พินิจการจัดการและระบบสาธารณสุข ช่วงโควิด-19 จากสายตาแพทย์ ไทยรับมือดี-ด้อยตรงไหน?

ในช่วงวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อสองล้านกว่าคนในหลายประเทศทั่วโลก

หน้าด่านสำคัญในการรับมือคือบุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยที่พยายามควบคุม รักษาและเร่งหาทางเยียวยาจากไวรัสที่ไม่เป็นที่รู้จักแต่กลับส่งผลสะเทือนใหญ่กว่าโรคระบาดใดๆ ในศตวรรษที่ 21

ในส่วนของประเทศไทย เมื่อมองที่ระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบันภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โควิด-19 ถือเป็นความท้าทายที่มากกว่าโรคระบาดก่อนหน้าอย่างซาร์สหรือเมอร์ส มีความพยายามของทั้งรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขในการรับมือ ทั้งการออกมาตรการและแนวทางในการควบคุมการระบาด การจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจอย่างศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการทุ่มเททำงานของแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขทุกภาคส่วนไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุข

แม้จะปรากฏภาพการทุ่มเททำงานของรัฐบาล พยายามที่จะลดความตื่นตระหนกกับประชาชน

แต่การมีข่าวอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ

ความหละหลวมในการคัดกรองกลุ่ม มาจากประเทศเสี่ยง

หรือการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่มีจำนวนต่ำจนน่าสงสัยเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ตรวจพบในจำนวนมาก

ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อการบริหารและระบบสาธารณสุขไทยว่า มีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อรับประกันในการรับมือวิกฤตนี้ได้มากแค่ไหน เพราะนั่นหมายถึงการส่งผลสัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคมและชีวิตของประชาชน

 

วิสัยทัศน์-ระบบสาธารณสุข
ความตื่นตัวต่อการระบาด

คําถามสำคัญเกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้คือ อะไรคือหมุดหมายที่บ่งชี้ได้ว่าโลกกำลังเจอการระบาดครั้งใหญ่ หากย้อนกลับไป เมื่อช่วงสิ้นปี 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับว่ามีการพบการติดเชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากจีน

หลังจากนั้นก็มีรายงานการค้นพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นในประเทศที่ติดกับจีน รวมถึงไทยซึ่งพบรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม

แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่ประกาศยกระดับเป็นภาวะฉุกเฉิน แม้มีความคืบหน้าของการยืนยันถึงความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน (20 มกราคม) และมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น

จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม WHO ได้ประกาศให้โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

แต่ก็ยังระบุว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะจำกัดการค้าขายหรือการเดินทางติดต่อกับประเทศจีน

จนอีกไม่นานต่อมา 11 มีนาคม WHO ประกาศยกระดับเป็น “การระบาดใหญ่ทั่วโลก”

คุณหมอท่านหนึ่งซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นแพทย์โรงพยาบาลเอกชนใจกลางกรุงเทพฯ กล่าวถึงหมุดหมายเริ่มต้นว่า จริงๆ หมุดหมายที่โลกควรรับรู้คือ 20 มกราคม พอได้เห็นข้อมูลในวันที่ 20 มกราคม ผมซีเรียสตั้งแต่ตอนนั้นเพราะข้อมูลมันเร็วมากในประเทศจีน การระบาดที่อู่ฮั่นนำไปสู่การปิดเมืองต่างๆ มากมายตามมาไปไกลถึงซัวเถา

มันไม่ใช่เรื่องที่จะวางใจได้แล้ว

“จีนมีมาตรการที่เข้มข้นรุนแรงมาก แต่ข้อมูลที่ส่งไปสู่โลกภายนอกและ WHO กลับลดทอนความรุนแรงลง ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ประมาทไม่เตรียมพร้อม ยกเว้นบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี หรือไต้หวันที่ไม่ประมาท แต่สถานการณ์ก็ยังหนักหน่วง”

“หลายประเทศรวมทั้งไทยยังประมาทในตอนนั้น อ้างสภาพอากาศร้อนบ้าง อ้างว่าระบบสาธารณสุขเราดีเป็นอันดับ 6 ของโลกบ้าง อ้างว่าเรารักษาหายขาดได้เป็นรายแรกของโลกบ้าง อ้างความเชื่อทางศาสนาบ้าง”

“มาถึงตอนนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าสภาพภูมิอากาศไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ มันแค่ชะลอให้ช้าลง ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดจึงอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำ ดูกรณีอินโดนีเซียตอนนี้ หรือประเทศในแถบอาหรับหรือแอฟริกาก็ดี คอยดูแล้วกัน ทั้งหมดอยู่ที่วิสัยทัศน์ และถ้าระบบสาธารณสุขไม่พร้อมด้วย ก็คือเละ แต่ถ้าผู้นำมีวิสัยทัศน์กับระบบสาธารณสุขพร้อมก็รอด”

คุณหมอยังกล่าวอีกว่า อีกสิ่งที่พูดแล้วละเอียดอ่อนแต่เป็นความจริงนั่นคือ ผู้นำรัฐบาลต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งอันนี้ไม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง อย่างที่สองคือประชาชนมีการศึกษาและให้ความร่วมมือ

ยกตัวอย่างไต้หวัน ไอซ์แลนด์หรือเยอรมนีและอีกหลายประเทศ รัฐบาลที่โปร่งใส ให้ข้อมูลตรงไปตรงมา ประชาชนก็เชื่อมั่น หลายประเทศไม่ใช้วิธีปิดประเทศแต่จำกัดการรวมตัว ประชาชนก็ร่วมมือกันปฏิบัติตามอย่างดี รัฐก็เยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง

ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์และประชาชนมีการศึกษา ก็ควบคุมการระบาดง่าย สำหรับไทยรัฐบาลมีอำนาจและประชาชนไม่ค่อยกล้าสู้กับรัฐบาล ประกาศอะไรก็ยอมทำตาม ประเทศเราใช้กฎหมายรุนแรง ปกติแค่ผิดทางแพ่ง แต่เราให้ผิดทางอาญา จับติดคุก หรือมีการประณามทางสังคม คนก็กลัว

“เวลาคุณเจอวิกฤต คุณจะต้องมีความสามัคคีในการแก้ไขปัญหา แต่ทั้งสังคมจะปฏิบัติตามทั้งโดยสมัครใจหรือบังคับก็ได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีวิสัยทัศน์ ประชาชนไม่เชื่อรัฐ กฎหมายก็ไม่แรง อยากทำอะไรก็ทำ จนเละตุ้มเป๊ะถึงค่อยยอมเชื่อ”

 

เมื่อถามถึงศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการรับมือวิกฤตโควิด-19 คุณหมอกล่าวว่า

“วิกฤตสำหรับของผม ถ้าโรคระบาดจะเป็นวิกฤตคือต้องทำระบบสาธารณสุขพังและทำเศรษฐกิจพัง ทำให้บุคลากรสาธารณสุขตายเป็นเบือ ไม่มีศักยภาพดูแลประชาชนได้อีกนาน ไม่ใช่แค่โควิดอย่างเดียว แต่โรคอื่นมากมายอีกด้วย ถ้าทำให้ระบบสาธารณสุขพังนั้นคือวิกฤต และถ้าเข้มงวดกับการปิดประเทศมากไปแต่ไม่ประคับประคองประชาชนและรักษาธุรกิจ ตำแหน่งงาน อาชีพต่างๆ ไว้ ก็พังเช่นเดียวกัน”

ถามถึง ศบค.ที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (26 มีนาคม) ว่ารับมือเพื่อควบคุมการระบาดได้ดีมากแค่ไหน คุณหมอท่านนี้มองว่า ศบค.มีข้อดีตรงที่เข้าใจสถานการณ์โรคระบาด แม้มีปลีกย่อยที่ไม่ตรงกับมุมมองส่วนตัวของคุณหมอก็ตาม แต่ในหลักการนั้นดีใช้ได้

ย้อนกลับไปตอนที่ไทยยังไม่มี ศบค. เป็นรัฐบาลทำและมีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นหลัก รัฐมนตรีพาณิชย์มาเสริม พบว่าเละเทะอย่างที่เห็น

จนเกิดความเคลื่อนไหวภายในบางอย่างซึ่งเป็นแบบเฉพาะของระบบการเมืองแบบไทยๆ ภาพที่ปรากฏนายกรัฐมนตรีและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั่งล้อม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เชื่อ ใช้อำนาจตามที่หมอสั่ง

ศบค.ตอนนี้จึงเป็นเทคโนแครตด้านสาธารณสุข ที่ออกมาตรการต่างๆ ทั้งเว้นระยะห่าง ล็อกดาวน์

แต่มีจุดอ่อนตรงที่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนระเบียบแบบแผนนั้นไม่ดี ทำให้เกิดภาพคนทะลักออกไปต่างจังหวัด ไม่มีระบบป้องกันที่ดี ทางที่ดีต้องทำให้คนค่อยๆ ออก จัดระเบียบให้ดี เพราะหมอเน้นเรื่องโรคระบาด แต่จะไม่เข้าใจการจัดการภาพรวม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เสี่ยงเกิด Cluster ใหม่ขึ้นมา

อีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีพบผู้ติดเชื้อที่ทองหล่อ ก็มองว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีของนักดื่ม ก็ออกกฎห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลคือคนแห่ออกมาซื้อกักตุนกันใหญ่ และเสี่ยงเกิด Cluster ใหม่

ดังนั้น ต้องมองให้ทะลุ ถ้าจะออกมาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ก็ต้องทำมาตรการป้องกันการรวมตัวเป็นกลุ่มด้วย แต่หลายๆ ครั้งรัฐกลับส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวขึ้นมาเสียเองโดยไม่ตั้งใจ

สิ่งที่ ศบค.ทำจึงสะท้อนถึงความเป็นหมอ แต่ไม่ใช่นักการจัดการ มาตรการถูกต้อง แต่วิธีการผิดพลาดหลายครั้ง

 

แม้จะมองการจัดการของรัฐในเชิงกังขา แต่นายแพทย์คนนี้กลับมองการรับมือระดับชุมชนว่าใช้ได้ดีหลังจากที่ผู้คนกระจายออกสู่ต่างจังหวัด หากประชาชนกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ อาจเกินรับไหวแล้วจะพัง ต้องกระจายออกไป แบ่งเบาภาระไปสู่ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นให้ช่วยกันรับผิดชอบ

การแบ่งความรับผิดชอบให้ท้องถิ่นช่วยกันเป็นสิ่งถูกต้อง หลายหมู่บ้านในต่างจังหวัด ใครทำตัวไม่ดีก็ถูกชาวบ้านรุมด่า เรียกผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ อบต. อสม.ลงไปจัดการ นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องทำ เพราะหวังพึ่งรัฐบาลทำโดยลำพังก็ไม่ไหว นั้นถือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเอง

แต่ก็ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าทำยังไงให้พอเหมาะพอดีด้วย อย่าให้ถึงขั้นรังเกียจกลัวกันเกินเลย ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในระดับสาธารณสุขชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ จังหวัดอะไรก็ตาม ก็เตรียมการรองรับให้ได้ตามศักยภาพ อีกอย่างที่ยังไม่เห็น คือการปฏิเสธ ไม่ร่วมมือ ไม่ดูแลในภาวะวิกฤตของหน่วยงานต่างๆ เราเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทุกคนช่วยกันตามศักยภาพที่มี

ทำให้ผมไม่ค่อยกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะล่ม

ส่วนเรื่องทำอย่างไรไม่ให้ระบบเศรษฐกิจล่มนั้น นี่เรื่องยาวเลย ไว้พูดกันวันหลัง