‘ลิณธิภรณ์‘ ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาล ทวงหลักเกณฑ์คำนวณหนี้ กยศ.-ปรับคดีผู้กู้ผิดนัด หลังใช้ พ.ร.บ. ต้องปฏิรูปแก้ไขตามนโยบายแก้หนี้เร่งด่วน

‘ลิณธิภรณ์‘ ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาล ทวงหลักเกณฑ์คำนวณหนี้ กยศ.-ปรับคดีผู้กู้ผิดนัด หลังใช้ พ.ร.บ. ต้องปฏิรูปแก้ไขตามนโยบายแก้หนี้เร่งด่วน

วันที่ 28 มี.ค. 67 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ความคืบหน้าการแก้ไขหนี้สินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงแทน

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า หนี้สินกองทุนเงินให้กู้ยืนเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นปัญหาติดพันคนไทยจำนวนมากกว่า 6.4 ล้านรายมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หนี้ กยศ. เป็นหนี้ที่มีอัตราหนี้เสีย (NPLs) สูงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คือร้อยละ 62 เมื่อสิ้นปี 2563 นับว่าสูงกว่าช่วงต้มยำกุ้งที่ร้อยละ 47 เมื่อปี 2542 เสียอีก สะท้อนความไม่ปกติที่ประชาชนทั่วประเทศเผชิญโดยตรง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งปฏิรูปแก้ไข สอดคล้องกับที่รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งที่ 316/2566 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งที่ประชุมนัดแรก มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาหนี้ กยศ. โดยคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กยศ. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 แต่บัดนี้ เป็นเวลากว่า 1 ปี กับอีก 1 สัปดาห์แล้ว การดำเนินการที่เกี่ยวข้องของกองทุนฯ ยังไม่เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหนี้สิน กยศ. ติดพันคนไทยกว่า 6.4 ล้านรายนั้น ยังสามารถแบ่งเป็นผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย และผู้กู้อีก 3.6 ล้านราย ซึ่งผู้กู้ 3 ล้านกว่าคนนี้ อยู่ระหว่างการผ่อนชำระหนี้และยังไม่ได้ฟ้อง 2.4 ล้านราย แต่อีกมากกว่า 1.2 ล้านรายที่เหลือถูกพิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างบังคับคดี ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ กยศ. มองว่า ไม่สามารถผ่อนปรนผู้กู้ ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ในสภาวะดังกล่าว ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะสูงขึ้นจากเงินต้น 3 – 4 เท่าตัว ซึ่งหากผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดไม่ได้ ก็ไปต่อได้ยาก ลำบากทั้งลูกหนี้ที่ปรับหนี้ไม่ได้ และลามไปถึงผู้ค้ำประกันด้วย

น.ส.ลิณธิภรณ์ จึงใช้สิทธิถามรัฐบาลว่า หลักเกณฑ์ในการคำนวณหนี้สิน กยศ. ยอดใหม่นี้เป็นอย่างไร ? กรอบระยะเวลาดำเนินการของกองทุนฯ ที่สอดคล้องตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และมติของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น เป็นอย่างไรบ้าง และนับจนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้าตามกรอบดังกล่าวอย่างไร ? และ กยศ. มีแนวทางในการปรับแก้การดำเนินคดีต่อผู้กู้ที่ผิดนัด แบกรับดอกเบี้ย โดยปรับหนี้ไม่ได้ จนประสบกับสภาวะเสมือน “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ได้อย่างไร ? เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงผลการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลค่ะ

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่เพียงแต่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันเท่านั้นที่จะรับสิทธิประโยชน์จากการแก้กฎหมาย กยศ. แต่นี่จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของกลไกคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง