบทความเรื่อง “กำเนิดลายสือไท” มาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เยาว์ศัพท์ ของคณะสมาคมนักเรียนแห่งประเทศไทย

เมื่อเรียนชั้นปีหนึ่งใน พ.ศ.2493 จิตรกับเพื่อนพ้องที่มีใจรักด้านการขีดเขียนกลุ่มหนึ่ง ตัดสินใจร่วมกันลงขัน ออกนิตยสารขึ้นมาฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า “ทรรศนะ”

เป็นชื่อที่บอกชัดว่า ตั้งใจสะท้อนถึง “มุมมอง” หรือการติดอาวุธทางปัญญาของบรรดาเหล่านักปราชญ์นักวิชาการร่วมสมัยชื่อก้องในยุคนั้น

รายชื่อของนักเขียนใหญ่ที่จิตรและพรรคพวกเหนื่อยยากคอยเทียวไล้เทียวขื่อวิ่งไปตื๊อขอผลงานมาได้ดังนี้ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, มนตรี ตราโมท, ร.จันทพิมพะ, กาญจนาคพันธุ์, ฉ่ำ ทองคำวรรณ (ครูผู้สอนภาษาเขมรให้จิตร) ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, เจือ สตะเวทิน, อุชเชนี, เสฐียรโกเศศ, วสิษฐ เดชกุญชร, เหม เวชกร, รัชนี ประทีปเสน เป็นต้น

บางคนยินดีเปิดคอลัมน์ประจำให้ก็มี บางคนขอเวียนส่งผลงานให้เป็นขาจร ถือเป็นผลงานที่ไม่ธรรมดาสำหรับเด็กหนุ่มวัยต้น 20 เช่นจิตร (เกิด 2473) ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการ

ในขณะที่บรรณาธิการนั้น นิตยสารเล่มแรกปรากฏนามว่า “เจริญ ดีบุญมี” (นามสกุลเต็มว่า ดีบุญมี ณ ชุมแพ) เป็นทั้งบรรณาธิการ เจ้าของ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา

ส่วนเล่มสองและเล่มสาม เปลี่ยนตัวบรรณาธิการใหม่เป็น “ปริญญา วันชูเพลา” (คนหลังนี้ต่อมาเป็นสาราณียกร วารสาร “อักษรานุสรณ์” ปี 2497) โดยอธิบายว่าบรรณาธิการคนก่อนสุขภาพไม่ดีต้องไปรักษาตัว

จะใช้ชื่อใครเป็นบรรณาธิการก็สุดแท้แต่ เชื่อว่าผู้เป็นเสาหลักในการกำกับทิศทางให้นิตยสารเดินไปในแนวทางดั่งใจฝัน คงหนีไม่พ้นหนุ่มน้อยวัย 20 คนนั้น

ที่น่าสนใจคือ ปกในจั่วหัวรองว่า “ทรรศนะ” เป็นนิตยสารบันเทิงรายเดือน วางแผงทุกวันที่ 25

คำว่า “บันเทิง” ในที่นี้ เป็นเทคนิคทางการตลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาต้องพยายามหาสิ่งดึงดูด “เรียกแขก” อย่างสุดๆ

แต่อันที่จริงมองในแง่วรรณกรรม คำนี้ก็สามารถใช้ได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาในนิตยสารนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่ประเทืองปัญญา จรรโลงจิตใจ จนอาจเรียกกันในหมู่หนอนหนังสือว่าเป็นความบำเทิงเริงรมย์ชนิดหนึ่งก็ย่อมได้

จิตรและผองเพื่อนต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อการตอบรับจากผู้อ่านในยุคนั้นยังจำกัดอยู่มาก สปอนเซอร์ที่สนับสนุนทุนในการจัดพิมพ์ก็น้อยราย กระดาษปกก็บางยากแก่การรักษา

เป็นนิตยสารที่มุ่งหวังว่าจะเปิดพรมแดนแห่งความรู้สู่สังคม ไม่อยากจำกัดองค์ความรู้แค่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย สร้างความแปลกใหม่ด้วยการเชิญนิสิตนักศึกษาสาวสวยมาขึ้นปกแทนที่จะเป็นนางแบบอาชีพ

ในที่สุดวางแผงได้เพียงสามฉบับ คือเดือนตุลาคม พฤศจิกายน 2493 และกุมภาพันธ์ 2494 ก็ต้องปิดตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งขาดทุนเข้าเนื้อ ทั้งนักเขียนใหญ่ๆ เบือนหน้าหนี

 

พบนามปากกาใหม่

“จิตรเสน” และ “เด็กอมมือ”

นอกเหนือจากการต้องทำหน้าที่ช่วยคัดกรองงานเขียนในฐานะผู้ช่วย บ.ก. แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ยังทำหน้าที่เป็นนักเขียนหลักในนิตยสารทั้งสามฉบับนั้นด้วย

มีทั้งงานวิเคราะห์เชิงนิรุกติศาสตร์ ชื่อคอลัมน์ว่า “ศัพท์สันนิษฐาน” เป็นงานเขียนแนวที่จิตรถนัดยิ่ง ประเภทสืบค้นหาที่มาและความหมายของรากศัพท์ภาษาเขมร เช่นคำว่า “สาง กับ สรวง”

ข้อสำคัญคือ จิตรยังได้เขียนบทกวีไว้ด้วยในทุกฉบับ ฉบับแรก บทกวีชื่อ “รอยยิ้ม” ใช้นามปากกาว่า “เด็กอมมือ” ฉบับที่สองบทกวีชื่อ “งาม-งอน” ใช้นามปากกาว่า “จิตรเสน” (เอามาจากนามกษัตริย์ขอมยุคโบราณ) และฉบับสุดท้าย บทกวีชื่อ “นวฉนำ” แปลว่าปีใหม่ คราวนี้จิตรใช้ชื่อจริง

ทำเนียบนามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์ เท่าที่เราทราบกันนั้น จากเดิมก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว อาทิ นาคราช, ศูลภูวดล, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, ศิลป์ พิทักษ์ชน, สมชาย ปรีชาเจริญ, สุธรรม บุญรุ่ง, ขวัญนรา, สิทธิ ศรีสยาม, กวีการเมือง, กวี ศรีสยาม, บุคแมน, มูฟวี่แมน (มูวี่แมน), ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์, จักร ภูมิสิทธิ์ ฯลฯ

คราวนี้ก็ถือโอกาสผนวกเอา “เด็กอมมือ” กับ “จิตรเสน” เข้าไปรวมด้วยอีกสองนามปากกา

 

จากสังคมอุดมปัญญา

สู่อุดมการณ์สังคมนิยม

พบว่าบทกวีทั้งสามชิ้นของจิตรที่เขียนให้ “ทรรศนะ” ชิ้นละฉบับนี้ ไม่มีชิ้นใดเลยที่มีกลิ่นอายเร้ารุกและปลุกให้สู้ ตามแนวทางลัทธิมาร์กซิสต์ หรือโซเชียลิสต์ แต่ละชิ้นล้วนเขียนแบบสวยงามหวานละไมทั้งสิ้น

ชิ้นแรก “รอยยิ้ม” เห็นใช้นามปากกาตลกๆ ว่า “เด็กอมมือ” แบบนี้ แต่โชว์ลีลาวสันตดิลกฉันท์ ชนิดเคร่งครัดเปรี๊ยะๆ 10 บท

“เพริศพรึงตลึงนยนะจ้อง        ขณะพ้องสุวาณี

งามโฉมประโลมหทยะตรี        ภวะรวยระหวยโหย”

ในขณะที่บทกวี “งาม-งอน” ที่อุตส่าห์ใช้นามปากกาของเจ้าชายขอมผู้งามสง่า “จิตรเสน” กลับใช้ฉันทลักษณ์ง่ายๆ แค่กลอนหก

“งอนเพลินเกินงามทรามชม         ยากข่มงามหรือฤๅไฉน

งอนมากยากเฝ้าเอาใจ               อะไรก็งอนค้อนคม”

ส่วนบทกวีในทรรศนะฉบับสุดท้ายชื่อ “นวฉนำ” เป็นการเขียนแบบขนบนิยม ทำนองขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากคุณพระศรีรัตนตรัยและพระสยามเทวาธิราชมาอำนวยอวยพรแด่ผู้อ่าน

สะท้อนให้เห็นว่า ช่วงที่จิตรเพิ่งเป็นนิสิตน้องใหม่ปีหนึ่งนั้น จิตรยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนด้านสังคมนิยมจากหนังสือเล่มไหนหรือจากบุคคลใดทั้งสิ้น งานของจิตรจึงออกมาในโทน

“สรวมคุณสัมพุทธได้        สุธิรางค์ หนึ่งรา

ธรรเมศร์วรอุตมางค์        วากย์ท้าว

สงฆสืบพุทธเพทางค์        โอภาส

สยามเทพธิทธิอคร้าว       ครอบฟ้าไผททรงฯ”

จิตรใช้ศัพท์แสงหรูหรารุ่มรวยประหนึ่งทาสวรรณศิลป์ เฉกเช่นกวีทั่วไปในวัยเยาว์ที่ต้องผ่านเวทีการฝึกฝนฉันทลักษณ์สารพัดชั้นเชิง และอยากโชว์ฝีไม้ลายมืออวดโลกใจจะขาดว่าสามารถเขียนอะไรยากๆ ได้ทุกกระบวนท่า

จิตรในฐานะ “ผู้ใฝ่รู้” ในวัยดรุณคงต้องการเพียงแค่ขอเป็นหนึ่งในเฟืองจักรน้อยที่ทำหน้าที่ร้อยเชื่อม “สังคมอันอุดมด้วยปัญญา” ของนักคิดนักเขียนและปราชญ์ชื่อก้อง มานำเสนอให้ผู้อ่านได้เสพเท่านั้น

พินิจรายชื่อนักเขียนนามอุโฆษที่จิตรวิ่งไปขอบทความคนละชิ้นสองชิ้นมาลงตีพิมพ์ใน “ทรรศนะ” พบว่าค่อนข้างหนักไปในแนวอนุรักษ์ทั้งสิ้น มีนักเขียนแนวขบถหรือเสรีนิยมน้อยมาก เท่าที่เห็นก็แค่ “อุชเชนี”

ใครจะเชื่อว่าอีก 3 ปีให้หลังเท่านั้น คือปี 2496 ยุคที่จิตรซึมซับกับแนวคิดด้านสังคมนิยมอย่างเข้มข้น เขาอาสาทำหน้าที่เป็นสาราณียกรวารสาร “มหาวิทยาลัย 23 ตุลาฯ”

จิตรกลับวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์อย่างรุนแรง (ไม่มีอีกแล้วที่จะมาให้ชุลีกรก้มกราบพระกราบเจ้า) ถึงขนาดปรามาสพระภิกษุ (บางรูป) ที่ทำตัวเหมือนทากเหมือนปลิง ว่าเป็น “ผีตองเหลือง” คอยกัดกร่อนพระพุทธศาสนาอย่างไร้ยางอาย

นิตยสาร “ทรรศนะ” น่าจะมีคุณค่าในฐานะหลักฐานที่บันทึกผลงานด้านวรรณศิลป์ของจิตรในวัยที่เพิ่งบรรลุนิติภาวะ ยุคที่เขายังไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ยังไม่รู้จักแนวคิดด้านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก การที่เขาสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นี้ก็ด้วยหัวใจที่ใฝ่ฝันถึงแต่ความรักและความหลงใหลในด้านนิรุกติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดีโบราณอย่างด่ำดื่ม

นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ อาจมีประวัติศาสตร์หน้าแรกๆ ที่ดูไร้เดียงสาเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์ปุถุชนต้องผ่านโลกสวยยุคสายลมแสงแดด ครั้นกาลเวลาผ่านไป เมื่อได้เรียนรู้ถึงปัญหาความทุกข์ยากของมนุษย์ว่าที่ยังแก้ไม่ตกอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมีชนชั้นศักดินาคอยกดขี่บีฑา จิตวิญญาณขบถได้หล่อหลอมความคิดเขาให้กลายเป็นนักสู้คนใหม่

แล้วนักเขียนคนอื่นๆ อีกมากมายเล่า ที่รู้ทั้งรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้สวยสดงดงาม แต่ก็ยังยินดีที่จะเขียนบทกวีในภาวะยอมจำนน จักแสร้งไร้เดียงสาจวบจนวันตายกันหรือเช่นไร