ที่ประชุมสหภาพรัฐสภาที่เจนีวาร่วมปรบมือส่งแรงใจ พิธาเล่าข่าวดีสภาไทยเตรียมพิจารณาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้

ที่ประชุมสหภาพรัฐสภาที่เจนีวาร่วมปรบมือส่งแรงใจ พิธาเล่าข่าวดีสภาไทยเตรียมพิจารณาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 17.30 น. ตามเวลาในท้องถิ่น เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาหรือ IPU พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะตัวแทนจากรัฐสภาไทย กล่าวรายงานความคืบหน้าของรัฐสภาไทยในการสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลาย(Inclusive Society)

โดยพิธากล่าวว่ารัฐสภาไทยมี 3 เสาหลักในสร้างสังคมโอบรับความหลากหลาย ประกอบด้วยการสมรสเท่าเทียม, ความเสมอภาคเท่าเทียมทางด้านชาติพันธุ์และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และการปกป้องคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยุติธรรมในสังคม

เสาแรก สมรสเท่าเทียม ในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ห่างจากที่เจนีวาไปประมาณ 9 พันกิโลเมตร สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยกำลังจะประชุมเพื่อพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่เป็นหมุดหมายสำคัญ นั่นคือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าหากกฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นชาติแรกในอาเซียน และเป็นเพียงไม่กี่ชาติในเอเชียที่ทำให้เกิดสมรสเท่าเทียมขึ้นได้จริง เราบอกว่าสิทธิความเสมอภาคทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน เราจะพูดว่า “Love is Love” และกลุ่มคนที่เคยถูกกีดกันก่อนหน้านี้ จะสามารถมีสิทธิในการวางแผนครอบครัว สร้างครอบครัว และดูแลรักษาครอบครัวในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินได้แล้ว

เสาที่สอง คือความเสมอภาคเท่าเทียมทางด้านชาติพันธุ์และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เราบอกว่าสิทธิของชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองนั้นสำคัญ แม้ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันทางด้านวัฒนธรรมและภาษาก็ตาม แต่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงความยุติธรรมในที่ดินทำกินของตนเอง ต้องสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมทั้งบริการพื้นฐานสำคัญของรัฐที่มีคุณภาพได้

เสาที่สาม ในส่วนของการปกป้องคุ้มครองแรงงาน เราพูดถึงการส่งเสริมให้คนทำงานได้มีงานที่ดี มีคุณค่า ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เราพูดถึงความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน เราพยายามสร้างหลักประกันให้สิทธิการลาคลอด เราพยายามสร้าง work-life balance ที่คนทำงานทุกคนสมควรได้รับ

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ นี่ไม่ใช่แค่กฎหมายที่ถูกเขียนบทกระดาษ แต่เรากำลังส่งสารไปยังคนทั้งโลก ส่งสารไปยังลูกหลานว่าพวกเขาจะไม่ถูกกีดกันในสังคมไทย

“ดังนั้น ผมขอให้ทุกคนในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภานี้ ว่าในวันพรุ่นี้(27 มีนาคม 2567) ร่วมส่งแรงใจไปยังสภาผู้แทนราษฎรไทยที่อยู่ห่างไป 9 พันกิโลเมตร ถ้าหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ก็จะกลายเป็นชัยชนะของชุมชน LGBTQIA+ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงชัยชนะของคนทั้งโลกด้วย (ที่ประชุมปรบมือแสดงความยินดี)

และนี่คือการเมืองของความเป็นไปได้ มันอาจจะไม่สมบูรณณ์แบบ มันอาจต้องใช้เวลายาวนาน แต่มันแสดงให้เห็นว่าถ้าเราทำไปด้วยกัน ร่วมกันทลายอุปสรรคทั้งหลาย เราก็จะสามารถก้าวไกลไปด้วยกันได้”