รายงานพิเศษ : 42 ปี “6 ตุลา 2519” เมื่อโลกออนไลน์ช่วยเขียนประวัติศาสตร์ สู้พลังบังคับให้ถูกลืม

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน


เหตุสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กับอำนาจเพื่อทำให้ถูกลืม ด้วยเหตุเพราะเป็น “บาดแผล” ต่อฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าผู้กระทำหรือผู้สูญเสีย ที่มีทั้งยิ่งลืมยิ่งจำหรือลืมยากแต่จำไม่ลง เป็นความลักลั่น กระอักกระอ่วน ที่ไม่สามารถพูดได้เต็มปากถึงความเกลียดชังผลักดันให้มนุษยชาติกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดร้ายทารุณ

จนถึงตอนนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกบรรจุไว้น้อยมาก หรือไม่ระบุถึงในตำราเรียนหลักสูตรการศึกษาภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์ได้เปลี่ยนโฉมการรับรู้และพื้นที่องค์ความรู้ใหม่ๆ และเป็นโอกาสที่ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกบังคับให้ลืมนี้ มีโอกาสเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง บอกเล่าให้กับคนที่เล่นโซเชียลมีเดียหรือท่องโลกอินเตอร์เน็ตเข้ามาคลิกอ่านและรับรู้

จากการสำรวจบนโลกออนไลน์ ความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมตั้งแต่ 2-11 ตุลาคมของทุกปี

โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความสนใจต่อเรื่องราว 6 ตุลาคม 2519 เพิ่มขึ้น 25% มีเพียงช่วงปี 2559 พุ่งสูงเต็มร้อย ด้วยปีนั้นเป็นวาระ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 เพราะมีกิจกรรมรำลึกกินเวลาหลายวัน รวมถึงบทสัมภาษณ์จากสื่อ โพสต์ข้อความต่างๆ ที่นำเสนอเหตุการณ์นี้

อีกทั้งอัตราความสนใจต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เพิ่มขึ้นยังกระตุ้นเพิ่มความสนใจต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535

รวมถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ปี 2553 นำไปสู่การเข้าถึงของผู้ท่องเว็บ-โลกโซเชียล มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ถกเถียง รวมถึงด่าทอ โจมตีต่างๆ อีกมาก

โลกออนไลน์ได้ทำให้เหตุการณ์ทางการเมืองที่ยากจะปรากฏในตำราเรียนหรือหนังสือทั่วไป มีสีสันและเติมเต็มเรื่องราวที่ขาดหาย หรือบางมุมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ถูกเปิดเผยและมีมากขึ้นด้วยหลักฐานและข้อมูลใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบในเวลาต่อมา

 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ในกิจรรมรำลึก 42 ปี 6 ตุลา 19 ได้มีการนำเสนอรายงานสืบค้น “เรื่องที่สูญหาย…จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19” โดยคณะทำงานของ “บันทึก 6 ตุลา” ที่ทำเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา ซึ่งมีอายุครบ 1 ปี หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2560 ว่ามีเรื่องราวใหม่ๆ จากการสืบค้นอะไรบ้าง

น.ส.ภัทรภร ภู่ทอง หนึ่งในคณะทำงาน บันทึก 6 ตุลา กล่าวว่า ในบรรดาหลายภาพที่เราถูกนำขึ้นไป รวมถึงภาพชายเอาเก้าอี้ฟาดชายที่ถูกแขวนคอ ที่เป็นภาพรางวัลพูลิตเซอร์ แต่ภาพเหล่านี้ผ่านมา 42 ปี ได้บอกเล่าอะไรบ้าง เรายังไม่รู้ชื่อของบุคคลในภาพเหล่านี้ ไม่ว่าคนถือเก้าอี้ คนถูกแขวนคอ ฝูงชนที่ยืนมุง เราไม่ทราบว่าพวกเขาเป็นใคร

หรือเราเองยังเข้าใจผิดภาพชายถูกแขวนคอคนนี้คือวิชิตชัย อมรกุล นักศึกษารัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ที่จริงไม่ใช่

“ทำไมเราถึงต้องดูภาพนี้ เพราะโครงการบันทึก 6 ตุลา เริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” เราเหมือนกับว่า เราน่าจะรู้อะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลา 19 เยอะมากมาย แต่ที่จริงเรารู้อะไรบ้าง” น.ส.ภัทรภรกล่าว

 

นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อีกหนึ่งในคณะทำงานบันทึก 6 ตุลา ได้กล่าวเหตุผลถึงความเข้าใจต่อเรื่องราว 6 ตุลา 19 ว่า เรารู้กันน้อยมาก และเรื่องที่เคยรู้อาจเป็นเรื่องที่ผิดก็เป็นได้ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการสืบค้นอย่างจริงจัง อาจเป็นเรื่องที่พูดกันปากต่อปากแต่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง ผู้เสียชีวิตบางคนในภาพเราอาจเข้าใจผิดมาตลอด ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามอื่นๆ ตามมาที่เราเคยเชื่อว่าเป็นจริงใน 6 ตุลา

น.ส.ภัทรภรกล่าวอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือ คิดว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลา 19 ยังคงเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” “ละเอียดอ่อน” กระทบต่อผู้คนหรือองค์กรที่ยังอยู่ในขณะนี้ หรืออีกอย่างคือ เรารู้จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายนักศึกษา-ประชาชนจากเอกสารชันสูตรพลิกศพ

แต่เมื่อถามลึกลงไป เรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตทั้ง 46 คนบ้าง ขณะที่พวกเขามีชีวิตอยู่ พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน ความฝัน ความหวังระหว่างมีชีวิตอยู่เป็นยังไง ความรุนแรงรัฐที่ผ่านมา เราจะจดจำแค่ตัวเลข แต่ชีวิตที่ถูกพรากไป เรารู้จักน้อยมาก

“การทำแหล่งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ความรุนแรง ที่ไม่ใช่แค่ 6 ตุลา 19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ตามมา และการทำบันทึกข้อมูล 6 ตุลา เป็นการต่อสู้กับความพยายามทำให้ลืมเหตุการณ์หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ และการสื่อสารถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในไทย” น.ส.ภัทรภรกล่าว

 

ในส่วนเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ได้รวบรวมทั้งภาพถ่าย รายงานชันสูตรพลิกศพ คำให้การในศาล ข่าวสารตามหนังสือพิมพ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ที่ไม่เคยได้ยินชื่อ เช่น “ชาวไทย” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนวขวาจัดอีกฉบับ นอกจาก “ดาวสยาม” ที่สะท้อนความพยายามในการสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม

นายปราบยังกล่าวว่า เราได้เปลี่ยนวิธีคิดในการทำบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลา 19 จากเดิมเราจะทำช่วง 6 ตุลาของปีเพื่อรำลึก แต่พอมีข้อมูลมากขึ้น เราเปลี่ยนโจทย์ใหม่ว่า ทำยังไงให้เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สามารถถูกพูดถึงได้ตลอดปี ตลอดเวลา หากยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ มักจะแสดงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีข้อมูลใหม่ ดังนั้น เราจะทำยังไงให้คนสามารถเข้ามาดูได้เรื่อยๆ

ซึ่ง “บันทึก 6 ตุลา” เหมือนพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ จึงใช้วิธีคิดนี้ในการสื่อสารเกี่ยวกับ 6 ตุลา

ยกตัวอย่างเรื่องราวเกี่ยวกับเหยื่อความรุนแรงรายอื่นนอกจากที่เรารู้จักกันดีทั่วไป อย่างกรณี วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ เป็นนักศึกษาปี 3 คณะพยาบาลศาสตร์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทำหน้าที่หน่วยพยาบาลก่อนถูกยิงเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาขณะว่ายน้ำหนี

พอเราเผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เราแปลกใจมาก พบว่ามีเพื่อนของเขาเข้ามาคอมเมนต์และคนในโรงเรียนแพทย์แชร์ไปจำนวนมาก

“ยังมีเหยื่อความรุนแรงอีกมาก ที่เรายังไม่รู้เรื่องราวของพวกเขา สิ่งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญก็คือ โครงการนี้กำลังแข่งกับเวลา เราจะมีโอกาสเจอคนรุ่นเดือนตุลาและได้สัมภาษณ์พวกเขาอีกสักกี่ปี ข้อมูลต่างๆ จากคนรอบข้าง ญาติผู้เสียชีวิตไม่สามารถหาได้ง่ายเหมือนหนังสือพิมพ์ นี่เป็นหนึ่งในความท้าทายที่คณะทำงานเจอ จึงเชิญชวนใครที่มีเบาะแส สามารถบอกมาได้”

นายปราบกล่าว

 

นายปราบยังกล่าวถึงความน่าสนใจของหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลานั้นว่า หากเราสังเกตสื่อออนไลน์ตอนนี้ ก็จะมีการทำสรุปข่าวประจำสัปดาห์ว่ามีพาดหัวอะไรบ้าง เราจึงลองทำบ้าง ถ้าดาวสยามมีเพจของตัวเองและทำสรุปข่าว ข่าวที่น่าสนใจรอบสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น 2-7 กันยายน 2519 เราจะเจอความเหมือน เช่น “กรุงเทพอัมพาตฝนตกหนัก ถนนจมน้ำรถติดนานเป็นชั่วโมง” ผ่านมา 40 ปี เราอาจไม่ไปไหนเท่าไหร่

และไม่ใช่แค่นั้น ข่าวต่างประเทศ อย่าง ปธน.ฟอร์ด เสนอกฎหมายห้ามต่างด้าวทำงาน มันสอดคล้องกับ ปธน.ทรัมป์ สกัดคนต่างด้าวเข้าสหรัฐเพราะกลัวแย่งงาน

หรือพาดหัว “สร้างชาติใหม่ “สงัด” ขอ 4 ปี ปฏิรูปกองทัพ-ปชช.-เศรษฐกิจ”” ไอเดียเดียวกัน มุขเดียวกันกับ “ขอเวลาอีกไม่นาน”

“เราอยากนำเสนอว่า บันทึก 6 ตุลา มันไม่ใช่สามารถสืบเรื่องแค่ 6 ตุลา แต่ยังรวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์อีกมากที่ทำให้เรารู้บริบทสังคมสมัยนั้นได้อีกมาก” นายปราบกล่าว

 

“บันทึก 6 ตุลา” นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการทำให้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 มีเรื่องราวที่มากมายและหลายแง่มุมด้วยมุมมองที่ต่างออกไป ร่วมกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียอีกหลายคนที่โพสต์ถึงเหตุการณ์เป็นเรื่องเล่า หรือโพสต์ภาพชุดต่างๆ รวมถึงคลิปเสียงของ “ทมยันตี” หรือคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักประพันธ์ชื่อดัง ที่พูดผ่านวิทยุยานเกราะ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

โลกออนไลน์เป็นพรมแดนอันไม่จำกัดที่ให้ความรู้หรือเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งถูกจัดให้เป็นสิ่งที่ถูกลืมหรือต้องห้าม ได้มีที่ทางให้ยืนหยัดและจดจำ

เพื่อระลึกและเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้การกระทำอันทารุณเกิดขึ้นอีก