รู้จักสายพันธุ์โควิดลูกผสม XBB.1.16 ที่ขณะนี้แพร่มากขึ้นทั่วโลก

กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขผู้ป่วยโควิดช่วงสงกรานต์ 2566 (9-15 เม.ย.) เข้ารับรักษาในรพ.แล้ว 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย แนวโน้มรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า ย้ำ! วัคซีนเข็มกระตุ้นลดอันตราย ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16  ในไทย 6 รายอาการไม่รุนแรง เผยโควิดสายพันธุ์หลักในประเทศเป็น  XBB.1.5 

นพ.โสภณ กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการระบุถึงสายพันธุ์โควิดลูกผสม XBB.1.16 ที่ขณะนี้มีการแพร่มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะที่อินเดีย พบมีสมรรถนะการแพร่ที่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ทั้งยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน ว่า สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 ยังเป็นลูกหลานจากตระกูลโอมิครอน ไม่เหมือนสายพันธุ์ในอดีตที่เป็นตัวต้นตระกูลที่กลายพันธุ์ทั้งอู่ฮั่น อัลฟา เบตา เดลตา ดังนั้น วัคซีนที่ฉีดยังป้องกันการป่วยหนักได้แน่นอน แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % ตังนั้นจึงได้รณรงค์เน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ล่าสุด มีการรายงานการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย และยังพบ XBB.1.16.1 ในไทยอีก 1 ราย เป็นสายพันธุ์ที่แตกแขนงจาก XBB.1.16 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้ว

โดยทั่วโลกรายงานผู้ติดเชื้อโควิดลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 887 คน พบที่อินเดียมากที่สุด 539 คน XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม 3 ตำแหน่งคือ E180V K478R และ S486P ทำให้สามารถเกาะติดและติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก การกลายพันธ์ในตำแหน่ง K478R อาจทำให้สายพันธุ์นี้เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่า XBB.1.5 ถึง ร้อยละ 159 ขณะที่พบว่า อาการของโควิด XBB.1.16 จะแตกต่างจากโควิดก่อนหน้านี้ โดยจะมีอาการ ไข้สูง ไอ และเยื่อบุตาอักเสบตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน และส่วนใหญ่อาการนี้จะพบได้ในเด็กมากขึ้น กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย

สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อ XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารก พบมีอาการไข้สูง อาการหวัด และไอ จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้น ถือเป็นสายพันธ์ุม้ามืดที่แพร่เร็ว แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ จึงต้องติดตามเฝ้าระวัง เป็นการตระหนักแต่ไม่ตระหนก

 

โควิดสายพันธุ์หลักในไทย คือ XBB.1.5

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลภาพรวมการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทยในช่วง 30 วันล่าสุด ที่มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ผ่าน Outbreak.info ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า

สายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้คือ
XBB.1.5 ประมาณ 47%
XBB.1.9.1 ประมาณ 27%
XBB.1.16 ประมาณ 13%
XBB.1.5.7 ประมาณ 7%
และ XBB.1.16.1 ประมาณ 7%

ทั้งนี้ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นตัวที่ทั่วโลกกำลังจับตาเนื่องจากมีการแพร่เร็ว ทั้งยังหลบหลีกภุูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก แม้แต่ที่ประเทศอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก การนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และให้เกิดการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการหย่อนยาน เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน ลักษณะการระบาดมีความถี่มากขึ้น

อีกทั้ง ภาวะโลกร้อนทำให้วัฎจักรเกิดการเปลี่ยนแปลง ไวรัสก็มีการเปลียนแปลง จึงต้องระวัง อย่างไรก็ตามหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วประเทศเกิดการเรียนรู้ เฝ้าระวัง มีนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงยา เวชภัณฑ์ วัคซีนเข้ามารองรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นน่าจะเอาอยู่