ต่างประเทศอินโดจีน สื่อใหม่ในลาว

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อทั่วโลกอย่างผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) เผยแพร่การจัดอันดับเสรีภาพสื่อใน 180 ประเทศออกมา

เสรีภาพสื่อในลาวถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 171 ใกล้อย่างยิ่งกับประเทศที่ไม่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุด

อาร์เอสเอฟให้เหตุผลเอาไว้ว่า สื่อในลาวตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว (แอลพีอาร์พี) ที่เป็นรัฐบาลโดยสิ้นเชิง แต่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า

“ชาวลาวตระหนักถึงความเข้มงวดกวดขันต่อสื่อที่เป็นของทางการมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงหันมาพึ่งพาอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากขึ้น” ในการรับรู้ข่าวสาร

ปัญหาก็คือ การพึ่งพาข่าวจากแหล่งออนไลน์และอื่นๆ ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมเช่นเดียวกัน อาร์เอสเอฟระบุว่า ในรัฐบัญญัติของลาวที่ประกาศใช้เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา มีบทบัญญัติชัดเจนว่า ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และประเทศชาติ ถือเป็นการกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึง “จำคุก”

แต่ทิศทางของการเสพ “สื่อใหม่” ของชาวลาวก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต, เฟซบุ๊ก และสื่อโซเชียลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไลน์, วอตส์แอพพ์ และวีแชต ผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน

 

หลายคนที่ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตรวจสอบหน้าจออยู่บ่อยๆ ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต้องการรับรู้พัฒนาการใหม่ๆ ของข่าวแต่ละเรื่อง รับรู้ข่าวใหม่ และเรียนรู้ “สัญญาณบ่งชี้” ใหม่ๆ ที่ “ชัดเจน” และ “เร็วกว่า” การเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์เพื่อรอรับรู้ข่าวสารจากทางการ

หนุ่มจากสะหวันนะเขตรายหนึ่งให้เหตุผลว่า “โทรทัศน์นำเสนอแต่ข้อมูลข่าวสารที่จำกัด อย่างข่าวค้ายาและอื่นๆ เท่าที่เกิดขึ้น ข่าวที่ออกอากาศมักไม่เคลียร์ และถูกเจ้าหน้าที่กลั่นกรองแล้ว” เท่านั้น

เขายืนยันว่าข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตยังไม่ถูกจำกัด เหตุผลเพราะ “ทางการยังไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่เราพบในอินเตอร์เน็ตได้”

สาวชาวลาวจากไซยะบุรีบอกว่า ชอบข่าวออนไลน์ เพราะเร็วกว่า มาจากแหล่งที่รู้ว่าเชื่อถือได้ และยังมีวิดีโอที่ออกอากาศกันสดๆ ทันเหตุการณ์

“ทีวีลาวแค่มานั่งอ่านข่าว แล้วก็ไม่ได้แสดงความจริงออกมา” เธอว่า พร้อมกับยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดโศกนาฏกรรม “เขื่อนแตก” ที่อัตตะปือขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์

“โซเชียลมีเดียเสนอข่าวเร็วมาก รายงานยอดผู้เสียชีวิต อัพเดตตลอดเวลา รัฐบาลลาวไม่ได้เปิดเผยอะไรทำนองนี้ออกมาจริงๆ”

เสียงสะท้อนทำนองนี้เกิดขึ้นและพบได้ทั่วไปในลาว เป็นเครื่องยืนยันการคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่เชื่อว่าจำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียในลาวปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นแบบพรวดพราด

 

เหตุผลหนึ่งนอกเหนือจากความต้องการข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ฉับไวและเป็นจริงแล้ว ยังเป็นเพราะผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่าย กำลังแข่งขันกันขยายเครือข่ายและปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น กว้างขวางขึ้นอีกด้วย

รายงานอย่างเป็นทางการของศูนย์อินเตอร์เน็ตแห่งชาติลาว ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เผยแพร่ออกมาในเดือนเมษายนนี้

คาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2019 นี้ จำนวนผู้ใช้สื่อเครือข่ายสังคมในลาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านคน คิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

จำนวนดังกล่าวมีแต่แนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่มีทิศทางที่จะลดน้อยลง

คำถามสำคัญก็คือ ในทัศนะของทางการลาว นี่คือพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ที่ดี หรือเป็นสัญญาณของการคุกคามกันแน่?