นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมใช้เวลาทั้งวันที่ 6 ตุลาคมในปีนี้ เพื่ออ่านงานวิจัยของ ดร.อัมพร จิรัฐติกร เรื่อง ละครไทยกับผู้ชมอาเซียน, วัฒนธรรมศึกษาของสื่อข้ามพรมแดนในอาเซียน ได้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากทีเดียว

หนึ่งในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ผู้ชมละคร (โทรทัศน์) ไทยในเวียดนามและจีน ต่างมีความเห็นว่า คนชั่วในละครไทยจะได้รับผลกรรมทันตาเห็น ผิดจากละครเกาหลี ซึ่งคนชั่วก็ยังมีส่วนดีบ้าง และมักลงเอยที่ความสำนึกผิดบ้าง, ถูกจับติดคุกบ้าง, ความละอายต่อผู้คนบ้าง ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ชมละครไทยในเวียดนามและจีนคิดว่า เกิดจากการที่คนไทยนับถือพุทธเถรวาท จึงเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม

คำอธิบายนี้จะใช้ได้หรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะหนังอเมริกันปัจจุบัน คนชั่วก็มักตายอย่างสยดสยองพอๆ กัน… แต่หนังอเมริกันยังอ้างได้ว่า ครั้งหนึ่งไม่ได้พล็อตให้กรรมติดจรวดขนาดนี้ นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่เพื่อสร้างความสะใจแก่คนดูอเมริกัน ซึ่งเลิกดูหนังในฐานะเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะไปนานแล้ว ไม่ต่างจากคนดูละครโทรทัศน์ไทย ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่าละครโทรทัศน์ (อาจ) เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าละครไทยจะสะท้อนความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่ก็ตาม ทำให้ผมย้อนคิดไปเมื่อสมัยเป็นเด็ก ดูเหมือนคนไทยสมัยนั้นเชื่อกฎแห่งกรรมอย่างแน่นแฟ้น แม่ผมจะพูดเสมอว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และพี่ชายผมคนหนึ่งซึ่งไม่เคยใส่ใจกับเรื่องปรัชญาของศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น บอกผมว่า ในส่วนของเขาแล้วศาสนามีอย่างเดียวเท่านั้น คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่คือศาสนาของเขา… จบ

ผมไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้ไว้อย่างไร แต่ได้เคยเห็นพุทธภาษิตทำนองว่าหว่านพืชอะไรลงไป ก็พึงหวังผลว่าจะได้พืชนั้นขึ้นมาอย่างแน่นอน ฟังดูก็คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนะครับ แต่ท่านจะหมายคำว่า “ได้ดี”-“ได้ชั่ว” ว่าอย่างไรนี่สิครับ คงเถียงกันได้

และนับตั้งแต่ผมยังไม่เป็นหนุ่มดี ก็ได้ยินคนดังๆ ในเมืองไทยเถียง หรือนำเสนอการตีความตรงได้ดี-ได้ชั่วนี้กันหลายคน สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือตีความให้ได้ดี-ได้ชั่ว เป็นการได้สิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เช่น ได้ดีคือได้ความสบายใจ ได้ใจที่เป็นกุศล ซึ่งจะให้พลังในการทำดียิ่งๆ ขึ้นไป ตักบาตรก็กล่อมใจให้รู้จักการให้ที่บริสุทธิ์ (เริ่มต้นให้ทานแก่พระภิกษุ ก็ต้องให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่หยิบยื่นสิ่งของให้คนจนด้วยใจโอหัง) อาจถูกลอตเตอรี่ด้วยก็ได้นะครับ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายให้ทำดี ได้ชั่วก็เหมือนกัน จิตใจที่ว้าวุ่นหลังจากทำชั่วมา ทำให้เสียสุขภาพกายและใจ หากแก้ความว้าวุ่นผิดอีก ก็ทำให้เคยชินกับการทำชั่วจนใจด้านกับความดีความชั่ว ยากจะกู้ใจและตัวคืนได้

บางคนไปไกลถึงขนาดที่ว่า ได้ดีคือสังคมและมนุษยชาติได้ดีแน่ และได้ชั่วคือสังคมและมนุษยชาติได้ชั่วแน่ เมื่อสังคมและมนุษยชาติดีขึ้นจากการทำดีของเรา ลูกหลานเราก็จะมีชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้น

ทำไมจึงสนใจจะหาคำอธิบายในเรื่องที่เคยเชื่อกันมาอย่างแน่นแฟ้น? ก็เพราะความเชื่อที่ว่าแน่นแฟ้นนั้นมันชักจะคลอนคลายลงล่ะสิครับ เช่น มักพูดกันสมัยที่ผมเริ่มหนุ่มว่า คนชั่วจำนวนมากได้ดิบได้ดีเห็นๆ อยู่ จะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมได้อย่างไร

โดยปราศจากความรู้ทางศาสนาหรือปรัชญา ผมออกจะสงสัยว่าความเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้น ออกจะเป็นฐานที่ขาดไม่ได้ในระบบศีลธรรมแบบพุทธ (อย่างน้อยก็พุทธไทย) มากเสียยิ่งกว่าในศาสนาอื่น ผมขออธิบายเหตุผลดังนี้ครับ

 

ระบบศีลธรรมใดๆ ก็ตาม ย่อมตั้งอยู่บนฐานของการให้รางวัล (ขึ้นสวรรค์, เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า, พระอินทร์ลงมาช่วย ฯลฯ) และการลงโทษ (ตกนรก, ได้รับภัยทางธรรมชาติหรือสังคม, ธรณีสูบ, ฯลฯ) ทั้งนั้น แต่เมื่อความคิดทางศาสนาพัฒนาไปมากขึ้น ความคิดทางศาสนาก็เข้ามาให้คำอธิบายทางศีลธรรมที่สอดคล้องกับอุดมคติของศาสนา ไม่ปล่อยให้ศีลธรรมตั้งอยู่บนฐานของความโลภและความกลัวเท่านั้น

ยกตัวอย่างจากพุทธศาสนาแบบไทยนะครับ ทำไมเราจึงควรทำความดี เหตุผลที่สอดคล้องกับอุดมคติทางศาสนาก็คือ ทำให้จิตใจของเราผ่องใสและละเอียดอ่อนมากขึ้น จนรับรู้รสพระธรรมได้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ ด้วยความโลภ, โกรธ, หลงที่น้อยลง จนในที่สุดก็บรรลุความหลุดพ้น ไม่ในชาตินี้ก็ชาติหน้า

คำอธิบายศีลธรรมแบบพุทธไทยที่สอดคล้องกับอุดมคติทางศาสนาเช่นนี้ พบได้นับตั้งแต่ในศิลาจารึกไล่มาถึงหนังสือเทศน์ที่พิมพ์แจกงานศพหรือขายทั่วไป แต่ขอประทานโทษเถิด ผมไม่เคยได้ยินใครสอนศีลธรรมด้วยการอธิบายแบบนี้ในชีวิตจริงเลย แม้เราพบหลักฐานจำนวนมากว่าเป็นความเชื่อพื้นฐานของชาวพุทธไทยในอดีต เช่น บริจาคทานก็มักอธิษฐานว่าจะเป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุพระนิพพานหรือยุคพระศรีอาริย์ (ซึ่งเป็นยุคที่ใครๆ ก็บรรลุพระนิพพานได้ง่าย)

ผมจึงออกสงสัยว่า คำอธิบายทางศีลธรรมของคนไทยสมัยก่อนคงไม่ใช่ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่น่าจะเป็นอย่างที่เขาบันทึกลงหินหรือกระดาษสามากกว่า แต่เพิ่งมาเปลี่ยนในสมัย ร.5 ลงมา เมื่อมีการ “ปฏิรูป” ศาสนาเพื่อทำให้ฝรั่งเคารพนี่เอง ท่านสมัยนั้นไม่อยากเน้นอุดมคติทางศาสนาของพุทธไทย (คือพระนิพพาน) เพราะเกรงว่าฝรั่งจะดูหมิ่น จึงหันมาให้คำอธิบายแก่ศีลธรรมด้วยประโยชน์ในโลกนี้ที่จะได้แก่ผู้ปฏิบัติ เช่น ทำดี (หรือทำตามธรรมะที่ตั้งเป็นหมวดว่าคิหิปฏิบัติ) แล้ว ก็จะได้รับความนับถือจากผู้คน, ตั้งฐานะทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัวได้, มีความสุขความเจริญในทางโลกและโลกย์ด้วยประการต่างๆ ในชาตินี้

สรุปลงให้เหลือว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็ถูกต้องไม่ใช่หรือครับ เพียงแต่ได้ดีได้ชั่วตามวิถีทางของโลกในชาตินี้ ทุจริตคดโกงจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จริง แต่ไม่ได้รับความนับถืออย่างจริงใจจากใคร หรือคนจำนวนมากในสังคมรังเกียจ ถึงได้เป็นนายกฯ ก็ใช่จะถือว่า “ได้ดี” ล้วนๆ แต่เป็นทุกขลาภเสียมากกว่า

แต่คำอธิบายศีลธรรมแบบนี้ต้องมาพร้อมกับการศึกษาแผนใหม่นะครับ ดังนั้น ผมจึงแทบไม่เคยได้ยินคำอธิบายแบบนี้ที่ไหนนอกห้องเรียนวิชาศีลธรรมเลย และสมัยที่ผมยังเป็นเด็กและหนุ่มนั้น การศึกษาแผนใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่ ร.5 ก็หาได้แพร่หลายในเมืองไทยนัก ไม่ตลอดมา

 

“ทําดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จึงมีความหมายที่ตื้นลงไปอีก คือเป็นผลกรรมทางรูปธรรมที่เกิดอย่างตรงไปตรงมาทีเดียว คนที่เคยยิงนกจนขาหักตอนเป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นบวชพระแล้ว ไปเจิมป้ายยังตกบันไดลงมาขาหักชดใช้กรรมจนได้ นิทานที่เล่าเรื่องกฎแห่งกรรมที่ตรงไปตรงมาประหนึ่งกฎทางฟิสิกส์เช่นนี้ ขายดีในสมัยที่ผมใกล้เป็นหนุ่มสืบมาจนกลายเป็นคนแก่

ทำให้ศีลธรรมของพุทธไทยแบบชาวบ้าน ไม่มีคำอธิบายที่สอดคล้องกับอุดมคติทางศาสนาอีกต่อไป ดังนั้น หากคนเริ่มแคลงใจไปจนถึงเลิกเชื่อเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แบบที่เป็นรูปธรรมตรงไปตรงมา ก็หาเหตุผลทางศีลธรรมมาทดแทนไม่ได้ สมัยผมเริ่มหนุ่มความแคลงใจเรื่องนี้เริ่มจะแพร่หลายในสังคม นักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยนั้นจึงต้องมาอธิบายเรื่องกฎแห่งกรรมให้เป็นนามธรรมเสีย เพื่อช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของกฎแห่งกรรมชาวพุทธไทยต่อไป

ผมอยากจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นในโลกสมัยใหม่ว่า เขาอธิบายศีลธรรมกันอย่างไร ผมคิดว่ากล่าวอย่างกว้างๆ แล้วมีสองทาง หนึ่งคือทำอย่างที่นักการศึกษาสมัย ร.5 ไปลอกเลียนมา นั่นคือทำให้ศีลธรรมมีเหตุผลทางสังคมหรือทางโลกนี้ให้หมด ในสังคมตะวันตกซึ่งลงทุน (ทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน) กับการศึกษาแผนใหม่มาก คำอธิบายแบบนี้ย่อมแพร่หลายทั่วไปในสังคมของเขา

ในแง่หนึ่งก็ดีนะครับ เพราะหากผูกความดี-ความชั่วไว้กับเหตุผลทางสังคมและโลกนี้แล้ว เราก็สามารถสถาปนามาตรฐานความดีใหม่ไปตามสำนึกซึ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ได้ด้วย เช่น สิทธิเสมอภาคของผู้หญิง และมนุษยชน, สิทธิของสัตว์และระบบนิเวศน์, ความโปร่งใสในกิจการสาธารณะ, สิทธิแรงงาน ฯลฯ ทำให้ศีลธรรมเป็นระบบที่มีชีวิต คือปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์ของโลก ดีกว่าศีลธรรมที่ผูกอยู่กับศาสนาซึ่งมักจะถูกแช่แข็งไปด้วย

แต่ในอีกแง่ที่ผมต้องเตือนไว้ด้วยก็คือ ยิ่งเราเน้นเรื่องสังคมและโลกนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ศีลธรรมไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับอุดมคติทางศาสนาเท่านั้น จนในที่สุดแล้วก็คือศาสนาหมดบทบาทหน้าที่ไปโดยสิ้นเชิง ยิ่งมีศีลธรรมมาก ก็อาจจะยิ่งห่างไกลจากศาสนามากขึ้นก็ได้ ศีลธรรมและศาสนาแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดในวัฒนธรรมของสังคมแบบตะวันตก

 

ในกรณีของเมืองไทย ศีลธรรมของไทยสมัยใหม่ก็ผูกกับอุดมคติทางศาสนาน้อยลง แต่เรื่องนี้อย่าโทษฝรั่งนะครับ เพราะชนชั้นนำไทยในสมัย ร.5 เองต่างหาก ที่ปฏิเสธหรือไม่อยากให้พูดถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนา (คือพระนิพพาน) เพราะพิสูจน์ไม่ได้ และเกรงว่าฝรั่งจะเหยียดว่าศาสนาไทยงมงาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ถึงกับสนับสนุนให้สร้างศีลธรรมใหม่ที่ไม่สัมพันธ์กับศาสนาเลย ยังคงเอาข้อธรรมในคัมภีร์มาตีความใหม่ให้เป็นศีลธรรมทางสังคมและโลกนี้ เรียกว่ารักษารูปแบบของศาสนาไว้กับศีลธรรมไทย พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ใช้บารมีของศาสนาพุทธมาเบรกเสรีภาพทางความคิดเกี่ยวกับศีลธรรม เพราะอาจนำไปสู่ศีลธรรมใหม่ๆ เช่น มองเห็นความเสมอภาคเป็นความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรบรรลุให้ถึง เป็นต้น

กลับมาสู่ละครทีวีไทยที่คนจีนและเวียดนามมองว่า แสดงกฎแห่งกรรมอย่างเลือดสาดหรือระยิบระยับเต็มจอว่า มาจากความเชื่อทางศาสนาของคนไทยเอง ผมอ่านแล้วก็ออกจะงงๆ ว่า คนไทยปัจจุบันยังเชื่อเรื่องนี้อยู่หรือวะ

ผมไม่เคยได้ยินภาษิต “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มานานแล้ว ยิ่งจากคนรุ่นหลังยิ่งได้ยินน้อยลงไปเรื่อยๆ การที่มีคนจำนวนมาก (ทั้งสองสีเสียด้วย) เรียกร้องว่า อย่าปล่อยคนผิดลอยนวล ก็แสดงว่าเขาไม่เชื่อกฎแห่งกรรมแล้ว หรืออย่างน้อย ก็ไม่เชื่อว่ามันทำงานได้เองโดยเราไม่ช่วยมัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสังคมและรัฐมีส่วนอย่างมากในการเปิดให้กฎแห่งกรรมได้ทำงาน

ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ไม่ต่างจากละครเกาหลีเท่าไรนัก กล่าวคือ สังคมและรัฐของเกาหลีเข้ามาทำงานแทนกฎแห่งกรรม ชั่วนักจนถึงผิดกฎหมายก็ถูกตำรวจจับ ขึ้นศาลและถูกพิพากษาให้จำคุก ชั่วไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายก็ถูกสังคมลงทัณฑ์ จนสูญเสียบางอย่างในชีวิตไป

 

แต่ถ้าคนไทย โดยเฉพาะคนไทยรุ่นหลังๆ ที่มีส่วนในการสร้างละครทีวี ไม่ได้เชื่ออะไรต่างจากคนเกาหลีนัก กล่าวคือ กฎแห่งกรรมทำงานได้เพราะสังคมและรัฐช่วยให้ทำได้ เหตุใดคนไทยจึงชอบสร้างละครลงโทษคนชั่วนอกกติกาของสังคมและรัฐ (หรืออย่างน้อยก็ปริ่มๆ เช่น ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม) อยู่เสมอเล่า

ผมสงสัยว่าความต่างอาจอยู่ตรงที่ว่า สังคมและรัฐไทยไม่ได้เข้มแข็งอย่างสังคมและรัฐเกาหลี (ตามความเป็นจริงหรือตามทัศนะของคนไทยก็ตาม) นอกจากไม่ช่วยให้กฎแห่งกรรมทำงานของมันไปได้อย่างที่ควรเป็นแล้ว ยังเป็นตัวขัดขวางการทำงานของกฎแห่งกรรมอยู่บ่อยๆ วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผมนั่งอ่านหนังสือเรื่องละครไทยกับผู้ชมอาเซียน ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่สังคมและรัฐไทยพากันปล่อยผู้มีส่วนในการสังหารหมู่ผู้คนกลางเมือง ทั้งเบื้องหน้าและลับหลัง พ้นผิดลอยนวลได้ด้วยกฎหมาย “ยกเว้น” กฎแห่งกรรม (ที่เราเรียกว่านิรโทษกรรม)

ถ้าผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ไทย เขียนให้สังคมและรัฐไทยลงโทษคนชั่ว คนดูไทยจะได้รับความพอใจหรือครับ กลายเป็นละครสอนศีลธรรมที่รัฐเป็นผู้สร้างเองในโอกาสสำคัญต่างๆ (ซึ่งไม่มีใครชม) เพราะมันไม่จริงเสียจนเกือบเหมือนเอานิทานอีสปมาเล่นในทีวี และผู้จัดละครแบบนั้นจะหาสปอนเซอร์ได้ที่ไหนล่ะครับ

 

พูดอย่างนี้เหมือนพูดถึงภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งสมาคมผู้สร้างยังรักษากฎให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบัน เมื่อคนอเมริกันเกิดความสงสัยและไม่เชื่อมั่นในสังคมและรัฐแล้ว ก็มักแต่งบทให้แต่ละคนต้องรักษาความยุติธรรมด้วยมือของตนเอง คนดีชนะคนชั่วเสมอก็จริง แต่คนดีต้องเก่งและโหดไม่น้อยกว่าคนชั่วด้วย เพราะไม่มีสังคมและรัฐปกป้องปัจเจกอีกแล้ว เหมือนกลับไปดูหนังเคาบอยเมื่อก่อนสงครามโลกและเสร็จสงครามใหม่ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ผมไม่คิดว่าละครโทรทัศน์ไทยเลียนแบบภาพยนตร์อเมริกัน เราต่างก็เชื่อในกฎแห่งกรรมก็จริง สังคมและรัฐของเราไม่มีส่วนช่วยให้กฎแห่งกรรมทำงานได้เหมือนกันก็จริง แต่ภาพยนตร์อเมริกันยังเชื่อว่า ปัจเจกบุคคล (พระเอก) มีศักยภาพที่จะรักษาตนเองให้รอดหรือตอบแทนการละเมิดของคนร้ายได้ ในหลายครั้งด้วยกันละครไทยไม่ได้เชื่อในปัจเจกบุคคลขนาดนั้น แต่ “โชค” ช่วยพระเอกเสมอ จึงทำให้พระเอกสามารถทำให้กฎแห่งกรรมทำงานจนครบวงจรได้

“โชค” นั้น พูดภาษาโบราณคือพระอินทร์ พูดภาษาปัจจุบันคือพลังลี้ลับที่มีอำนาจบันดาลให้เกิดความถูกต้องหรือธรรมะในชีวิตของบุคคลและสังคม ถ้าจะเชื่อเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็ต้องเชื่อว่ามีพลังลี้ลับบางอย่างที่บันดาลให้เป็นอย่างนี้ด้วย คนไทยพูดถึงกฎแห่งกรรมเหมือนพูดถึงกฎแรงโน้มถ่วง มันบังคับการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุ เหมือนกฎแห่งกรรมบังคับให้เกิดผลของกรรมที่สอดคล้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนไทยอาจไม่เชื่อในเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอย่างเดิมเสียแล้ว เพราะมองเห็นถนัดขึ้นว่าสังคมและรัฐของตนอ่อนแอเกินกว่าจะบังคับให้ใครทำอะไรก็ต้องได้ผลอย่างนั้น แต่ลึกลงไปกว่านั้น คนไทยยังเชื่อพลังลี้ลับบางอย่างที่กำหนดความเป็นไปในโลกอยู่ จะเรียกมันว่าธรรมะ, ธรรมราชา, กฎแห่งกรรม, เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที แต่สิ่งนี้ย่อมมีอยู่ ซ้ำมีอยู่ในเชิงโลกภูมิด้วย คือข้ามภพข้ามชาติ ข้ามกาละ ข้ามเทศะ ดำรงอยู่ตราบเท่าที่มี “โลก” ตลอดไป