อาการหัวปะทุ, นอนหลับต้านอำนาจรัฐ และประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ในมุมมอง “อภิชาติพงศ์”

คนมองหนัง

“Artes Mundi prize” คือรางวัลซึ่งมอบให้แก่บุคลากรในแวดวงศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร

ล่าสุด มีการประกาศรายนามศิลปิน 5 คน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลประจำปี 2018 ออกมาแล้ว

หนึ่งในนั้นได้แก่ นักทำหนัง/ศิลปินวิดีโอชาวไทย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

คณะผู้จัดงานระบุว่า ภาพยนตร์ที่มีลักษณะประดุจดั่งภาพฝันและต้องใช้สมาธิในการรับชมของอภิชาติพงศ์ นำพาคนดูไปสำรวจตรวจตราผีแห่งอดีตของประเทศไทย, พื้นที่เปลี่ยนผ่านของความทรงจำและอัตลักษณ์ รวมถึงจิตสำนึกและความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของที่ทุกคนมีร่วมกัน

ในการนี้ เว็บไซต์ “เดอะ การ์เดียน” ได้เผยแพร่รายงานพิเศษ/บทสัมภาษณ์หัวข้อ “The man with the exploding head : the director inspired by his medical condition” (บุรุษผู้มีอาการหัวปะทุ : แรงบันดาลใจที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้รับจากภาวะป่วยไข้ของเขา)

ซึ่ง “ฮันนาห์ เอลลิส-ปีเตอร์เซน” เดินทางไปสนทนากับอภิชาติพงศ์ ที่บ้านพัก ณ จังหวัดเชียงใหม่

เบื้องต้น เอลลิส-ปีเตอร์เซน เลือกพูดถึงปรากฏการณ์ที่ชาวตะวันตกหลายรายมักนำมาใช้เป็นกรอบอ้างอิง ในการประเมินผลงานของอภิชาติพงศ์

นั่นคือการฉายภาพความขัดแย้งทางวิธีคิดที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ตลอดจนในโลกทัศน์ของอภิชาติพงศ์เอง ซึ่งปรากฏชัดผ่านภาวะขัดกันระหว่างความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ กับระบบเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

“ถึงแม้ว่าผมจะพยายามทำความเข้าใจโลกด้วยมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ผมก็ไม่สามารถสลัดอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อว่ามีวิญญาณต่างๆ วนเวียนอยู่รอบตัวเราออกไปได้” อภิชาติพงศ์กล่าว และว่า “ผมรู้สึกว่าเมื่อตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขียวขจี ผมจะสามารถสื่อสารกับต้นไม้ทั้งหลาย สื่อสารกับความทรงจำของผืนป่า และสื่อสารกับตัวเองได้อยู่เสมอ”

จากมุมมองของ “คนนอก” เอลลิส-ปีเตอร์เซน ยังตระหนักถึงความขัดแย้ง-การผสมผสานระหว่างคู่ตรงข้ามมากมายภายในสังคมไทย

ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติแบบโบราณ ซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่กับภาวะทุนนิยมสมัยใหม่ชนิดเข้มข้น

การเป็น “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร ขณะที่บางพื้นที่ของประเทศ เช่น ภาคอีสาน ยังมี “บาดแผล” อันเกิดจากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อครั้งกระโน้นตกค้างอยู่

ไปจนถึงสภาพการณ์ที่คนไทยราว 95% นับถือศาสนาพุทธ แต่กลับมีพระสงฆ์ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตฉ้อโกงทรัพย์สินจำนวนมหาศาล หรือมี (อดีต) พระสงฆ์ที่ถือกระเป๋าหลุยส์วิตตองขณะโดยสารบนเครื่องบินส่วนตัว ประเด็นอื้อฉาวเหล่านี้ล้วนย้อนแย้งกับแนวคิดต่อต้านลัทธิวัตถุนิยมซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นแก่นธรรมของพุทธศาสนา

อภิชาติพงศ์อธิบายว่า หนังของเขาพยายามปอกเปลือกความขัดแย้งต่างๆ อันแสนซับซ้อนในสังคมไทย แล้วนำเสนอสภาวะเหล่านั้นออกมาอย่างนุ่มนวลแต่ไม่ประนีประนอมยอมความ

“ในประเทศนี้ มันเต็มไปด้วยสัจจะ ความเป็นจริง หลายระดับชั้นมากๆ”

อภิชาติพงศ์บอกและบรรยายต่อว่า “(ในบางด้าน) บ้านเมืองพัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว แต่พอมาถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศนี้มีการปราบปรามคนเห็นต่าง ขณะเดียวกัน มันก็เปี่ยมล้นความมีชีวิตชีวา ผมรู้สึกลุ่มหลงในความลักลั่นดังกล่าว”

อีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ในรายงานพิเศษชิ้นนี้ คือ ลักษณะการทำงาน ซึ่งอภิชาติพงศ์พยายามนำสภาพปัญหาส่วนบุคคลเกี่ยวกับ “ร่างกาย-สุขภาพ” มาดัดแปลงเป็นเนื้อหา-วิธีการต่อสู้ผ่านศิลปะภาพยนตร์

ระหว่างพัฒนาโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดอย่าง “Memoria” ซึ่งวางแผนจะไปถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบียและนำแสดงโดย “ทิลดา สวินตัน”

อภิชาติพงศ์ค้นพบว่าตนเองป่วยเป็นโรค “หัวปะทุ” โดยมีอาการได้ยินเสียงดังมากมายในหัวและมองเห็นแสงสว่างวาบต่างๆ จนส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับเสื่อมทรุดลง

ผู้กำกับฯ รางวัลปาล์มทองคำค่อยๆ แปรความเจ็บป่วยให้กลายเป็นองค์ประกอบในหนังยาวเรื่องใหม่ เขาเข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับบรรดาแพทย์และนักจิตวิทยาถึงอาการที่เกิดขึ้น

แล้วจึงเริ่มสนใจในแนวคิดว่าด้วยบาดแผลทางจิตใจ, ความเจ็บปวดรวดร้าว และความทรงจำ

ขณะเดียวกัน หลายคนคงจับทางได้ว่าระยะหลังๆ อภิชาติพงศ์มักจะนำเสนอภาวะ “หลับใหล” ในภาพยนตร์และงานวิดีโอศิลปะของตนเอง

เจ้าตัวเฉลยผ่านบทสัมภาษณ์ในเดอะ การ์เดียน ว่า สำหรับเขา “ภาวะนอนหลับ” ของมนุษย์ คือ “อาณาเขตแห่งการต่อต้านขัดขืน” ที่อำนาจรัฐมิอาจก้าวล่วงเข้ามาเซ็นเซอร์หรือกระทำการข่มขู่ปราบปรามใดๆ ได้

ด้านหนึ่ง อภิชาติพงศ์ยังไม่หมดหวังกับประเทศไทยเสียทีเดียว

เขาเปิดเผยให้เอลลิส-ปีเตอร์เซน ฟังว่า ตัวเองอยากรวมกลุ่มคนทำภาพยนตร์สารคดีชาวไทย นอกจากนี้ ผู้กำกับฯ ซึ่งมักถูกตีตราว่าเป็น “คนทำหนังอาร์ต” ยังต้องการจะสร้างหนังสยองขวัญแนวฆาตกรโรคจิต (อีกหนึ่งตระกูลภาพยนตร์ที่เขานิยมชมชอบ)

ทว่าในทางการเมือง อภิชาติพงศ์ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรดีงามขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“ห้าปีที่แล้ว ผมยังมองโลกในแง่บวกมากๆ แต่ตอนนี้ ผมกลับไม่มีความหวังมากนักต่ออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของตัวเอง”

“ในประเทศไทย มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก” นี่คือข้อสรุปสั้นๆ ของนักทำหนังชื่อดังระดับโลก

  • เนื้อหาจาก
  • https://www.theguardian.com/film/2018/oct/24/the-man-with-the-exploding-head-the-director-inspired-by-his-medical-condition?CMP=share_btn_fb
  • http://www.artesmundi.org/exhibitions-prizes/artes-mundi-8#judges
  • ภาพประกอบจาก http://www.kickthemachine.com