ระหว่างทางกลับบ้าน : มิติเดียวในกวีนิพนธ์ดับเบิลซีไรต์*

*คงกฤช ไตรวยวงค์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี 2562 สาขากวีนิพนธ์ ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของอังคาร จันทาทิพย์

ส่งผลให้เขาเป็นกวีซีไรต์คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ถึง 2 ครั้ง เรียกว่าเป็น “กวีดับเบิลซีไรต์” คนแรกของไทยก็ได้

นั่นก็หมายความว่า บทกวีชุดนี้ดีกว่าเล่มอื่นๆ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย และดีเท่ากับหรือดีกว่าหนังสือ “หัวใจห้องที่ห้า” ที่เคยส่งให้อังคารขึ้นแท่นรับรางวัลซีไรต์ในปี 2556

แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวบทของเล่มนี้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับงานชิ้นอื่นที่เข้ารอบหรืองานเก่าของเขาก็จะพบปัญหาในตัวงานเอง

คำวินิจฉัยของกรรมการรอบคัดเลือกดูจะค้านกับตัวผลงานเองหลายประการ

ประการแรก กวีนิพนธ์เล่มนี้ “นำเสนอมิติใหม่ของความหมายคำว่า “บ้าน” และ “การเดินทางกลับบ้าน””

ประการที่สอง “กวีใช้ท่วงทำนองกลอนสุภาพที่มีถ้อยคำ ลีลาและจังหวะเฉพาะตน อย่างกลมกลืนกับภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น”

ประการที่สาม การ “ใช้ภาพลักษณ์ของบ้านวิพากษ์เพื่อปัญหาสังคม การเมือง สงคราม…”

และประการสุดท้าย การวิพากษ์ดังกล่าวมี “…น้ำเสียงที่สุขุม ลุ่มลึก” หรืออาจจะเรียกว่า “วุฒิภาวะ”

โดยส่วนใหญ่แล้ว งานดับเบิลซีไรต์ ปี 2562 ไม่ได้มีความใหม่ หรือมีความเฉพาะตน และลุ่มลึกอย่างที่เอ่ยอ้างในคำประกาศของกรรมการรอบตัดสิน

 

หากยืมคำของแฮร์แบร์ต มาร์คูเซอ (Herbert Marcuse) นักปรัชญาสายวิพากษ์มาใช้ กวีนิพนธ์ชุด “ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นแต่เพียงกวีนิพนธ์มิติเดียว (One-dimensional)

นั่นคือ การนำเสนอมุมมองที่เอื้อให้ระบอบอำนาจเดิมที่กดขี่ครอบงำสังคม (the Establishment) ยังคงอยู่ต่อไป

โดยไม่นำเสนอด้านที่มาแย้ง เพื่อให้สังคมพัฒนาก้าวไปข้างหน้า

พูดอีกอย่างคือ ขาดการมองแบบ “วิภาษวิธี” (dialectic) นั่นเอง

เรียกได้ว่าสงบราบคาบ ปราศจากความขัดแย้งหรือแรงต้าน

ตั้งแต่การพูดถึงเรื่องปรัมปราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-ผี ก็กลายเป็นการผสานกลมกลืนกัน

เมื่อพูดถึงแรงงานและชาวนา ก็พรรณนาเสียจนความทุกข์ยากเป็นความงาม

 

ข้อแย้งประการแรก ความหมายของ “บ้าน” ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีมิติใหม่ ส่วนใหญ่แล้ว “บ้าน” ใน “ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นการใช้อุปลักษณ์ซ้ำซาก

อย่างเรื่อง “บ้าน” ซึ่งแสดงถึงจุดกำเนิด รากเหง้า และความแท้จริงของวัฒนธรรมท้องถิ่น

นอกจากนี้ อุปลักษณ์ “บ้าน” อีกอย่างคือ “ประเทศ” ซึ่งก็เป็นอุปลักษณ์ที่มีนัยของอำนาจนิยม เพราะในบ้านมีพี่มีน้อง มีพ่อ มีเจ้าบ้าน และที่สำคัญคือมีการจัดช่วงชั้นความสัมพันธ์ เมื่อเกิดความขัดแย้งภายใน “บ้าน” อย่างความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อังคารกลับลดทอนให้กลายเป็นความขัดแย้ง “เลือกแบ่งสีศรัทธาประชาชน” ว่าเป็นการสุมไฟในบ้าน

ดังจะเห็นได้ในบท “บ้านของคนอื่น” แม้ทีแรกดูเหมือนตัวบทกวีจะนำเสนอมุมมองเชิงวิภาษวิธีระหว่าง “พี่” กับ “น้อง”

แต่สุดท้ายแล้วทั้งน้องและพี่ก็กอดคอพากันเดินถอยหลังเข้าคลองไปเสียแล้ว

พี่น้อง :

ใครเป็นอื่น แล้วใครไม่เป็นอื่น

ใครสุมฟืน จุดไฟ ลามไหม้บ้าน

ขับเคลื่อนโลก กระพือลมอุดมการณ์

นานต่อนาน รักต่อรัก หักพังลง…

(“บ้านของคนอื่น” หน้า 85)

 

ข้อแย้งประการที่สอง ภาษาอีสานถูกนำไปประดับตกแต่งในสำเนียงกลอนที่ไพเราะ ไม่ต่างอะไรกับล้อเกวียนที่มักนำไปใช้ประดับตกแต่งร้านอาหารอีสานเพื่อสร้างบรรยากาศ

ที่จริงแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สาธิตวิธีการหารูปแบบคำประพันธ์ที่แสดงความทุกข์ยากไว้นานมาแล้ว

กวีอย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็หยิบเอาไปใช้ในงานชุด “เพียงความเคลื่อนไหว”

แต่ดูเหมือนอังคาร จันทาทิพย์ จะทำในสิ่งที่เขาเองเขียนเอาไว้ในบทที่ชื่อ “คนสร้างบ้าน” คือใช้ดอกสว่านเจาะไม้มาเจาะปูน (“ดอกเจาะไม้ ใช้เจาะปูน สูญเสียเปล่า” หน้า 40)

ถึงโพ้นแดน แถนพญา เมืองฟ้าโพ้น

เก็บดอกสะเดา ยอดกระโดน โพนตีบ้าน

“วันกบบ่มีปาก นากบ่มีทวาร…”

“แถนขี้คร้าน…” เคยร้องคลอ ล้ำเล่นคำ

(“บ้านที่ไม่มีใครอยู่” หน้า 144)

คงปฏิเสธได้ยากว่ากลอนบทนี้ไพเราะ ย้อนโยงหาความทรงจำเกี่ยวกับบ้านที่ไม่มีใครอยู่ เพราะลูกอีสานพากันพลัดถิ่นไปอยู่ที่อื่น

แต่คำอีสานที่บ่งบอกตำนานดั้งเดิมของท้องถิ่นดูเหมือนจะเป็นเพียงส่วนประดับตกแต่งให้เห็นบรรยากาศความทรงจำแต่หนหลังมากกว่าจะชี้ถึงความแท้จริงของรากเหง้าอีสาน ซึ่งได้เดินทางไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกจนกลายเป็นอีสานแบบต่างๆ (หรือใช้คำแบบนักวิชาการอย่างพัฒนา กิติอาษา คือ Isan Becoming)

ยิ่งไปกว่านั้น การโหยหาสังคมการเกษตรก่อนสมัยใหม่ (premodern) ผ่านเรื่องเล่าปรัมปราดูจะเห็นการพยายามถักร้อยอัตลักษณ์อีสานอันงดงามขึ้นมาด้วยภาษาอันไพเราะโดยไม่สำนึกถึงอุดมการณ์ (ideology) ที่ครอบงำและกลบเกลื่อนสภาพความเป็นจริงของสังคม

“แถนขี้คร้าน” หรือเรื่องราวของพญาแถนผู้ละเลยหน้าที่ในการปล่อยฝนลงมาซึ่งนักเขียนร่วมสมัยอย่างมาโนช พรหมสิงห์ หรือ ภู กระดาษ นำมาใช้เพื่อวิพากษ์อุดมการณ์ครอบงำของรัฐต่อประชาชนภูมิภาคอีสาน ก็กลายเป็นเรื่องของการ “เล่นคำ” ไป

 

ข้อแย้งประการที่สาม หนังสือเล่มนี้ใช้ภาพของบ้านวิพากษ์ปัญหาสังคม ที่จริงแล้วก็มีความพยายามวิจารณ์ แต่ยังไปไม่ถึง

ดังเช่นบทที่ชื่อ “เพื่อนบ้าน” ซึ่งพรรณนาถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่ถูกรุกคืบโดยทุนนิยมสมัยใหม่ หมู่บ้านจัดสรรแผ่ขยายเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน เงินตราเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม แม้จะพรรณนาให้เห็นวิถีชีวิตปากกัดตีนถีบ แต่ไม่ได้แสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของแรงงาน

มิหนำซ้ำยังนำเสนอผ่านมุมมองของการเป็นผู้สังเกต

ดังจะเห็นจากบทสุดท้ายว่า “คุณครูหนุ่ม” ผู้ดาวน์บ้านจัดสรรมองความเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบๆ ซึ่งไม่ใช่มุมมองเชิงวิพากษ์ หากแต่เป็นมุมมองของคนที่ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง จึงมองเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองมิติเดียว

บ้านตรงข้ามดาวน์อยู่ “คุณครูหนุ่ม”

มีบางมุมเงียบงำไว้ ไม่เปิดเผย

ผู้เฝ้ามองความเป็นไป ไม่อ่านเลย

แอบเอื้อนเอ่ยถึงเพื่อนบ้าน ผ่านบทกวี!…

(“เพื่อนบ้าน” หน้า 47)

ยิ่งไปกว่านั้น สุดทางของอังคาร จันทาทิพย์ คือการให้ภาพกรรมกรก่อสร้างทำงานใช้แรงงานโดยอิงอาศัยคำสอนของพุทธทาส คือ “การงานคือการปฏิบัติธรรม” ดังจะเห็นได้จากบทที่ชื่อ “คนสร้างบ้าน”

เช่นกัน การอยู่กับความทุกข์ยากในปัจจุบันโดยไร้อนาคต การใช้พุทธปรัชญาจากสวนโมกข์มาทาบกับชีวิตแรงงาน เหมือนจะเป็น “อนัตตา” อันธพาลใช่หรือไม่ ในขณะที่มือ “กำ” เครื่องมือก่อสร้าง กวีกลับสอนให้ “ปล่อยวาง” เสียอย่างนั้น

ซิซีฟัส (Sisyphus) เมืองไทยยังคงกลิ้งก้อนหินมหึมาขึ้นไปบนเขาอย่างมีสติ เพื่อให้มันกลิ้งตกกลับมาอีกครั้ง

“การงาน คือการปฏิบัติธรรม”

สูง ต่ำ เล็ก ใหญ่ ที่ใจอยู่

โคมคำ พุทธทาส ปราชญ์ผู้รู้

ตื่นเช้าตรู่ ใส่บาตร ไม่ขาดวัน

(“คนสร้างบ้าน” หน้า 41)

 

ข้อแย้งประการสุดท้าย รวมกวีนิพนธ์ชุดนี้แสดงถึงความสุขุมลุ่มลึกในการมองปัญหาสังคม หรืออาจเรียกว่าเป็น “วุฒิภาวะ” แน่นอนว่าวุฒิภาวะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ ดังที่นักปรัชญาเยอรมันคือ เก-ออร์ก วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล (G.W.F. Hegel) กล่าวไว้ว่า กวีอย่างเกอเธ่และชิลเลอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีแห่งชาติ (national poets) ของเยอรมนีก็เพราะวุฒิภาวะของกวี แตกต่างจากศิลปะแขนงอื่นอย่างคีตศิลป์ที่อัจฉริยภาพฉายแววแต่วัยเยาว์ ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของ “เด็กมหัศจรรย์” ตั้งแต่อายุยังน้อย

แต่บทกวีชุดนี้ไม่ได้สะท้อนวุฒิภาวะที่แสดงออกมาผ่านการมองสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ หากแต่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความเหงาหรือเศร้า หวนหาอาลัยอดีต

แม้แต่บทที่มุ่งสื่อความถึงความสำนึกด้านมนุษยธรรมนิยมต่อผู้อพยพโรฮิงญา อย่าง “บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน (ครุ่นคำนึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา)” ซึ่งนับเป็นส่วนที่ดีที่สุดรวมบทกวีเล่มนี้ ก็ยังแสดงออกมาด้วยการทอดถอนใจของผู้ที่มองลงมาจากมุมสูง

พรมแดนโลก ไร้พรมแดน ไร้แผ่นดิน

ศรัทธาไม่สิ้น อัลลอห์สร้างโลกกว้างใหญ่

แต่ทางสิ้นสุดกลางโลกกว้างไกล!

ชีวิตเอ๋ยโลกกว้างไยไร้ที่ยืน!…

(“บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน [ครุ่นคำนึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา]” หน้า 94)

ที่จริงแล้วกวีรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขา อย่างซะการีย์ยา อมตะยา จะพบว่ามีฐานคิดเชิงกวีศาสตร์ (Poetics) ที่ต่างกัน

ดังวรรคหนึ่งในรวมบทกวี “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ที่ว่า “บทกวีคือที่สำหรับความจริงบาดเจ็บปางตาย” ไม่แน่ใจว่าซะการีย์ยาเคยอ่านงานบทกวีชื่อ “สุนทรกถาว่าด้วยบทกวี” (Rede vom Gedicht) ของคริสตอฟ เมคเคล (Christoph Meckel) กวีเยอรมันผู้เพิ่งล่วงลับในปีนี้ ที่กล่าวแบบเดียวกันว่า “บทกวีคือที่สำหรับความจริงที่บาดเจ็บปางตาย” หรือไม่

แต่คำประกาศนี้มีพลังอย่างยิ่ง นั่นคือ บทกวีย่อมมีบาดแผล เพื่อเรียกร้องไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่การหวนหาอาลัยอดีตที่กวีสร้างความทรงจำไว้ปลอบใจตนเอง ในบทกวีของคริสตอฟ เมคเคล พายุแห่งประวัติศาสตร์กระชากจนเทวทูตก็ร่วงตกลงมา

แต่งานของอังคาร จันทาทิพย์ น่าจะช่วยสถาปนาให้เหล่าทวยเทพอยู่ดีมีสุขยิ่งกว่าเดิมใน City of Angels!

……

บทกวีไม่ใช่ที่ที่เราจะมาทำให้การตายเป็นเรื่องเล็ก

ทำความหิวโหยให้หมดไป ทำความหวังให้แจ่มชัดขึ้นมา

บทกวีคือที่สำหรับความจริงที่บาดเจ็บปางตาย

ปีกอะไรนั่น ปีกอะไรนั่น ทูตสวรรค์ตกจากแดนสรวง ขน

อาบเลือด ปลิวเป็นชิ้นๆไปในพายุแห่งประวัติศาสตร์*

 

ขอทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยบทกวีของแบร์โทลต์ เบรชท์ (Bertolt Brecth) กวีและนักการละครชาวเยอรมัน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นบทกวีที่มีหลายมิติ และมีลักษณะเชิงวิพากษ์ วิภาษวิธีระหว่างความพึงพอใจในความงามกับความน่าพรั่นพรึงของการเมือง รุนหลังให้กวีและนักการละครผู้นี้ต้องตัดสินใจลุกไปทำอะไรสักอย่างเพื่อความเปลี่ยนแปลง

ในใจข้าพเจ้ามีการต่อสู้ระหว่าง

ความพึงใจกับต้นแอปเปิลที่ออกดอกผลสะพรั่ง

และความพรั่นพรึงต่อถ้อยแถลงของฮิตเลอร์

ก็มีแต่เพียงอย่างหลังนี่แหละ

ที่ผลักให้ข้าพเจ้าไปนั่งลงที่โต๊ะทำงาน**

 

———————————————————————————————-

*แปลโดย ศ.ดร.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ใน บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์กวีนิพนธ์เยอรมัน

**ผู้เขียนบทวิจารณ์แปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่ Reinhard Lettau ที่แฮร์แบร์ต มาร์คูเซอ อ้างอิงในบทความของเขาชื่อ “Art and Revolution” (ศิลปะกับการปฏิวัติ)