ไซเบอร์ วอทช์เมน : จาก “#ชัชชาติ #แม่ยายแห่งชาติ” จนมาถึง “#ฟ้ารักพ่อ” “แฮชแท็ก” เปลี่ยนเป็นพลังทางการเมืองได้?

“ฟ้ารักพ่ออออ”
“ฟ้ารักพ่อนะคะ…”
“พ่อก็รักฟ้า”

คลิปวิดีโอและคำที่ปรากฏอยู่บนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ อย่าง #ฟ้ารักพ่อ หรือ #พ่อก็รักฟ้า เป็นกระแสล่าสุด ที่เกิดขึ้นจากฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนขยายตัวจนเติบโตอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการปรากฏตัวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กับแกนนำพรรคเดินทางมาร่วมชมการแข่งขัน และได้พบปะกับนักศึกษารุ่นใหม่ของทั้งสองสถาบัน (รวมถึงการพบกันกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเบอร์ 2 ของพรรคเพื่อไทย)

เกิดภาพและกระแสร่วมท่ามกลางการเลือกตั้งของไทย ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีเหตุพลิกล็อกครั้งประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยรวมอยู่ด้วย แม้ที่สุดแล้วยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะเป็นยังไง ทุกคนจึงทำได้เพียงแต่จับตามองซีรีย์การเมืองนี้ด้วยข้อความว่า To be…continued

แฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ ที่เติบโตรวดเร็วนี้ หากอ่านความคิดที่ประกอบกับแฮชแท็กดังกล่าว กลับมีอะไรมากกว่าแค่ความนิยมชมชอบรูปลักษณ์ของนายธนาธร และกระแสนี้อาจพัฒนาจนยกระดับให้กลายเป็นพลังทางการเมืองได้

โดยเฉพาะการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ มีคนรุ่นใหม่ 7 ล้านคน กำลังจะมีส่วนร่วมเข้าคูหาครั้งแรกในรอบ 4 ปี

สัญลักษณ์เชื่อมคำ
สู่ปรากฏการณ์ทางการเมือง

คนที่ท่องโลกโซเชียลมีเดียกันจนเชี่ยวชาญ ก็ต้องคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ (#) ที่เรียกว่า “แฮชแท็ก” (Hastag) กันอยู่แล้ว

แต่สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่หรือรุ่นเก๋าที่เพิ่งหัดเล่น ก็อาจงงว่า ทำไมต้องมีเครื่องหมายสี่เหลี่ยมนี้ด้วย

สิ่งนี้เรียกว่าแฮชแท็ก (#) เป็นภาษาสัญลักษณ์ในโค้ดปฏิบัติการในโปรแกรม และโซเชียลมีเดียได้ออกแบบให้มีการใช้งานในลักษณะเหมือนกับการจัดหมวดหมู่ ช่วยเชื่อมต่อคำหลักในการค้นหา ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างประเด็นที่ต้องการให้คนสนใจและดึงเข้าร่วม และทำให้การค้นหาเรื่องราวต่างๆ บนโลกโซเชียลนั้นง่ายขึ้น เปรียบเหมือนช่องทางลัดในการสื่อสาร

แฮชแท็กนี้นอกจากเชื่อมคำเพื่อทำให้ค้นหาความเห็นของคนอื่นที่พูดถึงเรื่องนั้นๆ แล้ว แฮชแท็กยังรับใช้ในการสร้างกระแสให้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลกได้

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกระแส #Metoo ที่เรียกร้องให้ผู้หญิงกล้าสู้และต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ จนมาถึงประเด็นผู้ลี้ภัย #Refugee หรือเทรนด์เทคโนโลยี เช่น #iPhoneX

ส่วนการเมืองไทยภายใต้รัฐบาล คสช.และห้วงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้ มีการใช้แฮชแท็กสร้างประเด็นทางการเมือง สังคม ซุบซิบนินทา ดาราคนดัง จนมาถึงโฆษณาเลือกตั้งอยู่จำนวนมาก ไม่ว่า #เกาะโต๊ะ #เสือดำ #เลือกตั้ง #มึงมาไล่กูสิ #โป๊ะแตก #SaveHakeem มาถึงตัวนักการเมืองที่ถูกปลุกกระแส เช่น #ชัชชาติ #แม่ยายแห่งชาติ #ฟ้ารักพ่อ

แฮชแท็กนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ใช้โซเชียล ที่ให้ผลได้ทั้งบวกและลบ

 

แฮชแท็ก
ในฐานะเครื่องมือวัดพลัง
สนับสนุนทางการเมืองของไทย

ก่อนที่นักศึกษาทั้งหญิงและ LGBT เรียกด้วยเสียงออดอ้อนจนกลายเป็นแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ (ซึ่งมีที่มาจากคำพูดของตัวละครที่ชื่อ “เรยา” ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ฟ้า” เรียกสามี (ของคนอื่น) ว่า “พ่อ” เพราะอายุมากกว่าแต่หล่อและรวย แล้วเอามาเทียบกับธนาธรที่อายุ 40 แล้ว แต่ยังหล่อและรวยมาก) ก็เคยมีแฮชแท็ก #แม่ยายแห่งชาติ ซึ่งหมายถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย แม่ของน้องจินนี่-ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ สาวแว่นวัย 19 ที่หน้าตาทำเอาหนุ่มๆ คลั่งไคล้สาวแว่น ก่อนพร้อมใจขอโอชิน้องจินนี่ และเกิดกระแส “กาเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ” กันใหญ่โต แต่ผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดฐานเสียงสนับสนุนเลือกพรรคเพื่อไทยได้แค่ไหน ก็ยังให้คำตอบตอนนี้ไม่ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรียกว่าแทบไม่ต้องแฮชแท็กอยู่แล้ว เพราะระดับพลังถือว่า “โอพี” (ย่อมาจากโอเวอร์เพาเวอร์) มาก แต่ก็แฮชแท็กเพื่อทำให้เห็นฐานเสียงชัดยิ่งขึ้น นั้นคือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ที่ได้ฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

ใครอ่านการ์ตูน บากิ จอมประจัญบาน ก็รู้ว่าแปลงมาจากฉายาของ ฮันมะ ยูจิโร่ นักสู้ที่มีฉายา “สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” พลังการต่อสู้ที่เรียกว่าทำเอาโลกทั้งใบหนาวสั่นด้วยความกลัว

แต่นำเอามาใช้เรียกชัชชาติ ในสมัยเป็นรมต.คมนาคม ได้ปรากฎภาพเดินเท้าเปล่าถือถุงข้าวแกงเข้าวัดไปใส่บาตร และภาพดังกล่าวกลายเป็นไอคอนประจำตัวของชัชชาติ ตามด้วยภาพชัชชาติหลายแนวบนโซเชียล ตามด้วยสารพัดมีมเกี่ยวกับชัชชาติ หรือประโยคที่หยิบยกมาจนนึกว่าเป็นคำพูดของชัชชาติเองอย่าง “อ่อนหัด มีความตั้งใจ แต่ก็ยังอ่อนหัด” เป็นต้น

ที่น่าสนใจสำหรับเคสชัชชาติคือ ชัชชาติกลับชอบและสนุกที่คนเอาไปคอสเพลย์จนถึงทำการ์ตูนล้อเลียน หรือเขียนบรรยายสรรพคุณเชิงขบขันถึงพลังสุดเว่อร์วังจนคิดว่า “ตกลงนี่ชัชชาติหรือชัค นอร์ริส กันแน่?”

แม้ว่าชัชชาติจะลดบทบาทตลอดช่วงการบริหารของ คสช. จนทำให้กระแสบนโซเชียลแผ่วลงไปบ้าง แต่พอกลับมาอีกครั้งในฐานะนักการเมืองเต็มตัว อัตลักษณ์ของชัชชาติและกระแส #ชัชชาติ ได้กลับมาอีกครั้ง ในระดับที่มากขึ้นและยังทำให้เห็นถึงแตกต่างจากคราวก่อน

เพราะภายใต้คำบรรยายประกอบแฮชแท็กดังกล่าวนั้น มีความเชื่อ ความหวัง และความต้องการอยากให้ชัชชาติไปไกลถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ่อนอยู่

 

ส่วนธนาธรที่แจ้งเกิดกับกระแส #ฟ้ารักพ่อ เจ้าตัวยังงงในตอนแรกที่นักศึกษาเรียกนั้นคืออะไร แต่พอเข้าใจภายหลังก็ร่วมเล่นกับกระแสนี้ พร้อมกับชี้ชวนให้ “ฟ้า” ทุกคน ร่วมสนับสนุนพรรคและนโยบายด้วย ถือเป็นการเล่นเป็นกับกระแสมวลชน

แน่นอนว่า กระแสแรงแบบนี้ ย่อมมีทั้งคนชอบจากบรรดากลุ่มคนหนุ่มสาว และคนไม่ชอบ โดยเฉพาะจากผู้ใช้โซเชียลหัวอนุรักษนิยมและไอโอฝ่ายความมั่นคงที่จัดกลุ่มพรรคอนาคตใหม่เป็นเป้าหมาย ออกมาวิจารณ์ว่าหลงใหลหน้าตาหรือไม่มีความคิด แม้แต่คนดังอย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ถึงกับออกมาพูดกระแสคลั่งไคล้ตัวธนาธรของนักศึกษาว่า “ไร้รสนิยม” ไม่นับรวมการใส่ภาพและข้อความโจมตีตัวนายธนาธรทั้งมุมมองทางการเมืองและประสบการณ์ที่เคยร่วมชุมนุมโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ถูกเพจไอโอฝ่ายขวาโยงหลายเรื่องทั้งจริงและไม่จริง มาใส่สีตีไข่แบบไม่หยุดหย่อนเพื่อลดทอนกระแส

อย่างไรก็ตาม ชาวโซเชียลที่ชื่นชมตัวนายธนาธรและได้อ่านความคิดเห็นทำนองดูถูกความคิดพวกเขา ก็ออกมาตอบกลับความเห็นชนิดแสบคัน หนึ่งในความเห็นที่คนกดไลก์และแชร์มากที่สุด มาจากชาวโซเชียลคนหนึ่งที่เขียนว่า

“ไม่ต้องห่วงว่าฟ้าจะเลือกพ่อเพราะหน้าตา โดยที่ไม่ดูนโยบายหรอกค่ะ เค้าไม่ได้โง่ แต่ถ้าจะเลือกประยุทธ์แค่เพราะเกลียดทักษิณ อันนี้อ่ะเรียกว่าโง่”

แฮชแท็กจึงนับเป็นเครื่องมือบนโลกโซเชียล ในการรักษาและเชื่อมโยงความคิดของทุกคนเข้าด้วยกัน แต่ว่าลำพังพึ่งพาแฮชแท็กอย่างเดียวให้กลายเป็นกากบาทบนบัตรลงคะแนนนั้นยังไม่เพียงพอ

ยิ่งการเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมืองร่วมลงสนาม พรรคการเมือง นักการเมือง นโยบาย อุดมการณ์ ความคิด ก็มีส่วนสำคัญเท่าๆ กัน และต้องร่วมประสานเป็นหนึ่งในการทำให้ประชาชนชื่นชอบและตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองหรือนโยบายใครมากำหนดทิศทางประเทศ ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคต้องรู้ไว้ว่า

สิ่งที่พวกเขาต้องการและอยากเห็นนั้น ไม่ใช่เสียงหัวเราะหรือใบหน้าอมยิ้มเวลาเห็นหน้าตาหล่อสวยหรือคำพูดดีๆ ที่ปรากฏบนฟีดเพจโซเชียลหรือได้ยินจากเวทีปราศรัย แต่หากเป็นโอกาสและอนาคตในการมีชีวิตที่ดีกับประเทศนี้

หลังต้องทนรอคืนความสุขจากคนที่สัญญาหลายครั้งแต่กลับไม่ได้ทำจริงอย่างที่พูด…มานานเกินจะรอคอยได้แล้ว