กนกวรรณ มากเมฆ : ล้วงลึกการสะสม “แสตมป์” กับเรื่องลับๆ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

หากถามคนรุ่นใหม่ในสมัยนี้ว่า “งานอดิเรก” ของพวกเขาคืออะไร?

คำตอบที่ได้คงมีสารพัดสารเพ

แต่สำหรับยุคหนึ่ง งานอดิเรกที่เป็นที่นิยมมาก ถึงขนาดเป็นหนึ่งในตัวเลือกเวลาทำแบบสอบถามเกี่ยวกับงานอดิเรกก็คือ

“การสะสมแสตมป์” นั่นเอง

ถึงแม้การสะสมดวงตราไปรษณียากรนั้นจะเป็นที่นิยม

แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ลึกรู้จริงจนเรียกว่าเป็น “นักสะสมตัวจริง” ได้

ตั้งแต่เรื่องวิธีการเก็บสะสมแสตมป์ ไปจนถึง “มูลค่ามหาศาล” ที่ซ่อนตัวอยู่ในแสตมป์ที่พิมพ์ผิดพลาด

แต่ก่อนจะไปล้วงลึกเรื่องราวของแสตมป์ในแบบนักสะสม อาจต้องปูพื้นฐานเล็กน้อยเกี่ยวกับแสตมป์กันสักนิด

 

หลักๆ แล้วแสตมป์มี 2 ประเภทคือ แสตมป์ที่ระลึก หรือแสตมป์ที่ออกมาในโอกาสพิเศษ โดยจะมีจำนวนพิมพ์ที่แน่นอน เมื่อพิมพ์หมดแล้วจะไม่พิมพ์เพิ่ม

ส่วนแสตมป์อีกประเภทคือแสตมป์ที่ใช้ประจำวัน เป็นแสตมป์ทั่วไปที่ใช้ติดจดหมาย มีการกำหนดราคาให้ใช้กับพัสดุที่น้ำหนักแตกต่างกัน

เมื่อพิมพ์หมดแล้วก็พิมพ์เพิ่ม พิมพ์ซ้ำ ซึ่งบางครั้งในแต่ละรอบ บริษัทที่พิมพ์ก็เป็นคนละบริษัทกัน เนื่องจากสมัยก่อนแสตมป์เหล่านี้จะพิมพ์ที่ต่างประเทศ ซึ่งจะมีบริษัทตัวแทนในประเทศไทยไปยื่นประมูลที่ไปรษณีย์ไทย บริษัทใดประมูลได้ในราคาต่ำสุดก็จะได้พิมพ์ชุดนั้นไป

แต่เมื่อแสตมป์ชุดนี้พิมพ์หลายครั้ง หากจะประมูลได้บริษัทเดิมทุกครั้งก็อาจถูกกล่าวหาว่าผูกขาดได้ จึงต้องมีการยื่นซองประมูลกัน ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีความสามารถในการพิมพ์แตกต่างกันไป

ทำให้แสตมป์ที่ออกมาแต่ละชุดเกิดความแตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่คนไม่เล่นแสตมป์จริงๆ อาจจะไม่รู้

หรือบางครั้งก็เกิดความผิดพลาด ซึ่งคนในวงการสะสมแสตมป์เรียกว่าแสตมป์ตลก

แต่กลับเป็นแสตมป์ที่มีมูลค่าสูงมากเลยทีเดียว เพราะกลายเป็นของหายาก

 

อย่างเช่น แสตมป์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่การพิมพ์มีการเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ ทำให้รอยปรุของฟันแสตมป์ผิดปกติ เช่น ไม่มีรอยปรุ หรือการปรุฟันของแสตมป์ไม่ลงตามสัดส่วนที่กำหนด เป็นต้น

แสตมป์ตลกไม่เพียงพบในแสตมป์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ในแสตมป์ที่ระลึกเองก็มีด้วย

ที่โด่งดังเลยคือแสตมป์ที่ระลึก 200 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลิตขึ้นในปี พ.ศ.2517 พิมพ์ผิดจากคำว่า Baht เป็นคำว่า Bath ที่แปลว่าอาบน้ำ

ส่วนไฮไลต์ที่ใครๆ ต้องพูดถึง แสตมป์พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ราคาดวงละ 2 บาท ที่มองเผินๆ อาจไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกัน แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเลยว่าลายกนกที่ล้อมรอบหน้าของพระวรวงศ์เธออยู่นั้น มีการเวียนในทิศทางที่แตกต่างกัน

 

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุมาจากการที่ไทยเราส่งแสตมป์ไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ เวลาไปทำเป็นเพลตพิมพ์ โรงพิมพ์นำรูปพระพักตร์ไปทำเพลตหนึ่ง และขอบลายกนกก็ทำอีกเพลตหนึ่ง พอเอามาขึ้นแท่นพิมพ์ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องวางเพลตในทิศทางไหน จึงทำให้เกิดความผิดพลาด

แต่ความผิดพลาดนี้เองที่ทำให้แสตมป์ชุดนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และจะมีราคาแพงยิ่งกว่า หากแสตมป์ที่ถูกกับแสตมป์ที่ผิดอยู่ติดกัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีการเก็บแสตมป์ให้ถูกวิธีนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจในวงการสะสมแสตมป์อีกเรื่องก็คือ “วิธีการเก็บ”

ในมุมมองของนักสะสมตัวยงอย่าง “ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์” ที่สะสมแสตมป์การบินไทยจนได้รางวัลจากการประกวดมาแล้ว

เขาบอกว่า วิธีที่มือใหม่ทั้งหลายใช้ อย่างเช่น การไปละลายน้ำ หรือการตัดออกจากซองนั้นไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่เป็นการทำให้แสตมป์นั้นไม่มีมูลค่าต่อการนำไปใช้ประกวด

จะเอาไปขายเก็งกำไรก็อาจจะได้ราคาน้อยกว่าที่ควรจะได้

 

วิธีการที่ดีในการเก็บแสตมป์สำหรับนักสะสมคือ ต้องเก็บทุกช่วงราคา

เช่น หากแสตมป์ชุดนี้มีราคา 2 บาท, 7.50 บาท, 8.50 บาท และ 9.50 บาท ก็ต้องเก็บทุกราคาแบบที่ยังไม่ประทับตราด้วย หรือหากเก็บแสตมป์แบบที่มีการประทับตรา ก็ต้องเป็นตราประทับในวันแรกจำหน่าย ซึ่งจะมีค่ามากขึ้นหากเป็นตราประทับบนซองที่เกิดจากการส่งจริงในวันแรกจำหน่าย ดังนั้น วิธีการเก็บแสตมป์ที่มีตราประทับที่ถูกต้องก็คือ ต้องเก็บไว้ทั้งซองนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือซองจดหมายและการติดแสตมป์สมัยก่อน ที่ไม่ได้ติดด้านหน้าซองกันอย่างเราๆ แต่จะไปติดไว้ที่ด้านหลัง ปิดทับจุดเปิด-ปิดซองจดหมาย เพราะกลัวจะถูกเปิดซองจดหมาย ซองจดหมายในสมัยก่อนจึงเป็นสิ่งที่นักสะสมชื่นชอบ

โดยนอกจากแสตมป์แล้ว ตราประทับเองก็สำคัญมาก

บางครั้งซองจดหมายที่มีมูลค่าสูง กลับกลายเป็นซองที่ถูกประทับตราจากที่ทำการไปรษณีย์ที่มีความพิเศษของตัวเอง

เช่น มีตราสวยๆ หรือเป็นที่ทำการที่อยู่ไกลมากๆ หรือเป็นวันที่เลขสวย เช่น 09-09-09

ซึ่งการจะได้มาซึ่งวันที่เลขสวย ก็จะต้องรอให้ถึงวันนั้น และนำซองที่เราต้องการไปให้ที่ทำการไปรษณีย์ประทับให้ ไม่สามารถประทับล่วงหน้าหรือย้อนหลังได้

“แต่ที่น่าเสียดายคือ ไปรษณีย์ไทยยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่งานสะสมกลับยิ่งหายหมด เมื่อก่อนการประทับตราตั้งแต่ต้นทางนั้นจะประทับตราให้อ่านได้ชัดเจน ตราประทับก็สวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว” ชูเกียรติบอก

นักสะสมแสตมป์ตัวยงยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเก็บอีกอย่างในวงการนี้คือ Royal Mail หรือจดหมายราชสำนัก โดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีการใช้ตราไปรษณียากร ของพวกนี้นักสะสมจะต้องไปตามหาจากตลาดยุโรป ซึ่งมีราคาแพงมาก

บางครั้งมูลค่าอาจถึงหลักล้าน เพราะบางฉบับจะมีลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 4 ด้วย

ถึงแม้ปัจจุบันความนิยมในการสะสมแสตมป์จะลดลงไปบ้าง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากยุคการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “แสตมป์” ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรค่าและน่าเก็บสะสมอยู่เสมอ

ด้วยเพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่บันทึกเรื่องราว

ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ที่บางครั้งหลายคนอาจลืมเลือนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์