“ฐากร” พร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลั่นอย่าประมาทฝ่ายค้านไม่มีข้อมูล เผยมีคนร้องเรียนเพียบ ฝากเตือนรัฐบาลให้ระวังคนใกล้ตัว รับผลประโยชน์จากเงินนอกงบฯ

“ฐากร” พร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลั่นอย่าประมาทฝ่ายค้านไม่มีข้อมูล เผยมีคนร้องเรียนเพียบ ฝากเตือนรัฐบาลให้ระวังคนใกล้ตัว รับผลประโยชน์จากเงินนอกงบฯ พบมีถึง 584 แห่ง มีรายได้เงินนอกงบฯ 1.7ล้านล้านบาท เท่ากับ 53.7% ของงบรายจ่ายประจำปี จี้ตรวจสอบนำเงินเข้าคลังสมทบงบประมาณประจำปี

จากกรณีที่คณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากำหนดวันเวลาในการอภิปรายทั่วไป หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2567 นั้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) เปิดเผยว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะอภิปรายในวันที่ 3-4 เมษายน 2567 และพรรคร่วมฝ่ายค้านได้จัดสรรเวลาให้พรรค ทสท. 70 นาที หลายฝ่ายเข้าใจว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่มีข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ หรือมีข้อมูลน้อยมาก โดยเฉพาะในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ได้ภายในเดือนเมษายน 2567 นั้น คิดว่ารัฐบาลน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนในส่วนนี้ ขอบอกว่าขณะนี้ฝ่ายค้านเรามีข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในหลายกระทรวง เนื่องจากในหลายๆ กระทรวง มีเงินรายได้นอกงบประมาณ หรือเงินกองทุนต่างๆ และเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง ซึ่งได้ดำเนินการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างไปเป็นจำนวนมากแล้ว

“ผมฝากเตือนรัฐบาลชุดปัจจุบันและเจ้ากระทรวงทุกกระทรวงให้ระมัดระวังคนใกล้ตัวของท่านให้มาก ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนการรับผลประโยชน์จากเงินส่วนนี้มากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วอีก ผมไม่เคยคิดเลยว่ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ จะมีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมากมายขนาดนี้ ผมฝากเตือนรัฐบาลด้วยความปรารถนาดี ว่าเงินนอกงบประมาณ เงินกองทุน เงินจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของเจ้ากระทรวงต่างๆ ได้มีการเบิกใช้จ่ายเงินไปแล้ว ไม่ได้มารองบประมาณปี 2567 ประกาศใช้แต่อย่างใด” นายฐากรกล่าว

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่าการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ จะอยู่นอกเหนือกระบวนการพิจารณางบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
เช่น เงินนอกงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เงินจากกองทุนต่างๆ ซึ่งถือเป็นเงินรายได้ และเงินจากรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของกระทรวงเหล่านั้น อาทิ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน,กองทุนพลังงาน,กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ ปตท.

นอกจากนี้ ในปี 2566 พบว่ามีหน่วยงานที่มีเงินนอกงบฯ ถึง 584 แห่ง ซึ่งมีรายได้เงินนอกงบฯ ที่ 1,710,999.2 ล้านบาท หรือ 53.7% เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ยังไม่ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบเงินนอกงบฯ ของหน่วยงานรัฐอย่างครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และรายได้นอกงบฯ เหล่านี้ ไม่เคยมีการนำมาสมทบกับงบประมาณในแต่ละปี

“นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาเปิดให้เห็นถึงรายได้นอกงบประมาณที่เกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วแยกไม่ออกจากงบประมาณ หากมีการนำเงินนอกงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นมาคืนคลัง เงินนอกงบประมาณเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเงินคงคลัง สามารถจัดสรรเป็นงบประมาณประจำปีต่อไป ไม่ใช่เป็นแหล่งหากินของพวกทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างที่เป็นอยู่”นายฐากรกล่าวในที่สุด