ต่างประเทศ : ปีที่ “ทรัมป์” ต้องลุ้นระทึก กับการถูก “อิมพีชเมนต์”

ที่สุดแล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ที่ถูกสภาคองเกรสดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรืออิมพีชเมนต์ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติรับรองการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

แต่กระบวนการยังไม่จบสิ้น เพราะต่อจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นผู้ตัดสินต่อไป โดยคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า

เป็นความตึงเครียดส่งท้ายปี สำหรับ “ทรัมป์” ในวัย 73 ปี ที่กำลังเดินหน้าหาเสียง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 นี้

โดยหลังจากหารือกันนานถึง 10 ชั่วโมงของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ ก็ได้มีการรับรองมติในข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของทรัมป์ ด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 เสียง และรับรองมติในข้อกล่าวหาที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส ด้วยคะแนนเสียง 229 ต่อ 198 เสียง

ทำให้ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 3 ที่ถูกสภาคองเกรสดำเนินการถอดถอนขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

 

กระนั้นก็ตาม คาดว่าทรัมป์ก็น่าจะรอดจากการถอดถอนในชั้นวุฒิสภา เนื่องจากวุฒิสภามีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ โดยวุฒิสภาที่มีสมาชิก 100 คน จะต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของทั้งหมดจึงจะสามารถถอดถอนทรัมป์ได้ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีสมาชิกจากรีพับลิกันอย่างน้อย 20 คน ที่จะต้องลงคะแนนเสียงร่วมกับเดโมแครตในการถอดถอนทรัมป์

แน่นอนว่า เบื้องต้นนี้ยังไม่มีใครที่แสดงตนออกมาว่าจะสนับสนุนเดโมแครตแต่อย่างใด

แต่ก็ยังต้องเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันต่อไป

 

ต้นตอของการนำไปสู่กระบวนการถอดถอนทรัมป์นั้น เริ่มมาจากเมื่อเดือนสิงหาคม ที่มี “จอมแฉ” คนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลในแวดวงหน่วยข่าวกรอง ที่ออกมาแฉว่า ทรัมป์ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีกดดันนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครนให้ดำเนินการสอบสวนคดีทุจริตในยูเครน ของนายโจ ไบเดน ผู้ที่คาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญจากพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 และฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของโจ ไบเดน ที่นั่งเป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัทบูริสมา บริษัทก๊าซยูเครน

โดยทรัมป์ยังถูกกล่าวหาว่า สั่งระงับการช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเอาไว้ชั่วคราว คิดเป็นเงินมูลค่าถึง 391 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อรองกับนายเซเลนสกี้ให้ดำเนินการสอบสวนสองพ่อลูกไบเดน

จนทำเนียบขาวต้องเผยแพร่บทสนทนาระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกี้ เรื่องการดำเนินคดีกับพ่อ-ลูกไบเดน และเรื่องการแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารที่สั่งระงับไว้

เมื่อเรื่องแดงออกมา คณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ก็ได้สอบถามพยานกว่า 12 คน แต่ขณะที่พยานทั้งหลายกลับไม่สนใจหมายเรียก และไม่ส่งหลักฐานรวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่จะนำไปใช้สำหรับกระบวนการถอดถอนให้แก่คณะกรรมาธิการ

ก็เลยนำไปสู่ข้อหาที่ 2 คือ การที่ทรัมป์ขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส ด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ทำตามหมายเรียกของสภาตามกฎหมายในการให้หลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอน

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าทรัมป์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้ง 2 มาตลอด และว่า การดำเนินการไต่สวนของเพโลซีเป็นการ “ล่าแม่มด”

และในการหาเสียงที่มิชิแกน ระหว่างการลงคะแนนของสภา ทรัมป์กล่าวว่า การถอดถอนตนออกจากตำแหน่งจะกลายเป็นเรื่องน่าอายสำหรับเดโมแครตและเพโลซี และเป็นการฆ่าตัวตายของพรรคเดโมแครต ที่จะต้องชดใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020

 

ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ 243 ปีของสหรัฐ ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่ถูกถอดถอนสำเร็จในกระบวนการถอดถอนมาก่อน

โดยประธานาธิบดีสหรัฐ 2 คนที่ถูกสภาคองเกรสดำเนินการถอดถอนก่อนหน้านี้คือ นายแอนดรูว์ จอห์นสัน เมื่อปี 1868 และบิล คลินตัน เมื่อปี 1998 ที่ต่างรอดพ้นจากการตัดสินของวุฒิสภา และได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อทั้งคู่

ส่วนอีกคนคือ นายริชาร์ด นิกสัน ได้ชิงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปก่อน ขณะยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการถอดถอนระหว่างปี 1973-1974

ในปีนี้ นอกเหนือจากที่ทรัมป์จะต้องมีความพยายามในการต่อสู้กับคู่แข่งจากเดโมแครต เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายปีนี้แล้ว ต้นปี ทรัมป์ก็ยังต้องลุ้นระทึกไปกับชะตากรรมที่ก่อไว้ของตัวเอง

ที่อีกไม่นาน ได้รู้กันอย่างแน่นอนว่า ทรัมป์จะรอดหรือไม่