ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เชิงบันไดทำเนียบ |
ผู้เขียน | ปรัชญา นงนุช |
เผยแพร่ |
ทำเอาเซอร์ไพรส์ไปทั้ง ‘วังหลัง-บ้านบุ’ ฝั่งธน-บางกอกน้อย หลัง ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ลงพื้นที่แบบไม่บอกล่วงหน้า แค่แจ้งผ่านเฟซบุ๊กเพียง 30 นาที ก่อนถอดสูทออกจากทำเนียบฯ ควงพี่เลิฟ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ด้วยกัน ที่งานนี้ว่ากันว่า ‘บิ๊กตู่’ ไม่อยากเห็นผักชีโรยหน้า เลยมาแบบให้ตั้งตัวไม่ทัน แต่ก็ถูกมองว่ามา ‘เช็คเรตติ้ง’ ในพื้นที่ กทม. ด้วยหรือไม่
.
นอกจากไปตลาดแล้วยังไปตามโรงเรียนด้วย ที่ทำเอาทั้ง นร. และครู ตั้งตัวกันไม่ทัน โดยเฉพาะการไปไหว้พระ ที่วัดสุวรรณาราม มีนักเรียนมาต้อนรับ พร้อมนำผ้าขาวม้ามาผูกขี้เป็นม้ารอบโบสถ์ ตามความเชื่อในการมาบนอธิษฐานขอพรต่างๆ
โดยเจ้าอาวาส เผยว่า คนที่จะต้องเข้าเกณฑ์ทหารใหม่ มักมาบนที่วัดแห่งนี้ เพราะมีความเชื่อว่ามาบนที่นี่แล้วจะไม่ถูกทหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงยืนยันถึง ‘ความจำเป็น’ ในการเกณฑ์ทหาร โดยชี้ถึงในมุมมอง ‘ความมั่นคง-การจัดกองกำลัง’
.
ในฐานะที่เป็น ‘ทหาร’ มาก่อน จบ ตท.12 จปร.23 เติบโตมาจากสายทหารเสือ ร.21 รอ. เป็นจุดเริ่มต้น ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ สมัย ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นร้อยเอก ‘บิ๊กป๊อก’เป็นร้อยโท และ ‘บิ๊กตู่’ เป็น ร้อยตรี พักอยู่ในบ้านเดียวกัน อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณพ่อเป็นทหารด้วย รวมทั้งรับราชการทหารมาเกือบ 40 ปี จึงทำให้สังคมที่ ‘บิ๊กตู่’ อยู่นั้นเป็น ‘สังคมทหาร’ และ ‘บิ๊กตู่’ เคยเปรียบถึงขั้นว่า ตนเกิดมาเพื่อเป็นทหาร ตายไปผมก็ยังเป็นทหาร ตนเป็นผีก็เป็นผีทหาร เกิดชาติหน้าก็จะเป็นทหาร
.
“การเกณฑ์ทหารมีความสำคัญ เป็นผู้ช่วยเหลือสังคม และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคน คนที่เรียนหนังสือสูงๆ มีกฎเกณฑ์ผ่อนผัน จะสมัครเป็นทหารหรือจะผ่อนผันก็ได้ ตรงนี้เรามีความเป็นธรรมให้อยู่แล้ว
.
จะไม่ให้มีทหาร พอถึงเวลาแล้วจะไปเกณฑ์มา มันไม่ได้เพราะออกรบไม่ได้ จำเป็นต้องผ่านการฝึก กองหนุนต่างๆต้องมี จึงถือว่าวันนี้ทหารยังมีความจำเป็น ไม่เชื่อให้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ได้ ผมกังวลตรงนี้ เป็นเรื่องการสร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่คนรวยไม่ต้องเป็น มันไม่ใช่ หลักเกณฑ์มีอยู่
.
การเตรียมกำลังสำคัญที่การฝึก ช่วงไม่มีภาวะสงคราม เรามีขั้นตอนและความพร้อม แบ่งเป็นการเตรียมกำลังกับการใช้กำลัง มีทั้งกองเกินกองหนุน ถ้าไม่ให้เป็นทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเมินข้อเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพราะเมื่อครั้งนำประชุมสภากลาโหม เมื่อก.ย.62 ‘บิ๊กตู่’ ได้สั่ง ผบ.เหล่าทัพ ให้เปิดรับและศึกษาแนวคิดของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อทบต่อความมั่นคง-ระบบ-โครงสร้างกำลังพล รวมทั้งโครงสร้างงบประมาณ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้กระทบภารกิจหลักความมั่นคงของกองทัพ
.
ส่วนคู่ตรงข้ามอย่าง ‘เฮียเอก’ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน.พรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องพ้นการเป็น ‘สมาชิกภาพ ส.ส.’ หลังศาล รธน. นัดฟังคำวินิจฉัยปมหุ้นสื่อฯ ได้ลงพื้นที่ ‘สยามสแควร์’ เพื่อรณรงค์ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค
.
โดยกลไกในสภานั้นมี ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นแม่ทัพในการเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รับราชการทหาร ให้การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการใช้วิธีการรับสมัครแทนการเรียกมาตรวจเลือก กำหนดให้การฝึกทหารต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสวัสดิการที่ดี โดย พล.ท.พงศกร เป็นอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จบ ตท.14 จปร.25 เติบโตมาจากฝ่ายเสนาธิการ
.
แนวคิดนี้ของพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะ ‘ธนาธร’ ก็สะท้อนมาจากมุมมองผ่าน ‘นักวิชาการ-กลุ่มกิจกรรมการเมือง’ ย้อนไปในอดีตสมัยเข้าสู่รัว ม.ธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ธนาธร’ ในการทำกิจกรรมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ ไทย (สนนท.) ช่วงปี2541
.
โดยเป็น สนนท. ในยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การเรียกร้องของกลุ่ม สนนท. จะลงไปที่เรื่องการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น โดยเน้นไปที่ชาวรากหญ้าเป็นหลัก
.
อีกทั้ง ‘ธนาธร’ ก็มีคนรู้จักในแนววงวิชาการที่สนใจประเด็นการเมืองและสังคมด้วย รวมทั้งไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกับ 2 สีเสื้อทั้งกับกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2549 และกับกลุ่ม นปช. ช่วงปี2552-53 ด้วย
ทั้งนี้สมัยที่อยู่ สนนท. ‘ธนาธร’ มีเพื่อน ‘3 สหาย’ ร่วมทางจากอดีตถึงปัจจุบัน คือ ‘ต๋อม’ชัยธวัช ตุลาธน เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้เป็น รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ‘ติ่ง’ศรายุทธ ใจหลัก เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการพรรค ซึ่งทั้ง ‘ต๋อม-ติ่ง’ ก็มีบทบาทสำคัญในพรรคอนาคตใหม่มาตั้งแต่ต้น
.
จึงไม่แปลกถึงสิ่งที่ ‘ธนาธร’ และพรรคอนาคตใหม่ จึงเสนอนโยบายที่ชนกับกองทัพหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ นั่นเอง
.
ถือเป็น ‘โลกคนละใบ’ ระหว่าง ‘ลุงตู่-เฮียเอก’ กับสังคมที่เติบโตมา รวมทั้งสภาวะรอบข้าง จึงมีความแตกต่างกันในการมองและฉายภาพ ‘กองทัพ’ ไปยังสังคม