มุมหนึ่งของอาเซียน ณ ปัจจุบัน และอนาคตข้างหน้า

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“อาเซียนคือ สิ่งมหัศจรรย์สมัยใหม่ที่ยังคงมีชีวิตและลมหายใจ ทำไม? ก็เพราะไม่มีองค์กรระดับภูมิภาคอื่นใดทำมากเท่ากับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในพื้นที่กว้างแห่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ประชากรกว่า 600 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ได้เห็นอย่างโดดเด่น ในช่วง 50 ปีตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้น อาเซียนได้นำสันติภาพและความรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคที่มีปัญหายุ่งยาก ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างอารยธรรมขึ้นในส่วนที่มีความหลากหลายมากที่สุดและนำความหวังมาสู่ประชาชนจำนวนมาก อาเซียนยังเป็นตัวเร่งสำคัญให้จีนก้าวขึ้นมาอย่างสันติ (peaceful rise) อาเซียนจึงควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งต่อไปยิ่งกว่าบุคคลหรือสถาบันอื่นใดขณะนี้”

Kishore Mahbubani and Jeffrey Sng
The ASEAN Miracle A Catalyst for Peace (2018) introduction

 

มุมหนึ่งของอาเซียน

คํากล่าวเกี่ยวกับอาเซียนซึ่งเข้าใจง่ายมาจากการบรรยายของ Kishore Mahbubani และ Jeffrey Sng ในงานเปิดตัวหนังสือที่เขาทั้งสองเขียนและแปลคือ อาเซียน สิ่งมหัศจรรย์ผู้สร้างสรรค์สันติภาพ (1) จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 3 สิงหาคม 2561

ท่านอดีตเอกอัครราชทูตกิชอร์ มาห์บูบานี ได้พูดประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น กล่าวคือ

ประการที่ 1 อาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคสมบูรณ์แบบหรือไม่ ไม่ใช่แน่นอน อาเซียนยังคงไม่สมบูรณ์แบบอย่างมาก แต่กำเนิดมาในช่วง 1960-1970 ซึ่งน่าจะล้มเหลวเพราะมีสงครามเวียดนาม ปัญหาความขัดแย้งในรัฐ sabar ของฟิลิปปินส์ สิงคโปร์เพิ่งแยกตัวออกจากมาเลเซียและทั้งสองฝ่ายความรู้สึกด้านเชื้อชาติรุนแรง อินโดนีเซียก็อยู่ท่ามกลางการทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งพ่ายแพ้ต่อเผด็จการทหารจนมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์

นี่อาจเป็นเพราะ “โชค” ของการตั้งอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ที่เหมาะสมและการเล่นกอล์ฟ กล่าวคือ เมื่อผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงพูดกันไม่ได้ในห้องประชุมและโต๊ะเจรจา พวกเขาเลยต้องไปคุยกันในสนามกอล์ฟ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เอเชียตะวันออกตอนเหนือคือ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีนและไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างมากทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังรวมตัวกันไม่ได้อย่างอาเซียน

นี่เป็นคำถามว่า “ปัจจัยทางเศรษฐกิจ” ไม่ได้ช่วยก่อให้เกิดการบูรณาการ (integration) ในภูมิภาคแบบอาเซียนได้

ข้อน่าสังเกตประการต่อมาคือ อารยธรรม (Civilization) อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม แล้วทุกอารยธรรมก็มาที่อาเซียน ทั้งอินเดีย จีนและมุสลิม ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกคือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ศาสนาเดียวกัน ชาติพันธุ์เดียวกัน ภาษาใกล้เคียงกัน แต่ทำสงครามกันเองและเป็นสงครามที่ไม่มีวันจบ

ประการที่ 2 ความเข้มแข็งของอาเซียนปรากฏอยู่ในความอ่อนแอของอาเซียนนั่นเอง อาเซียนจึงปรากฏตัวขึ้นเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพบปะเจรจาของมหาอำนาจในเอเชีย แปซิฟิก ก็คือ อาเซียนอ่อนแอเกินกว่าจะคุกคามต่อผู้ใด

ดังนั้น มหาอำนาจทั้งหลายโดยสัณชาตญาญแล้ว จึงไว้ใจอาเซียน

 

อาเซียน : ปัจจุบันและวันข้างหน้า

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ของท่านอดีตทูตกิชอร์ มาห์บูบานี และเจฟฟรีย์ และฟังการบรรยายของทั้งสองท่านในวันนั้นแล้ว ผมได้คิดต่อไปอีกสักนิดเกี่ยวกับอาเซียน

ทั้งนี้ ที่ผมเขียนผมคิดของผมเองว่า เราไม่ควรมองอาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่หยุดนิ่ง (static)

พร้อมกันนั้นควรมองอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของ พลังขับเคลื่อน (driving force) ภูมิภาค อันทำให้เรามองภาพเป็นจริงของอาเซียนที่มีพลวัต (dynamic) มีชีวิต อันทำให้เราเห็นสิ่งท้าทายมากมาย

ที่สำคัญพลวัตของอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ไปมากับทุน เทคโนโลยี วัฒนธรรมเก่าและร่วมสมัย

รวมทั้งรัฐชาติในอาเซียนและมหาอำนาจจากภายนอก

 

ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผมคิดว่ามีสิ่งท้าทายอาเซียนที่สุดอยู่ 2 ประการคือ

ประการที่ 1 การทำงานร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา-สาธารณรัฐประชาชนจีนกับอาเซียน ทว่าตอนนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ใช่ก้าวขึ้นมาหรือ rise แต่ทะยานขึ้นทั้งทุน เทคโนโลยี พลังอำนาจทางทหาร การแผ่ขยายทั่วทิศทางทั่วโลกแม้จะไม่พร้อมกัน ประสบความสำเร็จ แต่บางทีก็ล้มเหลว สำหรับผม สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจก้าวไปเป็นผู้วางกรอบระเบียบโลกใหม่ (New world order) ภูมิภาคไหนในโลกย่อมหลีกพ้นยาก แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นข้อต่อหลักของระเบียบโลกใหม่ทั้งกายภาพ ทุน เทคโนโลยีและวัฒนธรรม

ประการที่ 2 ผู้นำรุ่นปัจจุบันของอาเซียนล้วนแต่มุ่งเน้นไปที่ภายใน (domestic) มากกว่าภูมิภาค (regional) สมัยซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย และลี กวน ยู แห่งสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเผด็จการที่เป็นมรดกจากยุคอาณานิคม เขาและพรรคพวกก็ทำงานเชิงภูมิภาคเพื่อสร้างระเบียบการเมืองเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีเสถียรภาพ แต่ผู้นำปัจจุบันของอาเซียนเป็นผู้นำเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งแบบอำนาจนิยม (authoritarianism) ผสมประชานิยม (populism) แบบจอมปลอม แล้วใช้การปกครองทั้งแบบแข็ง (strong) และอ่อน (soft) ให้รางวัลและไม้เรียวครอบงำประชาชน แต่ทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง (Cronyism)

ดังนั้น ในแง่การปกครอง อาเซียนเป็นองค์กรของผู้นำและคนชั้นสูงในสมัยหนึ่ง มาตอนนี้พลวัตของทุน เทคโนโลยี ระเบียบระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนและยุ่งเหยิง รวมทั้งแรงกดดันจากกติกา “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” บีบบังคับให้ผู้นำอาเซียนตอนนี้ซึ่งก็เป็นเผด็จการประดิษฐ์โครงการภูมิภาค

แต่ก็เป็นแค่ inter governmental project แต่ไม่ใช่ people project

 

อาเซียนอีก 50 ปีข้างหน้า

หากเรายังเข้าไปอ่านความคิดเห็น ข้อมูลและรายงานจาก social media ต่างๆ จะมีภาพเชิงลบ (negative) ต่ออาเซียนมากกว่าเชิงบวก อย่างเทียบกันไม่ได้เลย แต่มี 2 อย่างที่เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ของอาเซียน

อย่างแรกคือ สองเศรษฐกิจใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียจะก้าวเข้ามาอีกครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิด multi civilization ซึ่งก็มาจากการลื่นไหลของผู้คนไปๆ มาๆ หรือ flow มากกว่า civilization แบบดั้งเดิม อันนี้จะก่อเกิดความยุ่งยากเชิงการจัดการ multi civilization

อย่างที่สอง ประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ แต่ด้วยพื้นฐานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของคนชั้นกลางที่มีความต้องการทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ (new generation) ที่มีวิธีคิดและพฤติกรรมอันประกอบสร้างจาก social media คนเหล่านี้มิได้เพิ่มแต่ปริมาณ (แน่ละผู้สูงวัยก็มีมากด้วย) โดยคุณภาพและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพลังอันมหาศาลกดดันรัฐชาติและผู้นำของพวกเขาเอง อันส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ผลลัพธ์อาจซับซ้อนกว่าคำว่าประชาธิปไตย แต่น่าจะเป็นการมีส่วนร่วมที่เข้มข้น เป็นทุนนิยมแต่เป็นทุนนิยมที่ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ระบบพวกพ้องยังคงมีอยู่แต่จะถูกตรวจสอบจากองค์กรภายใน หรือชนชั้นนำแตกแยกกันเอง รวมทั้งการติดตามการฟอกเงินและเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินเกิดขึ้นต่อไปด้วยพลังของ social media

เราควรช่วยกันคิดอนาคตอาเซียนและภูมิภาคอีกหนึ่งทศวรรษ ส่วนอีก 50 ปีข้างหน้า เป็นบททดลองของผมเองครับ

——————————————————————————————————————
(1) แปลจาก The ASEAN Miracle A Catalyst for Peace แปลโดย ดร.ธีระ นุชเปี่ยม และ ดร.ประพิน นุชเปี่ยม (กรุงเทพ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2561)