“ชูวิทย์”แนะ “น้า-ป้า”หยุดทะเลาะแล้วให้ “หลาน” ห้ามทัพ มอง ปธ.สภาฯ ควรเป็นของก้าวไกล

จากกรณีวิวาทะเดือดระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กับ “ผู้พันปุ่น-น.ต.ศิธา ทิวารี” ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาและเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแถลงลงนาม MOU ร่วมกับแกนนำรวม 8 พรรคตั้งรัฐบาลก้าวไกล น.ต.ศิธา ได้ถามแกนนำพรรคร่วมภายหลังลงนาม MOU ว่า อยากเห็น “เอ็มโอยูแอดวานซ์” ให้ 8 พรรคสัญญาจะจับมือกันต่อไป แม้ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน ซึ่งในภายหลัง นพ.ชลน่าน ระบุว่า ไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาก จนนำมาสู่คำพูด “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว” (อ่านรายละเอียดเดือด! ‘ชลน่าน’ซัด ‘ศิธา’สำนึกบ้าง-ควรให้เกียรติกัน จี้ ‘ก้าวไกล’ต้องเคลียร์)

ต่อมาในวันที่ 25 พ.ค. น.ต.ศิธา ประกาศพร้อมลาออกจากพรรคไทยสร้างไทย หากตนเองเป็นตัวขวางทำให้พรรคเพื่อไทยไม่เดินหน้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลต่อ  

ล่าสุด วันที่ 23 พ.ค. 66 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นดังกล่า ในหัวข้อ “ผูกขาเดินไปด้วยกัน” ความว่า 
เกมการเมือง ณ ขณะนี้ มี 2 เรื่องที่เกี่ยวโยงกัน คือ ในวันเซ็น MOU คุณศิธาได้ลุกถามถึงการจับมือกันอย่างเหนียวแน่นของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ในทางการเมืองตอบลำบาก เพราะสถานการณ์ของนายกฯ จะชื่อพิธาหรือไม่ มันยังไม่แน่นอนเหมือนทุกครั้ง จึงสมควรไปถามกันเป็นการภายในมากกว่าที่จะออกมาถามต่อหน้าสื่อ เงื่อนไขจะเปลี่ยน หากดันนายกฯ ที่ชื่อพิธา ไม่ผ่าน ส.ว.
คุณศิธาเป็นคนพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย การถามต่อหน้าสื่อในวันจับมือจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ย่อมสร้างความกระอักกระอ่วน จนทำให้หมอชลน่านถึงกับถามพรรคก้าวไกลว่า “จะเลือก 140 เสียงของเพื่อไทย หรือ 6 เสียงของไทยสร้างไทย?”
รอยร้าวแตกให้เห็นแผลเก่าของพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่ทันตั้งไข่
แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอาพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย ทั้งๆ ที่เคยอยู่พรรคเดียวกันมาก่อน กลายเป็น “ผีไม่เผา ขี้เถ้าไม่เหยียบ” ภาระหนักจึงตกอยู่กับพรรคก้าวไกล
ส่วนการเลือก “ประธานสภา” มีการแก่งแย่งตำแหน่งนี้ระหว่าง 2 พรรคแกนนำ
ในเมื่อ “นายก” ยังไม่แน่ว่าชื่อพิธาหรือไม่ หากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน ประธานสภาจะต้องบรรจุวาระให้ ส.ว. โหวตอีกกี่ครั้งก็ได้ เพื่อเพิ่มแรงกดดัน เมื่อประธานสภาเป็นคนของพรรคก้าวไกล
แต่หากประธานสภาเป็นคนของพรรคเพื่อไทย อาจให้โหวตครั้งเดียวตามธรรมเนียม เมื่อไม่ผ่าน ส.ว. ก็เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยที่มีถึง 3 คน
ในขณะที่พรรคก้าวไกลเองมีแคนดิเดตนายกฯ แค่คนเดียวชื่อ พิธา จึงมี “แผนส้มหล่น” หากไปถึงตรงนั้นแล้ว ส.ว. ไม่โหวต อ้าง “คุณสมบัติ” เรื่องหุ้นสื่อ ไม่ได้ “สวนมติประชาชน” เสียหน่อย
เกมจะเปลี่ยน บอลมาเข้าเท้าเพื่อไทย ถึงเวลานั้นจะได้เห็นว่าก้าวไกลจะยังอยู่ร่วมรัฐบาลอยู่ไหม? หรือจะยอมไปเป็นฝ่ายค้าน จนเพื่อไทยมีสิทธิสมบูรณ์แบบที่จะ “สลัดขั้ว” สลายเงื่อนไข เข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. 280 เสียง โหวตฉลุยโดย ส.ว.
หรืออาจหามให้ “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 แทน เพื่อแลกการ “กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” โดยพรรคก้าวไกลทำอะไรไม่ได้
ถึงเวลานั้นอยู่ที่ว่า “รัฐบาลใหม่” ที่ชนะ เพราะกรรมการจับแพ้ฟาล์ว จะเดินต่อไปได้นานแค่ไหน?
เกมนี้วางกันมาแล้ว และหากไม่ยอมทั้งสองพรรค ให้โหวตเลือกในสภา หาประธานสภาแข่งกันเอา ยิ่งเข้าทางพรรคเพื่อไทยไปใหญ่ เพราะคอนเน็คชั่นดีกว่าก้าวไกล แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยกินกระทรวงเกรดเอไปแทบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ คมนาคม เกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและกีฬา
ทีมคนแก่พรรคเพื่อไทยได้ “เนื้อวากิว” ไปกิน ปล่อยให้ทีมเด็กพรรคก้าวไกลไปกิน “น้ำพริกปลาทู”
ตำแหน่ง “ประธานสภา” จึงสมควรเป็นของพรรคก้าวไกล และหากโหวตไม่ผ่าน ชื่อพิธา แม้ว่าประธานสภาเป็นของพรรคก้าวไกล ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ที่จะต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
สองพรรคจะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ต้องมีความจริงใจ ไม่อย่างนั้นไม่เกินปีมีเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ทีมเด็กไม่กลัว เพราะเสียเงินน้อย พร้อมเหนื่อยแล้วได้มาก ทีมคนแก่แรงหมด เงินใช้ไปเยอะ แล้วเที่ยวนี้ บ้านใหญ่ล้มระเนระนาด
บ้านส้มจะมาอีกมาก หากมัวแต่ “งอนกันไปมา” น้ากับป้าทะเลาะกันแล้วให้หลานมาห้ามทัพ จะไหวหรือ? หลานเองก็ยังไม่รู้จะเอาตัวรอดได้ไหม?
อย่าลืมว่าบรรดา “ลุงอำนาจเก่า” เขาจ้องเสียบอยู่ ปากบอกอย่างแต่ใจไปอีกอย่าง รอบนี้ถ้าลุงๆ ยังกลับมาได้อีก กลิ่นความเจริญจะสูญหายไปทันควัน