คำเตือนแบบคน CARE จาก “หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อย่ามองบวกกับวิกฤตใหญ่ที่กำลังเป็นจริง

“สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” หรือ “หมอเลี้ยบ” หากได้ยินชื่อนี้ สำหรับคอการเมืองในช่วงทศวรรษก่อนจะรู้จักในฐานะ 1 ในฟันเฟืองสำคัญของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” จนกลายเป็นนโยบายชนะใจประชาชนและเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

แต่ด้วยมรสุมทางการเมืองและด้วยกติกาปัจจุบัน หมอเลี้ยบต้องคดีซึ่งทำให้หมดสิทธิ์ลงการเมืองสภาตลอดชีวิต

ถึงอย่างนั้น ด้วยความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองในยุคไทยรักไทย ก็มีคนการเมืองหลายฝ่ายเข้าหาเพื่อขอคำชี้แนะอยู่เป็นระยะ

ล่าสุด หมอเลี้ยบพร้อมด้วยสหายจากยุคไทยรักไทยอย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่ปีก่อนประกาศกลางงานวันเกิดตัวเองว่าขอวางมือทางการเมือง ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางความคิดในชื่อ “CARE” ด้วยสโลแกน “คิด เคลื่อน ไทย” และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่วอยซ์ สเปซ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

นอกจากเวทียังเผยบุคคลในคณะซึ่งเป็นที่รู้จักในหลายวงการแล้ว CARE ยังมาพร้อมกับคำเตือน ถึงภาวะอันตรายที่ประเทศต้องเผชิญในปลายช่วงตุลาคมนี้

ท่ามกลางสถานการณ์ในไทยที่ตอนนี้ กำลังตึงเครียดรอบด้านจากวิกฤตโควิด-19

หมอเลี้ยบกล่าวถึงเสียงตอบรับหลังการเปิดตัวกลุ่ม CARE ว่า เสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดี ทุกคนไม่เคยเห็นมาก่อนว่ามีกลุ่มทำนองนี้เกิดขึ้น แต่ก็จะมีบางส่วนผิดคาด เพราะต้องยอมรับว่า ข่าวก่อนหน้านี้ ว่าบุคคลที่เป็นอดีตไทยรักไทย 4 คนได้มาพูดคุยกัน ตอนแรกคาดหมายว่าจะมาตั้งพรรคการเมือง ก็เข้าติดตามว่าจะเกิดพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ หน้าตาเป็นยังไง

แต่พอ CARE เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม-เศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นไปตามคาด ก็เกิดคำถามว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ จะสามารถทำตามที่คิดได้ไหม ต้องกล่าวว่า “คิด เคลื่อน ไทย” จะไม่ได้แค่คิดเท่านั้น แต่จะเคลื่อนเป็นเครือข่าย ซึ่งไม่เคยมีก่อน แม้ในระดับสากลจะไม่ใช่ของใหม่แล้ว

แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่า คนที่เข้าร่วมกับ CARE มีนักการเมืองรวมอยู่ด้วย ในอนาคตนักการเมืองเหล่านี้จะไปตั้งพรรคหรือไม่ CARE จะยังอยู่

CARE เป็นเหมือนแพลตฟอร์ม หากเปรียบเทียบกับ airbnb ที่ดึงเอาบ้าน รีสอร์ต หรือห้องพักว่างมารวมกัน ด้วยเทคโนโลยีเพื่อบริการให้คนจำนวนมาก จนมีเครือข่ายใหญ่โต ฉันใดฉันนั้น พรรคการเมืองที่เป็นองค์กรชัดเจน อยู่กันมานาน มีฐานทำการเป็นหลักแหล่ง

CARE เน้นเป็นที่ของกลุ่มต่างๆ หลายความสนใจ มาทำให้เกิดการผสมผสานเพิ่มศักยภาพ เช่น คนสนใจเกษตรอัจฉริยะ กับคนมีพื้นที่และสนใจพัฒนาของตัวเอง หาก 2 คนต่างคนต่างอยู่ เสียงก็จะเบา แต่ถ้าเครือข่าย จับไขว้ความเชี่ยวชาญ ก็จะเกิดผลลัพธ์เป็นทวีคูณ

 

CARE เปิดตัวเวลานี้ เหมาะเจาะแล้วจริงหรือ? ทั้งวางตัวเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่ และในสถานการณ์ขณะนี้ หมอเลี้ยบกล่าวว่า ใช่ครับ สิ่งที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ได้เล่าให้ใครฟัง แล้วก็ทำตามสิ่งที่เราคิด หลังจากเปิดตัว เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันคือ มีคนจำนวนมากชอบความคิดนี้และพร้อมเข้าร่วม

ตอนแรกหลายคนกังวลจะเข้าร่วมพรรคการเมืองได้หรือไม่ แต่ตอนนี้อยากร่วมกับ CARE ไม่ว่าเกษตรกร นักวิชาการ คนทำงานศิลปะ สตาร์ตอัพ คิดว่าโมเดลนี้ จะมีคนสนใจ

เราคิดว่าเดินมาถูกทาง ยิ่งเดินต่อไป จะยิ่งชัดขึ้น หมอคนหนึ่งที่อยู่จังหวัดห่างไกล ก็สนใจร่วมและตั้งกลุ่ม CARE ประจำพื้นที่ด้วยซ้ำ

การออกมาเตือนถึง 150 วันอันตรายของ CARE ได้เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มทีมสมคิด-สี่กุมาร ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและก่อความตึงเครียดภายในพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นทีมใหม่ซึ่งมีการเปิดเผยชื่อคือ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล พร้อมออกตัวขอพิสูจน์ฝีมือ แต่เสียงตอบรับจากสาธารณชนกลับออกมาไม่ดี

หมอเลี้ยบมองความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า 150 วันอันตรายที่ได้จัดการอภิปราย หากนับถึงวันนี้ก็เหลือน้อยแล้ว หมุดหมายที่คิดคือปัญหาเศรษฐกิจที่ซุกใต้พรมไว้มานาน ทั้งก่อนหน้านี้ 3 เดือนและหลังจากนี้อีก 3 เดือน เราจะเห็นราวเดือนตุลาคมนี้

วันนี้คนจำนวนมากยังไม่ได้รู้สึกว่าอะไรรออยู่ หากมองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ไม่กี่เดือนก่อนเหตุการณ์ลดค่าเงินบาท ก็ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์นั้นจะมาถึง แม้มีการดีเบตแต่ไม่คิดว่าจะเป็นจริง ตอนนี้เรากำลังเจอคล้ายๆ กันหรืออาจหนักกว่าตอนนั้น ในช่วงนั้นคนตกงานถึง 1.4 ล้านคน มาตอนนี้มีการคาดการณ์ว่า จะมีคนว่างงานจากวิกฤตนี้ 5-7 ล้านคน บางตัวเลขอาจแตะ 8 ล้านคน

มองดูแล้ว ตุลาคมนี้มีปัญหาแน่ หากดูทิศทางแก้ไขของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 แล้วยังเห็นว่า ทำแบบกะปริดกะปรอย เหมือนไม่เห็นเรื่องใหญ่รออยู่ข้างหน้า ทำราวกับยื้อปัญหา ซื้อเวลาออกไป รอจนถึงเวลานั้น

การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ชุดก่อนหน้านี้บริหารมา 4-5 ปี ต้องเรียนตามตรงว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ โครงสร้างเราจึงเปราะบาง พอเจอโควิด-19 จึงได้หนักหนาและพังทลาย ส่วนทีมใหม่ ดูจากชื่อที่เปิดเผยออกมา กลับยิ่งกังวลมากขึ้น มองไม่เห็นโอกาสว่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้จริง

ถ้าหากทำนายจาก ณ วันนี้ บอกได้เลยว่า ตุลาคมนี้จะได้เห็นสิ่งที่คาดการณ์ว่าร้ายแรง และเราห่วงว่าจะเกิดขึ้นแน่

 

นอกจากนี้ หมอเลี้ยบกล่าวถึงประชาชนทุกคนควรทำยังไงหากล่วงรู้วิกฤตร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องส่งเสียงให้ดัง วันนี้ผมคิดว่าไม่มีแล้วประเภทนั่งคิดว่า เชียร์คนนี้ ฉะนั้น ให้กำลังใจไปโดยที่ไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะวันนี้ไม่ใช่เรื่องประเภท จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ได้เกิดขึ้นจริง เจ็บจริง ตายจริง

ฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องพูดความจริงกัน พูดออกมาเพื่อให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ตระหนักว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้

เราทุกคนต้องช่วยกันกดดัน ถ้าหากทุกคนช่วยกดดัน ผู้รับผิดชอบจะได้ตระหนักถึงปัญหา และหาหนทางแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ

แต่ถ้าหากยังทำเพียงแค่ให้กำลังใจ มองโลกในแง่ดี พูดได้ว่า 3 เดือนจากนี้ เราจะได้เห็นในสิ่งที่ไม่อยากเห็น

 

หมอเลี้ยบยังกล่าวถึงความเป็นไปได้จริงของ 150 วันอันตรายว่า คนที่คล้อยตามและเริ่มเชื่อเรื่องนี้ก็คือ คนที่วันนี้เจอปัญหา กิจการปิดตัว คนตกงาน พวกเขาอ่านและฟังสิ่งที่เราพูด พวกเขาเข้าใจ แต่ยังมีคนไม่เข้าใจ คือคนที่คิดว่าวันนี้ยังมีเงินเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ยังอยู่ดี ได้รับทุกสิ้นเดือน ก็คิดว่าปัญหายังไม่เกิดขึ้นจริงหรอก

ซึ่งเข้าใจได้ เพราะช่วงที่ผมเป็นข้าราชการก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พอมีลดค่าเงินก็ไม่ได้กระทบเงินเดือน ก็เป็นเรื่องที่อยู่ บริบทที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่วันนี้ผู้ประกอบการธุรกิจระดับกลาง พอประคองได้ 2-3 เดือน แต่ถ้าเศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ต่อไป ซบเซาไปอีก คนที่คิดว่ามีปัญหา ก็ต้องเข้าใจและหมดกำลังใจ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อยากให้มองให้ไกล

มีคำกล่าวของแอนดรูว์ โกรฟ อดีตซีอีโออินเทล ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังสือที่ว่า “Only the Paranoid Survive” คนระแวงเท่านั้นถึงจะอยู่รอด

ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ อย่ามองโลกบวกจนเกินไป หัดมองแง่ร้ายเพื่อหาทางรับมือให้ดีที่สุด