ชวนคุยกับ “ดุลยภาค ปรีชารัชช” โฟกัส “เสนาธิปัตย์” คุมเกมการเมืองเปลี่ยนผ่านปี 2562 กับผลลัพธ์ “อำนาจนิยม” อม “ประชาธิปไตย”

“ในรัฐที่กลุ่มชนชั้นนำมีความสลับซับซ้อนตามประวัติศาสตร์การเมือง เดี๋ยวมีเลือกตั้ง เดี๋ยวมีรัฐประหาร มีการตั้งกลุ่มที่หลายคนก็คาดไม่ถึง แล้วก็สร้างความขัดแย้งเรื้อรังขึ้นในประเทศ จนเป็นเงื่อนไขให้มีพลังพิเศษก้าวเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง จึงแปลกอยู่บ้าง หากจะล็อกกรอบวิเคราะห์การเมืองไทยปี 2562 ให้อยู่แค่เส้นทางการเลือกตั้งตามระบบที่ไม่มีเหตุฉุกเฉิน อันหมายถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ร่วมกับ ส.ว.แต่งตั้ง เพื่อเลือกนายกฯ แล้วตั้งรัฐบาล”

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เริ่มต้นฉีกกรอบวิจารณ์ที่มุ่งไปยังการถอดรหัส “คณิตศาสตร์การเมือง” หลังการเลือกตั้ง 2562 พร้อม “ฉายภาพ” กว้างตามทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ ว่า ขั้นตอนของ “การพัฒนาประชาธิปไตย” จะสัมพันธ์กับ “เอกภาพชาติ” โดยเฉพาะ “รัฐกำลังพัฒนา” อย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีปัญหาเรื่อง “สร้างรัฐสร้างชาติ” ที่รัฐแบบนี้มักจะเอา “เอกภาพชาติ” เป็นตัวตั้ง

โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็น “ปริศนาการเมือง” ใน “อุษาคเนย์” ที่มีปัญหาเรื่อง “เอกภาพชาติ” เกิดจาก “2 สมการ” กำลังต่อสู้กันคือ

1. มีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ วิจารณ์กันเต็มที่ ดูประหนึ่งไร้กฎระเบียบ มีค่าเท่ากับ “อนาธิปไตย” ทำให้เกิดการควบคุมยากลำบาก

2. มีกฎระเบียบ ปราศจากประชาธิปไตย มีค่าเท่ากับ “เผด็จการ” คือใช้กฎหมายเข้ามาปกครองรัฐ แต่ไม่เปิดสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

“ถ้ารัฐใดรัฐหนึ่งอยู่ในสมการทั้งสองนี้ สุดท้ายมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัว เพราะหากเน้นประชาธิปไตยมาก แต่ไม่มีระเบียบรัฐก็อยู่ไม่ได้ เป็นปัญหา “เอกภาพชาติ” ซึ่งนี่คือสิ่งที่กองทัพไทย “เคลม” อยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์การเมือง “แล้วก็เอาอยู่”

เพราะเมื่อให้เลือกระหว่าง “การมีประชาธิปไตย” กับ “บ้านเมืองสงบไม่ตีกัน” หลายคนเลือกแบบหลัง”

 

ดุลยภาคมองว่า “เอกภาพชาติ” ของไทยตอนนี้ “ชนชั้นนำ” ที่ครองรัฐเป็นศูนย์รวมความเป็นปึกแผ่นในชาติมีปัญหา จึงมี “กลุ่มขั้วการเมืองใหม่” ขึ้นมาแข่งขันกันยาวนาน ระหว่าง “ขั้วนายทักษิณ” กับ “ขั้วรัฐประหาร” แต่ “สำนึกรวมหมู่” ที่จะกลายเป็น “ฉันทามติ” ร่วมกัน เพื่อออกแบบ “สถาบันประชาธิปไตย” ให้ประเทศมีเสถียรภาพยังไม่เกิดขึ้นเต็มที่

ขั้นสุดท้ายที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็น “ปึกแผ่น” ก็ยังไกลอยู่ เพราะ “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ยัง “ไม่ส่งออก” ไปให้สังคมไทยทั้งหมดได้รับรู้อย่างลึกซึ้งว่า “เรารักประชาธิปไตย”

บางที “การรัฐประหาร” ยังมองกันว่าเป็น “วีรกรรมของพระเอก” บางฝ่ายไม่อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์แพ้เลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

ซึ่ง “การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ในปัจจุบันนั้นจะมีลักษณะจาก “บนลงล่าง” โดย “ขุนพลเสนาธิปัตย์” และ “ชนชั้นนำทหาร” ที่เป็นผู้ “ออกแบบสถาบันทางการเมือง” ที่จะเกิดขึ้น ผ่านโครงสร้างของ “รัฐธรรมนูญ” และ “กลไกการเลือกตั้ง”

ดุลยภาคอธิบายว่า นี่เป็นมุมหนึ่งในการมองจาก “ชนชั้นนำ” ทว่าการมอง “การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน” ก็ต้องมีมุมมองจาก “กลุ่มมวลชน” ประกอบด้วย ซึ่งจะมี Scenario หลัก 4 แบบคือ

1. ชนชั้นนำเหนียวแน่น มวลชนอาจไม่ชอบ แต่ไม่ได้ “ต่อต้าน-เรียกร้อง” ประชาธิปไตย

ผลลัพธ์คือ “อำนาจนิยม” อยู่ต่อ และ “ยิ่งมีเสถียรภาพ” เพราะชนชั้นนำแนบแน่น

2. ชนชั้นนำทะเลาะกัน ไม่ลงตัว แต่มวลชนก็ยังไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตย

ผลลัพธ์คือ “อำนาจนิยม” ยังอยู่ แต่ “ไม่มีเสถียรภาพ” เพราะชนชั้นนำมีรอยร้าว

3. ชนชั้นนำเหนียวแน่น แต่มวลชนอยากได้ประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ออกมาเดินขบวนแสดงพลังกดดันให้มีประชาธิปไตย

ผลลัพธ์คือ “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” พออยู่กันได้ พลังเรียกร้องประชาธิปไตยสูง แต่ชนชั้นนำเหนียวแน่น ยังหวงอำนาจ อาจก่อให้เกิดการ “ตอบโต้” และ “ต่อรอง” ได้

4. ชนชั้นนำทะเลาะกัน “ขาดเอกภาพ” แล้วมวลชนอยากจะ “ลุกฮือ” เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมาก

ผลลัพธ์คือ ประชาธิปไตย เพราะชนชั้นนำอ่อนแอ แต่เป็นประชาธิปไตยที่ไร้เสถียรภาพ เพราะอำนาจรัฐต้องถ่ายโอนไปยังชนชั้นนำไม่มากก็น้อย ถ้าชนชั้นนำไม่มีเอกภาพ จะทำให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพได้อย่างไร

แล้ว “โฉมหน้าการเมืองไทยปี 2562” มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

 

ดุลยภาคคาดการณ์ว่า การเมืองไทยสามารถขยับออกมาเป็น “โมเดลที่ 5” ได้ ถือเป็นความพิเศษ เพราะตอนนี้ชนชั้นนำ ผมว่าเหนียวแน่น โดยเฉพาะ คสช. ใน “กลุ่มชนชั้นนำทหาร” อย่าง “บูรพาพยัคฆ์” ทั้งอาจมี “ดีล” กับ “กลุ่มชนชั้นนำอื่น” ด้วย ไม่มีรอยร้าวเท่าไร

ด้านมวลชน ผมว่าผสม มีทั้ง “กลุ่มเอาประชาธิปไตย-ไม่เอาเผด็จการ” ออกมาเรียกร้องกันกระฉับกระเฉง

กับ “กลุ่มเฉยๆ” ยังไงก็ได้ และ “กลุ่มเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์”

“เมื่อชนชั้นนำเหนียวแน่น มวลชนมีทั้งอยากได้-ไม่อยากได้ “ประชาธิปไตย” ผลลัพธ์คือ “อำนาจนิยม” ที่มีองค์ประกอบของ “ประชาธิปไตย” มากขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็น “ประชาธิปไตยนำอำนาจนิยม” เพราะมวลชนไม่ได้เพรียกหาประชาธิปไตยทั้งหมด ผมไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่ “เอาประชาธิปไตย” หรือ “เอาเผด็จการ” อันเป็นลักษณะพิเศษของคนไทย”

ทว่าทุกอย่างยังมี “พลวัต” กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง 2562 ก็ยังมีปัจจัยแปรเปลี่ยนไปได้อีกเยอะ หากมี Critical Moment อะไรบางอย่าง ทำให้มวลชนกลุ่มอื่นๆ เปลี่ยนใจ เทคะแนนให้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” การเมืองการปกครองก็จะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แล้วก็ต้องกลับมาดูฝั่งชนชั้นนำว่า จะ “สมยอม” กับ “กลุ่มที่ชนะการเลือกตั้ง” มากน้อยแค่ไหน การเมืองไทยก็จะถึง “จุดหันเหทางประวัติศาสตร์” ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง