ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อภิรัชต์เป็นนายกฯ : สัญญาณอันตรายของประยุทธ์ 2

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เสนอว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ควรเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นข่าวที่คนจำนวนมากสนใจ เพราะนอกจากผู้พูดจะเป็นรองนายกฯ เนื้อหาสาระที่ พล.อ.ประวิตรพูดก็เป็นเรื่องของนายกฯ ในอนาคตหลังอวสานของนายกฯ คนปัจจุบัน โดยเฉพาะเป็นรองนายกฯ ที่มีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศมากว่าสิบปี

ถ้าประเทศไทยเป็นประเทศปกติ คำพูดของ พล.อ.ประวิตรก็คงเป็นเพียงความเห็นที่ไม่มีความหมายอะไร

แต่ด้วยความจริงที่ประเทศนี้อยู่ใต้อิทธิพลผู้มีอำนาจหน้าเดิมมาสิบกว่าปี

คำพูดของพลเอกที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมถึง 8 ปี ในช่วง พ.ศ.2551-2562 จึงชี้ทิศทางซึ่งประเทศนี้อาจถูกยัดเยียดให้เดินไปได้มากเหลือเกิน

ขณะที่ประเทศไทยในช่วง 2551-2562 มีนายกรัฐมนตรี 3 คน จากแกนนำรัฐบาลตั้งแต่ประชาธิปัตย์, เพื่อไทย, คสช. และพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตรคือนายพลเพียงคนเดียวที่เป็นรองนายกฯ และคุมกลาโหมมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือเป็นผู้คุมการแต่งตั้งนายทหารมาเกือบหนึ่งทศวรรษจนนานกว่านายกฯ ทุกคน

คนจำนวนมากไม่พอใจกองทัพเพราะมองว่าสิบสองปีหลังรัฐประหาร 2549 คือสิบสองปีที่กองทัพมีอำนาจเหนือประเทศไทย แต่ที่จริงผู้บัญชาการกองทัพเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่มีใครมีอำนาจจริง ตรงข้ามกับ พล.อ.ประวิตรที่มีอำนาจต่อเนื่องจนคำพูดว่า พล.อ.อภิรัชต์ควรเป็นนายกฯ เป็นความเห็นที่มีทางเป็นจริง

พูดตรงๆ วิธีเข้าสู่อำนาจเหนือประเทศในช่วงสิบกว่าปีนี้มีอยู่สามทาง

หนึ่งคือ ผ่านพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

สองคือ รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ

และสามคือ ใช้อิทธิพลของกองทัพบีบจนได้นายกฯ ที่ผู้นำกองทัพต้องการ

ซึ่งทั้งสามทางล้วนเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อภิรัชต์มีความพร้อมอย่างดี

คําพูดเรื่อง พล.อ.อภิรัชต์ควรเป็นนายกฯ มาจากพลเอกคุมกลาโหมและเป็นรองนายกฯ ด้านความมั่นคงนานกว่าทุกคน ยิ่งกว่านั้นคือพลเอกนี้เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐหลังจากที่เป็นผู้มีอำนาจโดยไม่เปิดเผยมานานแล้ว กลไกทางการเมืองและการทหารที่จะผลักดันเรื่องนี้จึงมีอย่างสมบูรณ์

พล.อ.อภิรัชต์อธิบายว่า ข่าวนี้เกิดเพราะสื่อถามแล้ว พล.อ.ประวิตรก็พูดเล่นๆ ไปมา

และถึงแม้ต้นเหตุของข่าวนี้ในวันแรกจะเป็นแบบนี้จริงๆ คำพูด พล.อ.ประวิตรในวันที่สองก็ชี้ว่า พล.อ.ประวิตรจริงจังกับเรื่องนี้มากกว่าที่คิด เพราะเมื่อสื่อถามย้ำว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรก็ยืนยันคำพูดเดิม

แม้กระแสสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์คำพูด พล.อ.ประวิตรอย่างรุนแรงจน พล.อ.ประวิตรต้องอ้างว่าคำพูดทั้งหมดเป็นเรื่องตลก แต่คนที่เป็นนายกฯ มาถึงแปดปีในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษย่อมรู้ว่าการพูดเรื่อง พล.อ.อภิรัชต์ ควรเป็นนายกฯ ถึงสองครั้งในขณะที่นายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องตลกอย่างแน่นอน

คำถามคือ พล.อ.ประวิตรพูดเรื่องทั้งหมดนี้เพื่ออะไร?

พล.อ.อภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเวลาที่ประเทศไทยอยู่ใต้เผด็จการทหารเหมือนอดีต ผบ.ทบ. 3 คน แต่ขณะที่สังคมไม่ได้หวาดระแวงว่า พล.อ.อุดมเดช, พล.อ.ธีรชัย และ พล.อ.เฉลิมชัย จะมีบทบาททางการเมือง

คนจำนวนมากกลับเชื่อว่า พล.อ.อภิรัชต์มีเป้าหมายการเมืองขั้นหวังเป็นนายกฯ ในระยะยาว

จริงอยู่ว่าผู้บัญชาการทหารบกทุกคนหลัง 2557 ล้วนแสดงความเห็นสนับสนุน คสช. แต่เมื่อเทียบกับ พล.อ.อภิรัชต์ในช่วงที่ผ่านมา ผบ.ทบ.คนอื่นดูจะทำสิ่งที่เป็นการแสดงออกตามกระแสธารแห่งความอนารยะที่ครอบงำประเทศมากกว่าจะเป็นการเร่งนำประเทศไปสู่หนทางดังกล่าวอย่างที่เกิดในยุคปัจจุบัน

แม้จะเป็น ผบ.ทบ.หลังรัฐประหารเหมือนกัน แต่ไม่มี ผบ.ทบ.คนไหนแต่งเครื่องแบบแล้วใช้สถานที่หลวงโจมตีพรรคการเมืองอย่างที่ พล.อ.อภิรัชต์ทำไปสามครั้ง วิธีโจมตีฝ่ายค้านว่าซ้ายจัดดัดจริต, แบ่งแยกดินแดน, หนักแผ่นดิน ฯลฯ

ทำให้คนเชื่อว่า ผบ.ทบ.ต้องการเล่นการเมือง ถึงจะยังไม่รู้ว่าเล่นแบบไหนก็ตาม

นอกจากบทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ ดังที่ได้กล่าวไป การที่ ผบ.ทบ.เป็นลูกหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2534 ทำให้คนบางกลุ่มระแวงอย่างไม่เป็นธรรมว่า ผบ.ทบ.จะทำแบบที่พ่อเคยทำมาแล้ว

ผลจากความระแวงแบบนี้ทำให้คนไม่น้อยคิดว่า พล.อ.อภิรัชต์จะต้อง “เล่นการเมือง” ต่อให้จะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดก็ตาม

เอาให้รอบด้านยิ่งขึ้น การแสดงออกของ พล.อ.อภิรัชต์ตั้งแต่เป็นพลตรีในการสลายการชุมนุมปี 2553 และการรวมพลประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ยังเป็น ผบ.ทบ.ก็ทำให้คนจำนวนมากมี “ภาพจำ” ว่า พล.อ.อภิรัชต์คือนายทหารที่ยุ่งการเมืองมากกว่านายทหารท่านอื่นเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน

พล.อ.อภิรัชต์ควรได้รับความยุติธรรมที่ถูกสังคมหวาดระแวงเพียงเพราะมีพ่อเป็นนายพลผู้ก่อรัฐประหารในปี 2534 หรือแม้กระทั่งข้อครหาเรื่องทรัพย์สินมูลค่าสี่พันล้านซึ่งจบโดยไม่มีข้อยุติ แต่บทบาท พล.อ.อภิรัชต์ตั้งแต่ก่อนเป็น ผบ.ทบ.และดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็เอื้อให้ประชาชนบางกลุ่มระแวงได้มากเหลือเกิน

พูดอย่างตรงไปตรงมา พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.ด้วย “ภาพลักษณ์” ที่ติดลบกว่า พล.อ.อุดมเดช, พล.อ.ธีรชัย รวมทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย

และทันทีที่แถลงว่าคนรุ่นใหม่ถูกคอมมิวนิสต์หลอก ส่วนพรรคการเมืองก่อความไม่สงบ คนรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนพรรคการเมืองก็ทวีความไม่พอใจ พล.อ.อภิรัชต์ในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัยทำให้สังคมเห็นความเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่สุขุม ไม่ยุ่งการเมือง รวมทั้งธำรงความเป็นทหารอาชีพในสถานการณ์ที่กองทัพยุ่งการเมืองที่สุด

พล.อ.อภิรัชต์ก็คือผู้บัญชาการทหารบกที่สังคมรู้สึกว่ามีคุณสมบัติต่างกันอีกขั้ว ทั้งในแง่บุคคล และการปฏิรูปกองทัพให้ตอบสนองสังคม

ตรงข้ามกับ พล.อ.เฉลิมชัยที่เคยประกาศในช่วงก่อนอำลาตำแหน่ง ผบ.ทบ.ว่ากองทัพต้องลดกำลังพล, ย้ายออกจากกรุงเทพฯ รวมทั้งลดงบประมาณอาวุธ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.ที่ด่าคนซึ่งพูดเรื่องลดกำลังพลและลดงบฯ อาวุธว่าเป็นพวก “หนักแผ่นดิน”

จนเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำกองทัพที่ไม่สนใจสังคมเอาเสียเลย

ภายใต้ข้อเท็จจริงและอคติจากสังคม พล.อ.อภิรัชต์กลายเป็นตัวแทนของความคิดสุดโต่งทั้งในเรื่องการเมือง-การบริหารกองทัพ-บทบาทของทหาร ฯลฯ ผลก็คือความกังวลเรื่องรัฐประหารในเวลานี้จากความกังวลเรื่องกองทัพกับความไม่ไว้ใจตัวบุคคลที่อาจมากกว่าตอน พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารด้วยซ้ำไป

ในความเป็นจริงแล้ว พล.อ.อภิรัชต์เป็นตัวแทนของขั้วอำนาจใหม่ในกองทัพซึ่งมีศักยภาพจะแทนที่ขั้วอำนาจปัจจุบัน ซ้ำบทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ก็แสดงความมั่นใจว่าตัวเอง “มีของ” พอจะเป็นอะไรมากกว่าตอนนี้ กองทัพจึงเผชิญความท้าทายว่าจะบริหารความสัมพันธ์ระหว่าง “พลังเก่า” กับ “พลังใหม่” อย่างไร

ทันทีที่ พล.อ.ประวิตรประกาศว่า พล.อ.อภิรัชต์เหมาะเป็นนายกฯ ผลที่เกิดขึ้นคือ พล.อ.ประวิตรจรรโลงความเป็น Kingmaker เหนือผู้นำกองทัพไม่มีสิ้นสุด

ปัญหาคือคำประกาศนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์ถูกโจมตีจากการแสดงออกทางการเมืองในระดับที่รุนแรงมาก ตัว พล.อ.อภิรัชต์จึงไม่ได้อะไรแม้แต่นิดเดียว

ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะผลงานทางเศรษฐกิจหรือความประพฤติส่วนบุคคล คำประกาศของ พล.อ.ประวิตรอาจเป็นเหตุให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูก พล.อ.ประยุทธ์มองว่า “วัดรอยเท้า” ก็เป็นได้ ผลก็คือ พล.อ.อภิรัชต์ถูกบีบให้ทำตัวเหมือน ผบ.ทบ.คนอื่นภายใต้ พล.อ.ประวิตรกว่าที่ผ่านมา

สำหรับคนซึ่งต้องการเห็น พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ ยุทธการชู พล.อ.อภิรัชต์ อาจเป็นเหตุให้เกิดความลังเลใจจะไล่ประยุทธ์กว่าที่ผ่านมา

ภาพสุดโต่งของ พล.อ.อภิรัชต์ ทำให้ความสุดโต่งของ พล.อ.ประยุทธ์เจือจางลง หรือกลับกันคือ พล.อ.อภิรัชต์ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ดูเป็นผู้เป็นคนยิ่งขึ้นทันที

ด้วยรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าวุฒิสมาชิกห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองจนกว่าจะพ้นตำแหน่ง 2 ปี พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นนายกฯ ได้ก็ต่อเมื่อลาออกจาก ผบ.ทบ.จนไม่ได้เป็นวุฒิสมาชิก 2 ปี ไปแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็คือฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อเลิกกติกานี้

และอีกทางคือให้พรรคการเมืองใส่ชื่อเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ไม่ว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นนายกฯ ด้วยวิธีไหน เส้นทางแห่งการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.อภิรัชต์ จะทำให้ พล.อ.อภิรัชต์มีภาพของการทำลายเสถียรภาพการเมืองทั้งสิ้น

หนทางเป็นนายกฯ ของ พล.อ.อภิรัชต์จึงลวกร้อนกว่านรก

และการผลักดันให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ คือการผลักดันให้เผชิญทุกขลาภโดยตรง

ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประวิตรประกาศให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ เพราะอะไร ข้ออ้างว่าพูดเล่นนั้นเลอะเทอะจนคนมีสติรู้ว่าเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น พล.อ.ประวิตรไม่เสียหายอะไรจากการนี้แน่ๆ

ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์มีภาพของการเป็นทหารการเมืองยิ่งขึ้นจนอันตรายแก่ พล.อ.อภิรัชต์เองในระยะยาว

หนึ่งในเงื่อนไขของการเกิด 14 ตุลาคม 2516 คือจอมพลถนอมครองอำนาจนานจนขัดขวางการเติบโตของทหารทุกคน การกำจัดถนอมจึงเป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายในกองทัพไปหมด

สังคมไทยในปัจจุบันอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจเดิมสิบสองปีแล้ว

จึงไม่แปลกที่ใครจะอึดอัดจนอยากออกจากระบบนี้สักที

คำประกาศให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ คือสัญญาณการเมืองที่อันตราย ไม่มีผู้นำคนไหนอยากได้ยินอวสานของตัวเองแบบนี้ การเมืองไทยจากนี้จะทวีความเข้มข้นจนขนหัวลุก

เพราะในเวลาที่อำนาจเก่าล่มสลาย

ส่วนอำนาจใหม่เกิดขึ้นได้ยาก และความขัดแย้งใหญ่ย่อมไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง