นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทำนายดวงเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์

เพื่อนญี่ปุ่นที่อายุในรุ่นใกล้กันมักบอกกับผมเสมอว่า ญี่ปุ่นโชคดีที่แพ้สงคราม ทำให้ต้องถูกสหรัฐยึดครอง คำอธิบายของพวกเขาก็คือทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนามาเป็นสังคมที่เข้มแข็งขึ้นได้ ผมได้อ่านอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาบ้าง และได้พบข้อสรุปอย่างนี้จากหนังสือเหมือนกัน จึงไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงไม่ได้ถามลงรายละเอียด

มาในภายหลังได้อ่านเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากขึ้น จึงมารู้ตัวว่าความคิดว่า “รู้แล้ว” นี้อันตรายมาก เพราะทำให้ไม่ซักถามเพิ่มเติมจากเพื่อนญี่ปุ่นให้มากขึ้น

แท้จริงแล้วอเมริกันบังคับให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนอะไรที่สำคัญๆ ไปหลายอย่าง ซึ่งหากญี่ปุ่นไม่แพ้อย่างราบคาบอย่างนั้น ญี่ปุ่นก็คงไม่เปลี่ยนมากถึงเพียงนั้น และบัดนี้ญี่ปุ่นก็คงแบกเอาความอ่อนแอและความเอียงกระเท่เร่บางอย่างสืบมาจนบัดนี้ อาจไม่ใช่ในรูปที่พบได้เมื่อก่อนและระหว่างสงคราม แต่คงบิดรูปให้แปลกออกไปบนพื้นฐานความกระเท่เร่เดิม

สถานะของพระจักรพรรดิเป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยรู้ดี หากไม่แพ้สงคราม หรือไม่ได้แพ้อย่างปราศจากเงื่อนไขเช่นนี้ พระจักรพรรดิก็คงยังดำรงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวญี่ปุ่นจะต้องเคารพบูชากันแบบไม่มีสิทธิ์จะคิดหรือรู้สึกอะไรให้แตกต่างไปได้

องค์พระจักรพรรดิท่านอยากอยู่ในฐานะอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่สถานะอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นย่อมเป็นโอกาสให้คนอื่นฉวยเอาไปใช้เพื่อเถลิงอำนาจอันไร้ขีดจำกัด และไร้การต้านทาน ในนามของจักรพรรดิ เพราะฉะนั้น สถานะของพระจักรพรรดิที่สูงส่งล้นพ้นเช่นนั้น ย่อมเป็นพลังใหญ่ที่กีดขวางมิให้ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนอะไรได้ แม้ไม่ชนะสงครามอย่างมุ่งหวังก็ตาม ก็ยังต้องอยู่กันไปอย่างนั้น

รัฐธรรมนูญที่สหรัฐร่าง กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ไม่อยู่กับองค์จักรพรรดิอีกต่อไป

 

จนสิ้นสงคราม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญแบบยุโรป (เยอรมนีสมัยไกเซอร์) ก็จริง แต่คงเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังผูกสิทธิเลือกตั้งไว้กับการเสียภาษีทรัพย์สิน เหมือนยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงประกอบด้วยคนจำนวนนิดเดียว ชาวนาซึ่งส่วนใหญ่เช่าที่ดินเขา ไม่มีสิทธิ์ ผู้หญิงก็ลืมไปเลย คือนอกจากไม่มีสิทธิ์แล้ว ยังไม่มีเสียงอีกด้วย

สหรัฐบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญให้คนญี่ปุ่นทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน ชายหรือหญิง ย่อมมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งเสมอเหมือนกันหมด

รัฐธรรมนูญที่สหรัฐร่างให้ล้มเลิกสภาขุนนางลงทั้งหมด กำหนดว่าสิทธิพื้นฐานของคนญี่ปุ่นคืออะไร ซึ่งก็คือสิทธิพื้นฐานในรัฐประชาธิปไตยทั่วไป โดยไม่ต้องมีวรรคทองเหมือนรัฐธรรมนูญเมจิที่ลงท้ายทุกมาตราที่ว่าด้วยสิทธิว่า ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดกับกฎหมายและศีลธรรมอันดี สิทธิพื้นฐานจึงเป็นสมบัติของประชาชน (อันเป็นสิ่งที่รัฐไม่อาจทวงคืนไปได้) ทั้งยังต้องมีกลไกในระบบปกครองที่ทำให้ประชาชนสามารถปกป้องตนเองจากการละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยรัฐด้วย

อันที่จริงรัฐบาลรักษาการของญี่ปุ่นที่ยอมจำนนต่อสหรัฐ ได้เตรียมตัวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมจิเอง เพื่อประกาศใช้ในญี่ปุ่นแล้ว แต่เมื่อข่าวรั่วไหลไปถึงนายพลแม็กอาเธอร์ เขาก็ป่าวหมู่นักกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แล้วยื่นให้ญี่ปุ่นประกาศใช้ แม้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขบ้าง แต่หลักใหญ่ใจความแล้วก็เป็นไปตามหลักการที่ฝ่ายสหรัฐร่าง

 

สหรัฐไม่ได้ประสบความสำเร็จในการรื้อทำลายทุกอย่างที่เป็น “ลัทธิทหาร” ซึ่งอเมริกันรังเกียจได้หมด บางอย่างก็ฟื้นคืนชีพในรูปใหม่ได้ เช่น ไซบัทสุหรือแขนขาทางเศรษฐกิจที่หนุนหลังลัทธิทหาร เป็นต้น แต่อเมริกันประสบความสำเร็จในการ “ปฏิวัติ” ญี่ปุ่นทางสังคมและการเมือง อย่างที่ญี่ปุ่นทำเองไม่ได้

นักวิชาการฝรั่งอธิบายว่า อเมริกันทำลาย equilibrium ที่เคยมีมาในสังคมและการเมืองญี่ปุ่นลงได้สำเร็จ

ก่อนจะแปลศัพท์คำนี้ ผมขออนุญาตอธิบายความหมายของศัพท์นี้ในทางสังคมศาสตร์สักนิด พจนานุกรมไทยมักแปลคำนี้ว่าความสมดุล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อาจเข้าใจผิดได้ เพราะเวลาพูดถึงความสมดุลในภาษาไทย เรามักคิดถึงอะไรที่เท่ากันทั้งสองด้าน แต่ศัพท์นี้ในภาษาอังกฤษหมายถึงสองด้านที่ไม่เหมือนกัน จนถึงขัดแย้งกันเลยด้วย อาจไม่เท่ากัน หรือต่างสี ต่างพรรณกันได้มาก แต่ต่างถ่วงกันไปถ่วงกันมา จนเกิดสภาพหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ ได้ สภาพที่สิ่งแตกต่างกันถ่วงดุลกันจนหยุดเคลื่อนที่นี่แหละครับคือ equilibrium

ขอเปรียบเทียบเหมือนเอาของสองกองที่น้ำหนักต่างกันไปวางไว้บนคาน แล้วเลื่อนข้างที่มีน้ำหนักมากให้มาใกล้จุดฟัลคัม ก็จะทำให้สองอย่างนั้นถ่วงกันจนคานไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

คราวนี้จะแปลว่าความสมดุลก็ได้ครับ แต่ต้องเข้าใจว่าสมดุลอย่างที่ผมว่านะครับ ผมขอแปลแบบลำลองไปก่อนว่าจุดลงตัว

ผลประโยชน์, โลกทรรศน์, สถานะทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง ฯลฯ ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมหนึ่งๆ ไม่เหมือนกัน แต่หลังจากต่อสู้แย่งชิงกันไปแล้ว ในที่สุดก็มักไปถึงจุดลงตัวสักจุดหนึ่ง ที่คนเสียเปรียบต้องเสียเปรียบโดยหือไม่ขึ้น และคนได้เปรียบก็ได้เปรียบอย่างล้นเหลือในขีดจำกัดหนึ่ง (คือเลยจุดนี้ไปอาจทำให้เสียจุดลงตัว) สังคมก็หยุดนิ่ง อยู่กันไปได้ มีศักยภาพที่จะทำโน่นทำนี่ได้บางอย่าง แต่ขาดศักยภาพที่จะทำโน่นทำนี่ได้อีกบางอย่าง

สังคมญี่ปุ่นจากสมัยเมจิมาจนสิ้นสงคราม มีอะไรต่อมิอะไรถ่วงดุลกันไปมา แม้มีคนเสียเปรียบมาก แต่ก็อยู่กันมาได้ พร้อมทั้งศักยภาพจะทำสงครามขนาดใหญ่ได้ด้วย เป็นจุดลงตัวที่ไม่พังลงง่ายๆ หรอกครับ หากไม่โดนกระแทกอย่างแรงด้วยการถูกยึดครองเพราะแพ้สงคราม

ผมอยากเสนอว่า เมื่อสังคมใดได้พบจุดลงตัวและอยู่กับจุดลงตัวนั้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควรแล้ว ก็ยากที่สังคมจะเคลื่อนออกจากจุดลงตัวนั้นได้ นอกจากต้องมีแรงจากภายนอกหรือภายใน (เช่น ปฏิวัติ) ที่แรงมากๆ จึงสามารถเคลื่อนออกไปได้

สังคมไทยเวลานี้ได้บรรลุจุดลงตัวที่เคลื่อนออกไปไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว เว้นแต่ถูกกระแทกด้วยแรงอันใหญ่ ใช่หรือไม่?

มองไกลๆ จากตั้งแต่เมื่อเราเปิดประเทศในสมัย ร.4 เป็นต้นมา นับเป็นแรงกระแทกจากภายนอกที่ใหญ่มาก ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ก็กำลังเกิดแรงกระเพื่อมภายในที่แรงเหมือนกัน นั่นคือการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมโหฬาร จนกระทั่ง ร.4 แทบไม่สามารถแสดงบทบาทสำคัญสุดของพระมหากษัตริย์ไทยได้ นั่นคือองค์อุปถัมภ์สูงสุดในเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ครอบคลุมชนชั้นนำทั้งหมด

จึงเกิดการต่อรองต่อสู้กันมาในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งต้องดึงเอาพลังสนับสนุนจากไพร่, เจ๊ก และฝรั่งเข้ามาหนุนกันอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดก็มาถึงจุดลงตัวใน ร.5 แต่จุดลงตัวที่เกิดใหม่นี้ยังไม่หยุดนิ่ง เพราะมี “ปฏิวาท” (contradiction) ภายในมาก พูดภาษาที่ฟังรู้เรื่องกว่านี้คือมีความขัดแย้งภายในมาก แต่ไม่ใช่ขัดแย้งเชิงทะเลาะกันนะครับ “ปฏิวาท” หมายถึงสองด้านที่ขัดกันเอง เช่น เพื่อเสริมพระราชอำนาจ จึงต้องสร้างระบบราชการแบบใหม่ จะสร้างระบบราชการแบบใหม่ได้ก็ต้องส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ เมื่อระบบราชการมีคนที่มีความรู้เข้าไปทำงาน การรักษาอภิสิทธิ์ไว้กับกำเนิดย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ข้าราชการส่วนใหญ่ ดังนั้นแทนที่ระบบราชการจะเสริมพระราชอำนาจ ก็กลับเป็นตัวบ่อนทำลายพระราชอำนาจเสียเอง นี่แหละครับมันขัดแย้งกันในเชิงปฏิวาทมากกว่าทะเลาะกัน

ด้วยเหตุดังนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ก็ไม่ใช่แรงกระแทกที่แรงนักนะครับ แรงพอที่จุดซึ่งยังไม่ลงตัวต้องเคลื่อนที่บ้าง แต่ไม่ถึงกับพังลงมา ก็คิดดูแล้วกันนะครับว่า เมื่อคณะราษฎรยื่นรัฐธรรมนูญให้ลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับเติมคำว่า “ฉบับชั่วคราว” ต่อท้ายเฉยเลย คณะราษฎรก็ยอมเฉยเหมือนกัน

 

จุดลงตัวที่ยังไม่ลงตัวจึงต้องต่อสู้ต่อรองกันต่อไป จนถึงการรัฐประการ 2490 อำนาจของกลุ่มต่างๆ กลับเข้ามาต่อสู้ต่อรองกันในสถานะใหม่ จนเริ่มบรรลุจุดลงตัวไปทีละนิด แม้มีกลุ่มเกิดใหม่ขึ้น ระบบก็สามารถจัดการกับกลุ่มใหม่นี้ในสภาพลงตัวได้ บางกลุ่มก็ใช้กำลังอาวุธและความช่วยเหลือต่างประเทศกดดัน จนไม่อาจเข้ามาร่วมในดุลอำนาจของจุดลงตัวได้ เช่นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บางกลุ่มที่เกิดใหม่เช่นเจ้าสัว ก็สามารถดึงเข้ามาร่วมในสมดุลของจุดลงตัว แม้แต่เกิดการลุกฮือของประชาชนใน 1973 ก็ไม่ทำให้ระบบพังลง

ในระยะยาวแล้วคนชั้นกลางในเมืองกลับเป็นฝ่ายสนับสนุนดุลอำนาจในจุดลงตัวเก่า

แสดงว่า จุดลงตัวของไทยมีประสบการณ์และสมรรถภาพระดับหนึ่ง พอจะจัดการกับคนหน้าใหม่ได้ ทำให้การเกิดคนหน้าใหม่ไม่ทำให้จุดลงตัวที่ใกล้จะลงตัวพังทลายลง คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่รุ่นสุดท้าย ก็อาจผันแปรไปเหมือนคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปได้ในอนาคต

 

จุดลงตัวเริ่มเคลื่อนที่อย่างช้าๆ นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 มีสัญญาณว่าจะกีดกันหรือลดอำนาจของบางกลุ่ม (เช่น ทหาร) ลงไป พรรคการเมืองและนักการเมืองเข้ามาแบ่งอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้จุดลงตัวพังลงได้ แต่การรัฐประหารในปี 2557 พยายามทำให้ความสมดุลทั้งหมดกลับมาดังเดิม และพยายามที่จะทำให้ความสมดุลทั้งหมดบรรลุจุดลงตัวในที่สุด

ผมไม่ทราบหรอกว่า ในที่สุดสังคมไทยจะบรรลุจุดลงตัวที่คณะรัฐประหารเตรียมไว้ได้หรือไม่ แต่ทราบแน่ว่าผู้มีอำนาจคณะใดก็ตาม ที่ไม่มีความสามารถหยิบยื่น “การพัฒนา” ที่คนทั่วไปรู้สึกได้ให้แก่ประชาชน (แม้แต่การพัฒนาเบี้ยวๆ) ไม่มีทางที่จะครองอำนาจยืนยาวได้แน่ เพราะ “การพัฒนา” เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่ขาดไม่ได้ของจุดลงตัวแบบไทย

ดังนั้น อนาคตของไทยจึงมีเพียงสองทาง หนึ่งคือการปรับสมดุลกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ก้าวไปไหน เพื่อบรรลุจุดลงตัวที่พยายามไปให้ถึงมาเป็นร้อยปีแล้ว หรือสองมีแรงกระแทกจากภายในหรือภายนอก ที่มากพอจนทำให้จุดที่ใกล้สมดุลนี้พังทลายลงโดยสิ้นเชิง

จำเป็นต้องสร้าง equilibrium อันใหม่ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้