พรสันต์ ยก 3 เหตุผล ชี้ การถือหุ้น itv ของพิธา ไม่ส่งผลสถานะแคนดิเดต

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กในกรณีการถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า กรณีการถือหุ้นของนายพิธา ไม่ได้ส่งผลให้สถานะแคนดิเดต ส.ส. หรือกรณีได้รับเลือกเป็น ส.ส. ต้องหมดพ้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

เคสการถือหุ้นของคุณพิธาที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่นั้น ตามที่มีคนสอบถามเข้ามามาก เอาเข้าจริงแล้ว หากจะให้อธิบายให้ครบถ้วนกระบวนความ สำหรับผมคงจะต้องพูดใน 3 มิติหลักๆ ณ ที่นี้ ขออธิบายแบบรวบรัดตัดความ ได้แก่

1.มิติในเชิงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา: ว่าด้วย “หลักการกระทำต้องห้าม” ซึ่งโดยเนื้อหาสาระของหลักการมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้หลักการดังกล่าวมีไว้เพื่อเป็นการรับประกันว่า ผู้แทนปวงชนจะมีการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ดังนั้น การห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนจึงมีความมุ่งหมายมิให้ได้ประโยชน์จากกิจการดังกล่าวระหว่างกันอันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของตน จึงมีประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องผลประโยชน์ขัดกันอยู่ การได้หรือใช้ประโยชน์ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอันจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภาจึงเป็นไปตาม “หลักการครอบงำโดยมิชอบอย่างแท้จริง” (Actual undue influence) กล่าวคือ สามารถมีอิทธิพลสั่งการกำหนดทิศทางของกิจการเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือประโยชน์ตอบแทนของบริษัทในฐานะว่าที่ หรือผู้อยู่ในตำแหน่งผู้แทนปวงชน

2.มิติในเชิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ: ที่เชื่อมโยงกับประเด็น “ที่มาของบทบัญญัติ” เจ้าปัญหาอย่าง ม.98 (3) ที่เข้าไปกำหนดคำว่า “ผู้ถือหุ้น” ให้ต้องโต้เถียงกันว่ามีความหมายเช่นไร ซึ่งการตีความค้นหาความหมายกรณีนี้ต้องไปพิจารณาดูที่รากฐานแนวคิด ม.98 (3) ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of interest) อันเป็นไปตามหลักการตีความรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่ออ่านถ้อยคำของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบจะพบว่า เบื้องต้นจะต้องคำนึงถึงการดำรงอยู่ของกิจการที่มีการถือหุ้นเสียก่อนว่ามีอยู่ หรือยังคงดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ หากไม่ก็จบ แต่หากปรากฏว่ามีกิจการดังกล่าวและยังคงดำเนินอยู่ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าการถือหุ้นนั้นถ้าจะขัดรัฐธรรมนูญต้องมีผลต่อการเข้าไปครอบงำสั่งการกำหนดทิศทางกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนที่ตนถืออยู่ได้ และ

3.มิติในเชิงบรรทัดฐานที่กำหนดไว้ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา: ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทั้ง 2 ศาล กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาต่างมีคำวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐสภาและการตีความรัฐธรรมนูญที่ผมได้อธิบายไปว่าจะต้องพิจารณาว่ากิจการที่เข้าไปถือหุ้นนั้นยังดำเนินการอยู่หรือประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนหรือไม่

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักเกณฑ์ไว้ด้วยว่า ลำพังการมีรายได้เข้าบริษัทไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่าจะต้องขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.98 (3) เสมอไป หากแต่ต้องพิจารณาด้วยว่า รายได้ที่เข้ามานั้นเป็นรายได้ที่เป็นผลมาจากการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนหรือไม่เพื่อกำหนดว่ากิจการยังคงมีอยู่ หรือได้ประกอบกิจการดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ศาลฎีกายังเข้าไปวางบรรทัดฐานการถือหุ้นของกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนด้วยว่า การถือหุ้นต้องมีสัดส่วนมากพอถึงขนาดครอบงำสั่งการกิจการที่ตนเองถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา การตีความรัฐธรรมนูญ ตลอดจนบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา ผมเห็นว่า กรณีการถือหุ้นของคุณพิธาไม่ได้ส่งผลให้สถานะแคนดิเดต ส.ส. หรือกรณีได้รับเลือกเป็น ส.ส. ต้องหมดพ้นไปครับ

อนึ่ง เรื่องการร่างบทบัญญัติ ม.98 (3) ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ส่งผลให้เรื่อง “การกระทำต้องห้ามและคุณสมบัติ” บทบัญญัติและผลทางกฎหมายปะปนกันไปมาจนเป็นที่สับสนหลงประเด็น ผมจะอธิบายต่อไปครับ