“พระ” และ “ชาวบ้าน” ปรับตัวอย่างไร?! ภายใต้สังคมอำนาจนิยม

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ผู้คนยังนิยมผู้มีอำนาจ
นี่คือสถานการณ์ใหม่ ใต้กฎหมายใหม่

ผลสำรวจของโพลต่างๆ ออกมาว่า ประชาชนยังให้ความเชื่อถือต่อการปกครองตามแบบของ คสช. เห็นว่านายกฯ และรัฐบาล ทำให้บ้านเมืองสงบ แม้เวลาที่ผ่านมาเกือบสามปี ความนิยมจะลดลงไป แต่ก็ยังเป็นมีชื่นชอบมากกว่าคนที่ไม่พอใจ

การใช้อำนาจในการปกครองแบบพิเศษ โดยมีมาตรา 44 เป็นมาตราที่คนรู้จักมากที่สุด มาตรานี้ระบุว่า…

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้

ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ

และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

มาตรา 44 ยังมีผล – ให้ทหารเข้าไปปฏิบัติงาน และร่วมสอบสวนผู้ต้องหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

– ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ภายใน 7 วัน เท่ากับกฎอัยการศึก

– หากควบคุมตัวและสอบสวนพบไม่มีความผิด ปล่อยตัวได้ทันที ยกเว้นมีอาวุธสงคราม

อำนาจที่เป็นแรงกดดันในปัจจุบันจะใช้ผ่านออกมาในหลายรูปแบบ

1. ผ่านกองกำลังซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้เป็นพื้นฐานทั่วไปและคนส่วนใหญ่ก็จะกลัว

2. ใช้อำนาจผ่านระบบการปกครอง กฎหมาย และระบบศาลซึ่งจะเป็นลูกโซ่เกี่ยวเนื่องกัน

3. ผ่านระบบภาษี

4. ผ่านการควบคุมสิทธิเสรีภาพตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การคัดค้าน ใช้ผ่าน กสทช. หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร เช่น การสั่งเปิด-ปิดสถานีโทรทัศน์ การตัดสัญญาณโทรศัพท์

เมื่ออยากได้ผู้มีอำนาจเด็ดขาด ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ชาวบ้านต้องปรับตัวรับผลกระทบทั้งได้และเสีย

อํานาจที่ใช้ผ่านทั้ง 4 รูปแบบนี้ทำให้การดำเนินงานของผู้กุมอำนาจรัฐทำได้อย่างสะดวก ความยืดหยุ่นของการใช้อำนาจก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของประเด็นว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด หรือประชาชนสนใจแค่ไหน มีความถูกต้องชอบธรรมตามทัศนะของคนในสังคมอย่างไร ถ้าสังคมยอมรับได้ถึงครึ่งหนึ่ง รัฐก็สามารถจะใช้อำนาจที่มีอยู่ผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

ดังนั้น จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาบางเรื่องสามารถทำได้ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

แต่ถ้าใช้มาตรา 44 ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่รัฐมีความได้เปรียบทางกฎหมาย การบังคับง่ายขึ้น เช่น ค้าขายบนทางเท้า การรุกล้ำที่สาธารณะ การรุกล้ำริมแม่น้ำลำคลอง เรื่องแบบนี้รัฐใช้ทั้งอำนาจที่เป็นกฎหมายและเจ้าหน้าที่เป็นกำลังในการผลักดัน ก็สามารถควบคุมได้ เอาพื้นที่กลับคืนมาได้

แต่บางเรื่องหัดทำให้ง่าย เช่น โครงการใหญ่ โครงการสาธารณะที่ประชาชนต่อต้าน ยกตัวอย่าง ถ้าวันนี้รัฐบาลชุดนี้เสนอสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชื่อว่าไม่ว่าจะประกาศว่าจำเป็นอย่างไรและทำพื้นที่ใด การต่อต้านจะเกิดขึ้นทันที

ถ้าลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่หลังยึดอำนาจไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจในปี 2549 หรือ 2557 การใช้อำนาจเริ่มต้นเฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นไปตามขั้นบันไดทางการเมืองในการสร้างความมั่นคงให้กับอำนาจรัฐ

หลังการยึดอำนาจในปี 2557 การใช้อำนาจแบบนี้ มีไม่มากนัก แต่ในช่วงหลัง การใช้มาตรา 44 มีมากขึ้น ทั้งการโยกย้ายข้าราชการประจำ นักการเมืองท้องถิ่นในบางเรื่อง และครั้งล่าสุดเราจะเห็นว่าการใช้มาตรา 44 มีไปจนถึงเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์

ซึ่งหลายคนบอกว่าอันนี้น่าจะเป็นการใช้กฎหมายธรรมดาก็ได้

แต่เรื่องนี้ในทางปฏิบัติจริงคงทำไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด และคงต้องผ่อนผันในบางกรณี จากที่เคยเห็นจังหวัดที่ทำสำเร็จ บังคับใช้อย่างจริงจังถึงวันนี้ต้องใช้เวลา 15 ปีต่อเนื่อง

ผลกระทบเรื่องอำนาจทำให้คนบางกลุ่มเดือดร้อนหรือได้ประโยชน์เป็นกลุ่มๆ เช่น ความเดือดร้อนของชาวบ้านกรณีที่รัฐใช้มาตรการเข้มงวดต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายน้ำทั้งริมคลอง ริมชายฝั่งทะเล ถ้าตรวจสอบจริงจะพบว่าหลายหมู่บ้าน หลายตำบล อาศัยอยู่ชายน้ำมานับร้อยๆ ปี และพื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถออกโฉนดได้ ซึ่งกรณีนี้ถ้าจะกำหนดมาตรการเข้มงวดก็ต้องทำอย่างละเอียดและมีเหตุผลเพราะชาวบ้านหลายคนอยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนปัจจุบัน ก็ไม่เคยต้องเสียเงินค่าเช่า อยู่มานานเป็นชุมชนโบราณ

ถ้าต้องการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีที่ดินที่พอจะแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ ถ้าหลักการถือว่าเป็นที่หลวงและจะให้เช่าก็ต้องออกเป็นเอกสารสิทธิ์ แต่จะนำไปเป็นหลักทรัพย์ได้หรือไม่

ค่าเช่ามีอัตราเท่าใด ถ้าแพงเกินไปพวกเขาก็อยู่อย่างยากลำบาก

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

การใช้อำนาจทำได้ทั้งทางบวกและทางลบ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า

คสช. มีแนวโน้มการใช้มาตรา 44 ในแง่การบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหารโดยแท้ ทั้งๆ ที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 การใช้มาตรา 44 ย่อมสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารในการใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐประเทศที่มีอยู่ ทั้งที่ฝ่ายบริหารขณะนี้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าจำเป็นควรกระทำผ่าน สนช. ซึ่งมีกระบวนการกลั่นกรองมากกว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. บอกว่า… มาตรา 44 บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้ อาจมีผลบังคับในทาง “นิติบัญญัติและทางตุลาการ” ได้โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึง ความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย

ถ้าใช้อำนาจทางบวก ในกรณีแท็กซี่อูเบอร์ แม้เป็นของใหม่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ผู้โดยสารที่นั่งรถมีความเห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นวิวัฒนาการของระบบรถโดยสารสาธารณะซึ่งรัฐจะต้องปรับกฎหมายให้สอดคล้อง

ก็เหมือนยุคแรกที่เรามีมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ก็ผิดกฎหมายหมด แต่ปัญหารถติด การจราจรที่ทำให้คนไม่สะดวก สุดท้ายรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เกิดขึ้นจริงๆ ตามความต้องการของสังคมและกฎหมายก็ต้องปรับระบบรองรับว่านี่เป็นเส้นเลือดฝอยในสังคมที่จะส่งคนจนถึงประตูหน้าบ้านได้ ส่วนผลประโยชน์ของคนขับกับเจ้าของแท็กซี่ ก็มาตกลงกับอูเบอร์

หรือเรื่องการผลิตรถใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้รถที่ใช้น้ำมัน ในขณะที่รัฐยังลังเลรีรอไม่วางนโยบายเรื่องนี้ให้ชัด ประเทศใกล้เคียงก็เร่งผลิตกันอย่างรวดเร็ว

ถ้าหากช้าไป ฐานการผลิตก็จะต้องถูกย้ายไปประเทศข้างเคียงในอาเซียนของเรานี่เอง ซึ่งเรื่องแบบนี้รัฐจะเกรงใจบริษัทใหญ่ๆ ที่มีฐานการผลิตไม่ได้ มีแต่ต้องเร่งให้บริษัทเหล่านั้นร่วมมือและปรับนโยบายการผลิต

REUTERS/Jorge Silva

กรณีวัดพระธรรมกาย

เรื่องของพระ ช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้น่าจะยังไม่มีปัญหาในวงกว้าง แต่เรื่องของวัดพระธรรมกาย อาจขยายไปได้ ต้องจับตาดูวิธีการแก้ปัญหาให้ดี ถ้าทำเหมือนเกมการเมืองปี 2549 มันจะขยายและยุ่ง เหมือนไฟลาม 10 ปีแล้วยังไม่ดับ

ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่ารัฐใช้อำนาจกฎหมายและกำลังควบคู่กันในช่วงต้น แต่มีกระแสต้านทั้งจากวัดและจากภายนอกจึงได้เปลี่ยนแผนมาใช้อำนาจการปกครอง อำนาจทางกฎหมาย อำนาจขององค์กรทางศาสนา จนถึงปัจจุบันนี้วัดพระธรรมกายถูกใช้อำนาจครบทั้ง 4 แบบ ผลกระทบต่อวัดพระธรรมกายในช่วงต่อไปก็จะเป็นเรื่องกฎหมาย การปกครอง ระบบบริหาร ทรัพย์สินของวัด ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้สันทัดกรณีประเมินว่า

1. น่าจะมีการตั้งรักษาการเจ้าอาวาสตามที่คาดคะเนกันไว้

ครั้งนี้ถ้าจะทำแบบง่ายๆ ก็น่าจะเป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีรักษาการเจ้าอาวาส ซึ่งดูแล้วไม่ลงตัวง่าย ดูจากคลิปของพระสุวิทย์ ที่คุยกับ พศ. ก็มีความต้องการแบบหนึ่ง ทางวัดคงไม่เห็นด้วย ดังนั้น ผลอาจออกมาในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งรูปแบบคณะกรรมการนี้ก็เคยใช้มาแล้วเมื่อปี 2547 ลงนามโดยรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ซึ่งจะส่งผลมีผู้เข้าไปดูแลหลายคน แต่… ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในรูปขององค์คณะ มีการประชุมหารือและใช้มติร่วมกัน ซึ่งจะมีความขัดแย้งอย่างไรก็ค่อยว่ากันต่อไป ประเมินว่าจะเกิดขึ้นช่วงสิ้นเดือนมีนาคม

2. จากผลข้อแรกจะทำให้ทางวัดมีปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ด้านเศรษฐกิจ แม้ผู้ที่ศรัทธายังคงเข้าไปในวัดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้การทำบุญได้ลดลง เหตุผลก็เพราะคนเหล่านั้นคิดว่าทรัพย์สินเงินทองของวัดอาจจะถูกยึดไปหรือถูกนำไปบริหารโดยคนอื่น และหลวงพ่อที่พวกเขาศรัทธาก็ไม่ได้มาชี้แจงอะไรในขณะที่การบริหารวัดขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าออกเป็นจำนวนมากจะต้องมีทั้งระบบบริหาร ผู้ปฏิบัติงานซึ่งถูกจ้างมาเป็นจำนวนมาก ระบบที่เดินไปได้ต้องมีทั้งคน ศรัทธา เงินและระบบบริหาร ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมีปัญหา ระบบที่เดินอยู่จะสะดุดทันที

3. การที่หลวงพ่อซึ่งเป็นผู้นำที่คนเชื่อถือศรัทธายังมิได้ปรากฏตัว มิได้แสดงความเห็นใดๆ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหลวงพ่อน่าจะหลบไปอยู่ต่างประเทศ และจะปรากฏตัวหรือแสดงความคิดเห็นในจังหวะที่เหมาะสม แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าหลวงพ่อยังอยู่ในประเทศ ข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งนอกและในเครื่องแบบอยู่โดยรอบวัดจำนวนมาก และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่แทรกตัวหาข่าวอยู่ภายในวัด ยังพยายามสืบข่าวอยู่วันหนึ่งใช้คนเป็นร้อยทำงานอย่างเต็มที่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายคาดเดาเพราะแม้แต่ลูกศิษย์ในวัดเองก็ยังคาดเดาไม่เหมือนกัน

อาฟเตอร์ช็อกที่มีผลต่อวัดพระธรรมกาย ยังจะตามมาอีกหลายระลอก การสวดมนต์อย่างเดียวอาจไม่พอ

AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI / AFP / NICOLAS ASFOURI

บัดนี้การใช้อำนาจได้ส่งผลบวกและลบ
มายังประชาชนทุกกลุ่มแล้ว

รัฐบาลไม่ได้ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นในแต่ละเรื่อง แต่ถ้าเงียบแสดงว่าเห็นด้วย ต้นปี 2559 ก็บอกแล้วว่าขอเวลาคุมเข้ม 5 ปี เวลา 5 ปี อาจไม่นาน ตามเพลงที่บอกว่า เราจะทำตามสัญญา … ขอเวลาอีกไม่นาน สำหรับกลุ่มการเมือง คงกล่าวถึงในโอกาสต่อไป พวกเขารอได้

แต่คนทำธุรกิจการค้า ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก จะอยู่รอดถึงวันนั้นหรือไม่?