ไซเบอร์ วอทช์เมน : มอง คำสั่ง คสช.16/61 ยืดเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง ย้อนความเป็นมา Gerrymandering ยุทธวิธีโกงคะแนนสุดเนียน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ในราชกิจจานุเบกษา เนื้อหาสรุปว่า ตามที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กำหนดว่า เมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจาฯ ให้ กกต.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศให้แล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครครั้งแรก

ต่อมา กกต.ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และประกาศ กกต. เรื่องจำนวน ส.ส.เขต ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยที่การแบ่งเขตนั้น พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้พรรคและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น

แต่เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองร้องเรียนมาว่าการร่วมแสดงความเห็นยังไม่หลากหลายครบถ้วน การพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ไป กกต.ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขณะที่กำหนดเวลาการทำงานของ กกต.เร่งรัดเข้ามา ทำให้เกิดคำสั่งที่ว่านี้ และแน่นอนว่า ผลที่ตามมาคือเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม คสช.ออกมากล่าวว่า จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป เกิดเสียงร้องเรียนจากหลายพรรคโดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ร้องเรียนกับ กกต.ขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปว่ายังจัดตั้งพรรคไม่เสร็จ

แต่ที่น่าสนใจคือ คำสั่งล่าสุดนี้ เปิดให้ กกต.ใช้เวลาที่ยืดออกไป แบ่งเขตการเลือกตั้งได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องฟังเสียงความเห็นจากประชาชน

และกลายเป็นความฉงนสงสัยต่อการเลือกตั้งที่ คสช.ออกแบบขึ้นอีกครั้งด้วย

 

อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์ ดาราคนเหล็กและอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวปราศรัยหน้าตึกศาลสูงสุด หลังเสร็จสิ้นการให้การกับศาลเกี่ยวกับการยกเลิกการแบ่งเขตแบบ Gerrymandering

ไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้เห็นโพสต์หนึ่งซึ่งเป็นของเพื่อนสนิทที่อยู่สหรัฐมานานระดับเรียกว่าคลุกคลีกับการเมืองสหรัฐเป็นอย่างดี เพราะเคยร่วมแคมเปญหาเสียงให้กับรีพับลิกันด้วย เพื่อนผู้เขียนโพสต์เรื่องเกี่ยวกับ Gerrymandering

พลันได้เห็นคำนี้ ก็นึกถึงตอนที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ดารายอดคนเหล็กและอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจากค่ายเดโมแครต เคยให้สัมภาษณ์กับไวซ์นานมาแล้ว เกี่ยวกับกลวิธีชิง ส.ส.เขตที่เรียกว่า Gerrymandering (อ่านว่า “เจอร์รี่แมนเดอริ่ง”) ว่าทำให้เสียงของประชาชนที่ลงคะแนนไปไม่เป็นไปตามความต้องการ และอาร์โนลด์เตรียมรณรงค์เพื่อให้ยุติวิธีดังกล่าวที่ลดคุณค่าเสียงของประชาชน

เพื่อนของผู้เขียนให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ “Gerrymandering” ว่าเป็น “การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอยุติธรรม” หรือ “การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อที่จะให้พรรคที่ตนเองเชียร์อยู่ได้เปรียบหรือเป็นฝ่ายชนะขึ้นมา”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

กรอบไอเดียโดยสังเขปของวิธีแบ่งเขตตามปกติกับแบบ Gerrymandering

ที่มาของ Gerrymandering ต้องย้อนสมัยที่นายเอลบริดจ์ เจอร์รี่ (Elbridge Gerry) เป็นผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้ทำการผ่านกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พรรคชื่อว่า Democratic-Republican เป็นพรรคชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาในรัฐของตนเมื่อปี ค.ศ.1812

วิธีการของผู้ว่าฯ เจอร์รี่ที่ใช้ในเวลานั้น เป็นเรื่องที่แหวกแนวมากๆ จนมีการนำเอาชื่อของเขามาสนธิกับสัตว์ในนิยายชื่อ Salamander ซึ่งมีความผูกพันเกี่ยวกับแม่มดหมอผีและเวทมนตร์ต่างๆ รวมทั้งรูปร่างของเขตการเลือกตั้ง กลายเป็นรูปคล้ายๆ สัตว์ประหลาดในตำนานอีกด้วย ก็เลยกลายเป็นการใช้คำว่า Gerry + mander เข้าไป ด้วยการตัดคำว่า Sala ออก

ก็เลยกลายเป็นเรื่องของ Gerrymander ไปโดยปริยาย

วิธีแบบ Gerrymandering ถูกใช้กันอย่างเผยแพร่แทบทุกรัฐ เป็น “ความได้เปรียบ” ของผู้ครองตำแหน่งเดิม (Incumbent) อยู่แล้ว โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งจะเลือกคนเดิมอยู่ต่ออีกสมัยหนึ่ง

เพื่อนของผู้เขียนยกตัวอย่างเบื้องต้นว่า โอกาสที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. (House of Representatives) ของ US ในแต่ละเขต มีน้อยกว่า 50% จากการเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะผู้ครองตำแหน่งจะได้รับคะแนนจากประชาชนที่ชื่นชอบตนเองเป็นทุนอยู่แล้ว (ถ้าไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ หรือห่วยแตกจริงๆ ผู้คนเขาก็ “กา” ให้ เพราะทำหน้าที่ผู้แทนได้ดี มีผลงานให้ประจักษ์ อย่างนี้เป็นต้น)

ส่วนวิธีการใช้ Gerrymandering นั้น ลองยกตัวอย่าง การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ในเขตภาคอีสาน เพื่อช่วยเหลือให้พรรค A สามารถชนะการเลือกตั้งได้ในอนาคต

เราจะเห็นว่า พรรค A ได้ ส.ส.หนึ่งคน แต่พรรค B ได้ ส.ส. 2 คน การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งเพื่อช่วยพรรค A คือ ขยายพื้นที่ของภาคอีสานมาคลุมอยู่ในภาคกลาง ด้วยการนำเอาข้อมูลที่เห็นว่า ฝ่ายที่เลือกพรรค A จับกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่แถบไหนบ้าง จากนั้นก็ทำการออกแบบ สร้างเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้พื้นที่กินเข้ามาในเขตที่คนเลือกพรรค A กัน (ในภาคกลาง)

แต่มันก็จะมี Give and Take อยู่ คือ พรรค A จะได้คะแนนเพิ่ม และทางการจะเห็นว่า ต้องโยนคะแนนไปให้พรรค B สำหรับภาคกลางที่ชนะขาดลอยเช่นกัน คือ วาดเส้นไปยังพื้นที่ที่มีคะแนนเสียงของพรรค B คลุมอยู่แล้ว ก็ให้ชนะขาดกันไปเลย

แต่ Bottom line คือ แทนที่พรรค A จะได้ ส.ส.คนเดียว ในอนาคตก็จะมีโอกาสได้ ส.ส.สองคน ที่ได้คะแนนเพิ่มมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ส่วนพรรค B ก็ได้ ส.ส.เก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่คะแนนมากขึ้นในเขตเก่าหรือภาคเก่าเท่านั้นเอง

ก็คงจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมพื้นที่ที่มีประชากรเป็นน้ำเงิน ถึงสามารถแพ้การเลือกตั้งได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการนำเอาการปฏิบัติแบบ Gerrymandering เข้ามาใช้นั่นเอง

 

ไม่เพียงเท่านี้ สัดส่วนของประชาชนในพื้นที่รวม (ของเขตเลือกตั้ง) มีอิทธิพลในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย สมมุติเขตการเลือกตั้งของภาคอีสาน ทำให้พรรค A แพ้คะแนนไปประมาณ 500 เสียง องค์กรที่มีอำนาจแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ สามารถย้ายเขตหรือตำบล หมู่บ้านอื่นๆ เข้ามาผนวก จากภาคกลาง (ที่ทราบว่าลงคะแนนให้พรรค A) จนกระทั่งมั่นใจว่ามีคะแนนเสียงอย่างน้อยเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว (อันนี้ถือว่าเป็นการ Take (เอาคะแนน))

เมื่อมีการ Take เกิดขึ้น ก็ต้องมีการ Give (ให้) เพื่อให้สมดุลกับที่ Take มา ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งในภาคอีสาน ซึ่งเลือกพรรค B อยู่แล้วให้แทน

เพราะฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โอกาสที่พรรค A จะชนะในภาคอีสานจะมีมากขึ้น เพราะคะแนนจะเทมาอยู่ที่พรรค A แทน เนื่องจากไปอยู่เขตการเลือกตั้งใหม่ ส่วนภาคกลางนั้น พรรค B ก็จะชนะแบบขาดลอย เพราะได้คะแนนเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง

นี่เป็นยุทธวิธีของเรื่องการ Lose the battles, but win the war คือ ยอมแพ้สงครามย่อย แต่ชนะสงครามใหญ่แทน

ส่วนพรรคไหนคือพรรค A พรรค B ผู้อ่านลองเดากันดู

 

พอพลันศึกษาสิ่งที่เพื่อนผู้เขียนระบุไป ความเสียหายอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะไม่ได้เห็นหน้า ส.ส.ที่ตัวเองเลือกให้เป็นตัวแทน และถ้าหากย้ายสำมะโนครัวหรือย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในพื้นที่ของพรรคที่ตัวเองเชียร์ก็ยิ่งยุ่งยากไปอีก

ถ้าเราติดตามข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งมานาน พ.ร.ป.ส.ส.ที่กินเวลาร่างมานานรอจนเบื่อ การประกาศเลื่อนเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้ง การตั้งพรรคการเมืองของนักการเมืองที่สนับสนุน คสช.อย่างเปิดเผย การประกาศเขตเลือกตั้งที่ทำให้จำนวน ส.ส.ในพื้นที่อีสานและกรุงเทพฯ ลดลง และการดึงนักการเมืองจากค่ายต่างๆ มาร่วมพรรค ประกาศตัวอย่างเอิกเกริก แล้วมาล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำสั่งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ให้หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับรอง แต่อย่าลืมว่า สนช.ก็เป็นผู้ที่ คสช.เลือกมา จึงเรียกได้ว่า มีเวลาในการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งต่อได้อีกจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว

รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กระบวนการการเลือกตั้ง องค์กรที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง ยุทธการบั่นทอนคะแนนเสียงสนับสนุนและการพุ่งเป้าตัดกำลังพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย จนต้องแตกเซลล์เป็นพรรคย่อย แล้วมายืดเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งออกไปอีกแบบนี้ ไม่นับคำสั่ง คสช.บางฉบับที่ยังคงกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่

ก็เป็นอันหายข้อสงสัยแล้วว่า ต่อให้อ้างว่าผ่านตามวิถีแบบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งเป็นแบบควบคุมครอบงำ คสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่