‘เพื่อไทย’ใช้ 3 ช่องทางยื่นศาล รธน.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ขัด รธน.หรือไม่ วันนี้

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรค พท. ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญพรรค พท. แถลงถึงคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ประกอบมาตรา 5

โดยนายภูมิธรรมอ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่หัวหน้า คสช. ได้อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 นั้น สมาชิกพรรค พท.เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในหลายประการและเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของสมาชิกพรรคการเมืองและพรรคการเมือง จึงได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ข้อ 17 (12) และข้อ 21 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย

โดยประเด็นสำคัญที่เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้น มีดังนี้

ประเด็นแรก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 จึงไม่เป็นที่สุด และชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งดังกล่าวได้ เนื่องจาก 1.สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว รัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และมาตรา 132 บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐสภา (หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติปัจจุบัน) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นได้ผ่านกระบวนการตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ผ่านการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเท่ากับเป็นการลบล้าง (Overrule) กระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2.ประเทศไทยมีความเป็นนิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย มิใช่โดยอำนาจของบุคคล มีรัฐเป็นกฎหมายสูงสุด ยึดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้แก่องค์กรต่างๆ มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น หัวหน้า คสช.จึงเป็นเพียงผู้ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง จึงไม่อาจใช้อำนาจที่ขัดหรือแย้งหรือนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้และใช้อำนาจซึ่งเป็นขององค์กรอื่น อันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และมาตรา 132 จึงเป็นการกระทำโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง 2.การออกคำสั่งที่มีผลเป็นการลบล้างสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง มิใช่การออกกฎหมายจำกัดสิทธิเท่านั้น แต่เป็นการยกเลิกสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรค จึงกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเป็นการออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล จึงขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก 3.การกำหนดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรค ถ้าจะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปต้องทำหนังสือยืนยันต่อหัวหน้าพรรคพร้อมแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามภายใน 30 วัน ซึ่งลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายของการเป็นสมาชิกพรรคมีหลายประการ ต้องขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ถึง 14 หน่วยงาน กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคแรก และยังขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคแรกด้วย เนื่องจากผู้ที่สมัครสมาชิกใหม่ไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว 4.ในคำสั่งมิได้ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองข้างต้นไว้ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก เช่นกัน นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยังเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการต่อไป

ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า ทันทีที่คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ออกมา ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล รวมทั้ง สนช. พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มาตรา 265 ให้อำนาจ คสช. ในการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าเป็นที่สุด ซึ่งเป็นคำพูดที่เหมือนกับว่าเราจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า คำสั่งตามมาตรา 44 ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นที่สุดก็ดีนั้น คำสั่งดังกล่าวต้องชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่เราเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ และไม่สุจริต ดังนั้น เราจึงมองว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหา เป็นคำสั่งที่มิชอบ และขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองอย่างที่ คสช.อ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ถ้ากฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้จริงๆ ก็สร้างความยากลำบากให้พรรคการเมืองที่ต้องดำเนินไปตามคำสั่ง เช่น บอกให้สมาชิกมายืนยันความเป็นสมาชิก เสียค่าธรรมเนียมภายใน 30 วัน มียุบสาขาพรรคทั้งหมดที่มีอยู่ต้องจัดตั้งสาขาใหม่ และถ้าตั้งสาขาไม่ครบทั้ง 4 ภูมิภาค ก็ห้ามส่งผู้สมัครระยะเวลานี้ให้เริ่มต้นทำ ตั้งแต่มีการปลดล็อกทางการเมือง อีกทั้งการจะปลดล็อกการเมืองเมื่อไร เป็นไปตามอำเภอใจของ คสช. จึงบอกว่าเป็นคำสั่งที่ไม่แน่นอนและขัดรัฐธรรมนูญ เป็นความยากลำบากของเรา แต่เราก็จะต้องเผชิญอย่างรู้เท่าทัน

เมื่อถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้วต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิมจะทำให้ติดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆ ตามกรอบกฎหมายเดิมหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เมื่อกรอบเวลาผ่านไปแล้ว เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหา

ขณะที่ นายนพดลกล่าวว่า ทุกฝ่ายได้เรียกให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องการจะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องให้เวลาพรรคการเมืองที่จะเตรียมความพร้อมตามกฎหมายพรรคการเมือง ต้องใช้เวลาพบประชาชนเพื่อที่จะผลิตและร่างนโยบาย ให้ตอบโจทย์กับประเทศ เมื่อ คสช.ไม่ยอมปลดล็อกโดยอ้างเรื่องความมั่นคงและอ้างว่ายังมีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวอยู่เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก การจะแก้ไขปัญหาเดิม แต่กลับสร้างปัญหาใหม่นำมาสู่ประเด็นที่ถกเถียงเพิ่มขึ้นอีก อีกทั้งพรรคการเมืองทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ 57/2560 และทางพรรคมองว่าคำสั่งนี้ไม่เอื้อต่อกระบวนการสร้างการปรองดอง นำมาซึ่งความขัดแย้งทางความคิดทางสังคมค่อนข้างมาก ฉะนั้นการสร้างความปรองดองเป็นภารกิจที่ คสช.ยังทำไม่สำเร็จ ถ้า คสช.ไม่คำนึงถึงเรื่องนี้จะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดหรือเกาไม่ถูกที่คัน เราคิดว่าหลักนิติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความปรองดอง

เมื่อถาว่า พรรคต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อ 7 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่ให้อำนาจ คสช.เข้าไปควบคุมการจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. ถือว่าเป็นการแทรกแซงอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการออกคำสั่งมาแล้วขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่ดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการทำลายพรรคการเมือง สร้างความได้เปรียบให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป เพราะคำสั่งนี้จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป และคสช.จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกภายหลังการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ที่สำคัญคือ คำสั่งนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เท่ากับคสช.มีอำนาจเหนือศาลรัฐธรรมนูญและทุกองค์กร ถือเป็นการทำลายระบบกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรค พท.จะยื่นคำร้องใน 3 ช่องทาง คือ 1.ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในนามพรรค 2.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในนามนิติบุคคล และ 3.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในนามสมาชิกพรรค โดยในส่วนนี้จะมีแกนนำพรรคลงนาม 13 คนประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายโภคิน พลกุล นายภูมิธรรม เวชยชัย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายชัยเกษม นิติสิริ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายนพดล ปัทมะ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายสามารถ แก้วมีชัย และนายวัฒนา เมืองสุข โดยจะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ (17 มกราคม)