อภิญญ ตะวันออก : จากขุนน้ำนางนอนและชนเผ่าสหัสวรรษ

การจดจำความสมบูรณ์ธรรมชาติในวิถีชุมชนอันแปลกต่างจากแดนอื่นซึ่งเคยประสบ ย่อมทำให้เราอดจะรำลึกถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นที่เกิดขึ้นกับฉันเมื่อไปจังหวัดรัตนคีรีที่กัมพูชา

จากนั้น การได้พบบันทึกบาทหลวงคาทอลิกยุคอาณานิคมฝรั่งเศสก็เป็นอีกฉบับหนึ่ง การจดจำสภาพพื้นๆ ของแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งชาวกรึง, จรายต่างเคยเป็นผู้อาศัยบริเวณนี้มาแต่บรรพกาล ตามที่พวกเขาอ้างสิทธิ์กัน

ขณะเดียวกันคัมภีร์บันทึกเล่มนั้นก็ไม่ต่างจากเรื่องราวว่าด้วยทัศนะทางมานุษยวิทยา งานวิจัยเฉพาะชนเผ่าตามแนวเขาและเขตลุ่มแม่น้ำโขงดูจะรัดรึงไปด้วยความน่าตื้นตันในวิถีธรรมชาติ ตั้งแต่การดำรงชีพไปจนชีวิตดับที่สอดคล้องไปกับวิถีเดียวกับธรรมชาติทั้งสิ้น

ชาวกรึงหรือจรายไม่ว่าในรัตนคีรี มณฑลคีรี หรือชนเผ่าบางกลุ่มบนเทือกเขาในโพธิสัตว์และพระตะบอง ในลาว เวียดนาม หรือแม้แต่เมียนมา ทั้งหมดเมื่อนำมาเรียงร้อยดูเนื้อทำนอง ล้วนมีแต่วิถีชีวิตที่อิงอาศัยในระบบนิเวศน์ ตามฉบับเดียวกันอย่างสุดที่จะกล่าว

ตัวอย่างคือ เมื่อเด็กๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 ชีวิต และอีก 1 โค้ช บังเอิญไปติดอยู่ในโพรงถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ณ ตรงเนินนมสาว

พลันความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติอย่างสุดกำลังของมนุษย์ ที่มากไปด้วยสติปัญญา ตลอด 18 วันก็บังเกิดขึ้น ทั้งวิทยาการสุดสมัย ด้วยเทคโนโลยีและการฝึกฝนในศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่นักดำถ้ำ นักดำน้ำ ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา ไปจนถึงแม้แต่นักเก็บรังนกนางแอ่น หรือชาติพันธุ์ละหู่ผู้อาศัยบริเวณสันเขาต้นน้ำ ก็ยังถูกกล่าวถึง ในภารกิจหาทางทดน้ำเพื่อให้ไปทางอื่น

เช่นเดียวกับเทคนิคสร้างช่องอากาศในชั้นใต้ดินเพื่อกักเก็บและพร่องน้ำ การเจาะบาดาล ล้วนเป็นภารกิจที่ถูกนำมาใช้กับโพรงถ้ำหลวง ที่กลายเป็นเหมือนแอ่งการเรียนรู้ระบบนิเวศน์อันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งต่อความท้าทายของมนุษยชาติ ทุกมุมโลกที่ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาในภารกิจนี้ โดยมีเดิมพันเป็นชีวิตน้อยๆ ของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่าผู้ประสบภัยพิบัติ

ดังนั้น ในช่วงเวลาตอนหนึ่งของภารกิจราววันที่ 6-7-8 หลังจากการสูบน้ำออกจากถ้ำใน 3-4 วันแรกยังเป็นไปอย่างไม่สามารถลดระดับ ขณะเดียวกันน้ำฝนที่ชะลงไปในโพรงหิน 2-3 วันก่อนกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญในภารกิจ จึงมีความพยายามนำภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ฝั่งต้นน้ำเบนหันทิศทางน้ำ แบบเดียวกับที่ชาวกรึง จรายในรัตนคีรีเคยทำมาแล้วด้วยกระบอกไม้ไผ่จำนวนมาก ที่พวกเขาเสียบเข้าไปในตาน้ำของโพรงสันเขา เพียงเท่านั้น การหันเหเส้นทางน้ำไปสู่ศูนย์รวมของชุมชน

และนั่นคืออุปกรณ์จากภูมิปัญญาชาติพันธุ์ที่สอดคล้องสมดุลกับวิถีธรรมชาติ เช่นเดียวกับกรณีกระสวยน้อยของนายอีลอน มัสก์ ในโครงการอวกาศของเขาที่แม้จะไฮเทคและราคาแพง แต่มันก็อาจจะเป็นเครื่องมือในอนาคตที่มนุษย์สามารถนำไปใช้ยามถูกภัยพิบัติคุกคาม

โชคร้ายที่กระสวยน้อยของมัสก์เดินทางล่าช้า (และยังไม่ถูกประเมินจะใช้ได้จริงหรือไม่?) แต่ขอให้เชื่อเถิดว่า ภูมิปัญญาของอีลอน มัสก์ จะเป็นตัวเลือกหนึ่ง

ตราบใดที่โลกใบนี้ของเรากำลังเผชิญหน้ากับหายนะของระบบนิเวศน์

 

ไม่ทราบเหมือนกัน ทำไมฉันจึงถูกตรึงที่หน้าจอโทรทัศน์ขณะเห็นหนังเรื่องอวตารทุกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ บ่ายวันที่ 23 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ 13 คนแปลกหน้าน้อยๆ ไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนของจังหวัดเชียงรายนั้น ตัวฉันกำลังดื่มด่ำการแสดงสุดจินตนาการของกายกรรม “เซิร์กดูโซเล็ย” ในชุดโทรุก (Toruk-the First Flight) สัตว์ปีกดุร้ายที่เผ่าอวตารหมายจะพิชิต

และนับเป็นผลงานละครเวทีที่สามารถเล่าถึงพลังของธรรมชาติที่งดงาม และแฝงด้วยความโหดร้าย โดยการเดินทางของราลูและเอ็นทู เด็กหนุ่มสองพี่น้อง ผู้จะเล่าถึงชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งพวกเขาประสบพบพาน

หมดจดงดงามด้วยโปรดักชั่นและการแสดงภายในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้นที่โลกทัศน์แห่งการรับรู้ที่มากไปด้วยเทคนิค แสง สี เสียง การเคลื่อนไหวและจินตนาการล้ำลึกต่อมิติการแสดงแนวใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

เยี่ยงเดียวกับชาติพันธุ์ในลุ่มและเทือกเขาแม่โขง ทั้งเสียงเพลง ดนตรี ต้นไม้ การทอผ้า และธรรมชาติที่อิงแอบอาศัย ชาวอวตารยังมีเครื่องรางนำโชคคือสัตว์นกโทรุก (Toruk) แบบเดียวกับชาติพันธุ์ทุกเผ่าของโลกเวลานี้ที่ล้วนแต่มีความเชื่อเป็นของตน ไม่ต่างจาก “สัญลักษณ์คำพยากรณ์, นิมิตของหมอผีต่อการเผชิญภัยร้าย” เป็นสิ่งผูกพันชนเผ่าไว้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

“หน้ากากอันศักดิ์สิทธิ์” “ภูเขาลอยฟ้า ลาวาและน้ำท่วม” ก็เป็นอีกหนึ่งที่ชาวอวตารจะต้องเผชิญหน้า และพยายาม “เอาตัวรอด” ให้ได้ ไม่ว่าจะรุนแรงสักปานใด รวมถึงหน้ากากอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้นึกถึงเหตุภัยพิบัติในถ้ำหลวงที่ต้องมีหน้ากากแบบ Full Mask ของกลุ่มหมูป่า

“แต่พลังใดๆ ล้วนแต่หยิบยืมมา” วลีเรียบง่าย ที่ยอมรับต่อธรรมชาติและความเป็นไป ทว่าก็ไม่ยอมแพ้

และตราบใดที่เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังจะถูกปกปักรักษาไว้

 

สารภาพนับจากร้างราละครเวทีอย่าง “กาลิเลโอ” (Galileo Galilei), “อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ”, “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” (Man of La Mancha), “จุมพิศนางแมงมุม” (Kiss of the Spider woman) โดยคณะละคร”28 ไปนาน ฉันก็เฉื่อยชากับความรู้สึกชมการแสดงสด

กระทั่งถึงยุคของเซิร์กดูโซเล็ย (Cirque du Soleil) ที่ลุ่มลึกมากในการนำบทภาพยนตร์อวตารของเจมส์ คาเมรอน มาผูกเป็นเรื่อง “Toruk-the First Flight”

ทุกอย่างในกายของฉันก็ถูกปลุกให้รำลึกอีกต่อคุณค่าชาติพันธุ์และความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ตลอดจนความจริงที่ว่า บัดนี้ เราไม่ใช่แต่เป็นผู้ชมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ติดตามและผู้ร่วมแสดงไปพร้อมกัน และมันคือความจริงของสังคมยุคอินเตอร์เน็ตไปแล้ว และนั่นคือตอนหนึ่งที่ผู้ชมยกมือถือขึ้นส่องจากแถวที่นั่ง ที่เป็นเหมือนแสงสะท้อนจากดวงตา ยามที่มองออกมาจากในถ้ำ

อา นี่เราอยู่ในโลกแห่งความฝันหรือความจริงกันหนอ เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เอง ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น เมื่อดวงตาเล็กๆ 13 คู่ในคูหาถ้ำอันมืดมิดได้พบกับมนุษย์กบซึ่งโผล่ขึ้นมาจากน้ำ!

และมนุษย์ถ้ำทั้งหมดก็ได้สบตากัน

ราวกับความฝันไปแล้ว ในตอนที่เห็นภาพนั้น ซึ่งเต็มไปด้วยมิติแห่งการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติและชวนให้ตื้นตัน ที่ไม่ต่างจากการชมละครโทรุก กล่าวคือ ทั้งลุ้น ทั้งเกร็ง เศร้า หวัง รอคอย สดชื่น ต่อๆ กันนาทีต่อนาที

ซึ่งกรณีถ้ำหลวงนั้น ยังเร้าใจไปด้วยจำนวนคอมเมนต์นับหมื่นนับแสนบนหน้าแพลตฟอร์มที่ไลฟ์สดออนไลน์

นี่คือชัยชนะของประชาคมยุคใหม่ ที่จู่โจมเป็นพลวัตสังคมในโลกของออนไลน์ ที่ต่างจากขนบเดิม ด้วยกติกานี้มนุษย์แห่งสหัสวรรษใหม่จึงไม่อินังขังขอบใดๆ ต่อกติกาเก่าๆ แบบรวมศูนย์ ที่ดูเหมือนไม่เท่าทันกับกฎเปลี่ยนแปลงของโลก

จากนี้ไปเชื่อว่า แม้ครรลองของระบอบเสรีประชาธิปไตยจะล่าช้า แต่อย่าชะล่าใจ เพราะนี่คือวิถีประชาภิวัฒน์ใหม่ที่ถูกกำหนดโดยประชากรออนไลน์

แลพลังพลวัตนี้จะพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า ไม่ต่างจากผิวน้ำที่ซับลงไปในโพรงถ้ำ และพร้อมจะทะลักทลายออกมาด้วยมวลพลังงานมหาศาล ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

“โอมด้วยรักจากหมูป่าและโทรุก ณ ทุ่งน้ำ ขุนเขาและโพรงถ้ำ ขอความฝันจงบังเกิดเป็นความจริงแก่เรา

“…ผู้เฝ้ารอวงรอบแห่งการเปลี่ยนแปลง ณ วันหนึ่งกำลังจะมาถึง”

 

————————————————————————————————————-

cr : Cirque du Soleil