จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Narcissus ถึง Cornelius สู่เศรษฐศาสตร์ Selfie และโรค NPD

หากเราจะเอ่ยถึงชื่อเสียงเรียงนามของ Cornelius แล้ว ก็คงมีคนรู้จักน้อยกว่าคำว่า Narcissus อย่างแน่นอน

และถ้าจะบอกว่า Cornelius นั้นคือนามสกุลของ Robert ก็อาจเพิ่มจำนวนคนรู้จักมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ก็คงไม่ Popular มากมายอะไรนัก

เพราะ Robert Cornelius คือบุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของภาพ Selfie คนแรกของโลก”

หรือพูดอีกแบบก็คือ เขาเป็นผู้ “หันกล้องถ่ายตัวเอง” เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

 

ก่อนที่จะได้ฉายาว่าเป็น “เจ้าพ่อ Selfie” คนแรกของโลก Robert Cornelius เป็นเจ้าของร้านโคมไฟในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งสืบทอดกิจการจากคุณพ่อของเขาคือ Christian Cornelius ช่างเงินชาวฮอลแลนด์ผู้อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกาครับ

Robert ฝึกวิทยายุทธ์จากคุณพ่อ ไม่ว่าจะเป็นงานชุบเงิน หรืองานขัดเงา กระทั่งเชี่ยวชาญจนสามารถรับช่วงธุรกิจผลิตและจำหน่ายโคมไฟได้ในเวลาต่อมา

ด้วยความฝักใฝ่ในงานช่างและเฝ้าติดตามข่าวสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ Robert ให้ความสนใจนวัตกรรมการถ่ายรูปเป็นอย่างมาก

โดยในยุคนั้น Louis Daguerre เพิ่งสร้างสรรค์ Daguerreotype หรือกล้องชักเงาขึ้นและนำออกจำหน่าย

Daguerreotype คือกระบวนการถ่ายภาพบนแผ่นโลหะ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคที่โลกยังไม่รู้จักกับฟิล์มถ่ายรูป

หลังจากทดลองเล่น Daguerreotype ของ Louis Daguerre มาได้พักใหญ่ ปลายเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1839 Robert Cornelius ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นโดยบังเอิญ

ด้วยการตั้งกล้อง Daguerreotype ที่ Robert Cornelius ดัดแปลงให้สะดวกสำหรับการทดลอง “ถ่ายภาพตนเอง”

จากนั้น เขาก็ได้ทำการ Selfie ที่หน้าร้านโคมไฟ ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นร้านถ่ายรูปไปแล้ว

โดยภาพดังกล่าว ที่ผมได้นำมาลงในคอลัมน์ตอนนี้ ถือเป็น “รูปถ่ายบุคคลที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ”

และที่สำคัญที่สุดก็คือ “รูปถ่ายตนเอง” ของ Robert Cornelius ภาพนี้ คือ “รูป Selfie ภาพแรกในประวัติศาสตร์” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

โดยในยุคนั้น ความที่ใครๆ ก็เห่อ Daguerreotype ทำให้ธุรกิจร้านถ่ายรูปเจริญรุ่งเรืองมาก Robert Cornelius จึงได้ขยายกิจการร้านถ่ายภาพออกไปอีก 2 สาขา

ทว่าต่อมาภายหลัง ธุรกิจร้านถ่ายรูปมีคู่แข่งเกิดขึ้นราวดอกเห็ด ทำให้ Robert Cornelius ต้องเลิกกิจการสตูดิโอถ่ายภาพ และกลับไปทำธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว คือร้านโคมไฟ จนถึงวัยเกษียณ

และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1893

 

Silhouette of a narcissistic and selfish man with a crown on his head, makes selfie on the phone. The concept of narcissism and selfishness

 

แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง Robert Cornelius กับประวัติศาสตร์การ Selfie แล้ว อีกชื่อหนึ่งที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือนามของ Narcissus

เพราะทั้งชื่อ Narcissus และทั้งคำว่า Selfie ได้ถูกโจมตีอย่างมากมาย ในฐานะต้นตอการก่อกำเนิดโรค NPD หรือ Narcissistic Personality Disorder ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “อาการผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง”

สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงโรค NPD ว่าคือ “ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ” ที่จะส่งผลให้เกิด “พฤติกรรมผิดปกติ” ขึ้นในระยะยาว

โดยอาการหลักของโรค NPD นั้นได้แก่ ความรู้สึกว่าตัวเองนั้น “สำคัญมากกว่าความเป็นจริง” และมีความต้องการ “คำชม” ที่มากเกินปกติ

นอกจาก NPD แล้ว ในทางการแพทย์ ยังมีการเรียก “อาการหลงตัวเองอย่างรุนแรง” ว่า Narcisisitic หรือ Narcissus Syndrome อีกด้วย

การนำคำว่า Narcissus มาใช้กำหนดชื่อโรค NPD ก็ดี หรือ Narcissus Syndrome ก็ดีนี้ มีที่มาจากชื่อของ “นายพรานผู้หนึ่ง” ซึ่งมีนามว่า Narcissus ครับ

Narcissus เป็นพรานหนุ่มรูปงาม ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายไป 10 ทิศถึงความหล่อเหลาเอาการ เขาจึงมีความหยิ่งทะนงในโฉมสะคราญของตนยิ่งนัก

และแล้ว วันดีคืนดี ก็มีผู้หมั่นไส้ Narcissus อยู่นายหนึ่ง เขามีชื่อว่า Nemesis ครับ

Nemesis นั้น ไม่ชอบขี้หน้า Narcissus มาหลายเพลา อยู่มาวันหนึ่งจึงออกอุบายลวงให้ Narcissus ไปยังบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ด้วยเป้าหมายบางอย่าง

โดยในเวลาต่อมา แผนร้ายของ Nemesis ก็บรรลุ เมื่อ Narcissus เห็นเงาสะท้อนของตนในน้ำ และตกหลุมรักเงานั้น

จนสุดท้าย Narcissus อดข้าวอดน้ำตาย เพราะไม่อาจละสายตาไปจากความงามในเงาสะท้อนของตนนั้นเอง

นี่จึงเป็นที่มาของแสลง Narcissus ซึ่งเป็นคำที่ใช้ใน “เชิงลบ” ในหลายวงการ โดยเฉพาะในแวดวงการแพทย์ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเองครับ

จากความหมายใน “เชิงลบ” เรามาดูแง่มุมใน “เชิงบวก” กันบ้าง

ทุกวันนี้ คำว่า Selfie ได้กลายเป็นสิ่งที่ทะลุออกไปจากขอบเขตของ Narcissus ไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับโลกมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

นับตั้งแต่มีการผลิตกล้องดิจิตอลขึ้น โดยเฉพาะการผนวก “กล้องถ่ายรูป” เข้ากับ “โทรศัพท์มือถือ” เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.2000 นั่นคือโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ SHARP รุ่น J-SH04

ที่ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ และเป็นผู้บุกเบิกนำพาโลกของเราเข้าสู่ยุคทองของ “เศรษฐศาสตร์ Selfie” นับตั้งแต่นั้นมา

เพราะเว็บไซต์ www.statista.com ได้คาดการณ์จำนวน Smart Phone ในปี ค.ศ.2020 ว่าจะพุ่งขึ้นแตะ 15,000,000,000 เครื่องทั่วโลก

นั่นย่อมหมายความว่า อาจมีการใช้โทรศัพท์มือถือในการ Selfie เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากสถิติในปี ค.ศ.2019 ซึ่งอยู่ที่ 13,000,000,000 เครื่อง

นำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลในห้วงเวลานี้ที่ถือเป็นยุคทองของธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

โดยเฉพาะความรุ่งเรืองของ Social Media ที่มี “พฤติกรรม Selfie” เป็นพระเอกของท้องเรื่องนั่นเองครับ

ปิดท้ายกันที่ ความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีต่อคำว่า Selfie และ Narcissus

ศาสตราจารย์ Otto Kernberg นักจิตวิทยาชื่อดังของสหรัฐ กล่าวว่า พฤติกรรม Narcissus มีสาเหตุจากการขาดความรักความเอาใจใส่ในวัยเด็ก ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อปกป้องตนเองจากความรู้สึกถูกทอดทิ้ง ส่งผลให้กลัวการมีความสัมพันธ์ นำไปสู่การเพิกเฉยต่อสังคม คิดว่าตนเองเท่านั้นที่สามารถเชื่อถือได้ และไม่ไว้ใจผู้อื่น

ในขณะที่ศาสตราจารย์ Robert Emmons นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อดังเช่นกัน กล่าวว่า ความหลงตนเองเกิดจากการที่ครอบครัวให้คุณค่ากับเด็กสูงจนเกินไป

โดยเฉพาะการได้รับการปกป้องและเอาใจใส่ราวกับว่าลูกคือคนพิเศษที่สุดในโลก

ส่งผลให้เด็กคิดว่าตนเป็นที่สนใจของบุคคลรอบข้างตลอดเวลา และรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในจักรวาล

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ Paul Wink นักจิตวิทยาชื่อดังของสหรัฐอีกท่าน ได้ทำการแบ่งคนหลงตนเองออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. หลงตนเองแบบเปิดเผย หรือ Overt Narcissist ซึ่งผู้ที่หลงตัวเองแบบนี้ มักเชื่อมั่นในคุณค่าของตนสูงมาก เป็นคนที่ยึดตัวตนเป็นศูนย์กลาง จึงมีลักษณะชอบแสดงอำนาจแบบก้าวร้าว

2. หลงตนเองแบบปกปิด (Covert Narcissist หรือ Hypersensitive Narcissist) ผู้ที่หลงตัวเองชนิดนี้จะมีลักษณะปกป้องตนเองสูง ขาดความมั่นใจ อ่อนไหว และรู้สึกไม่พอใจตนเอง เห็นคุณค่าของตัวเองต่ำ

ผู้นำของคุณเป็นแบบไหนเอ่ย?