เลือกตั้ง66 : ถ้าหยุด ส.ว.ได้ = หยุดการปฏิวัติ | อย่าคิดว่า 1เสียงของเราเปลี่ยนประเทศไม่ได้

“หยุด ส.ว. ก็หยุดการปฏิวัติ” ปริญญากล่าวจุดเปลี่ยนของประเทศจะเกิดเมื่อ ‘ส.ว’ จบ

“ไม่น่าเชื่อว่าความฝันของเราในวันนี้ คือความฝันถึงความปกติธรรมดาของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มันควรจะเป็น” สรกล อดุลยานนท์

2 บทสรุปของ สรกล อดุลยานนท์  นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง และผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วม “วิเคราะห์เลือกตั้ง’66 อนาคตประเทศไทย” ภายหลังจาก เครือมติชน จัดแถลงข่าว “มติชน : เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ก.พ.66 ที่ผ่านมา โดยในในการเสวนา ดร. ปริญญามีการพูดถึงเรื่องที่น่าสนใจ อย่างความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้และในอนาคต

การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ อ.. ปริญญามองอย่างไร

ดร.ปริญญาตอบว่า มองว่าเป็นจุดเปลี่ยน ของคนที่ยึดอำนาจมา 9 ปี ว่าจะได้เป็นนายกต่อหรือไม่ แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อ ส.ว.ชุดนี้หมดวาระ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจในการเลือกองค์กรอิสระ รวมไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะหมดไป พูดง่าย ๆ ที่ผู้ยึดอำนาจสามารถรักษาอำนาจได้เพราะมีองค์กรอิสระ และส.ว. เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเอก สุจินดา คราประยูรในตอนที่เขายึดอำนาจไม่เคยมี เพราะสิ่งเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 แต่ตอนนั้น ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ต่างกับชุดนี้ที่ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. จึงทำให้ผู้ยึดอำนาจสามารถรักษาอำนาจได้จนถึงตอนนี้ ซึ่งส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งมานี้มีอำนาจถึงปี 2567 นั้นแปลว่าการเลือกตั้งในปีนี้ สว.ยังคงมีอำนาจในการเลือกนายกอยู่ ข้อสำคัญคือการเลือกตั้ง 66 ที่เราพูดกันว่าอยู่ที่ประชาชนว่าจะกำหนดอนาคตตัวเองอย่างไร ดร.ปริญญามองว่าถูกไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ เพราะพรรคที่จะแลนสไลด์ของจริงคือ ส.ว. สำคัญที่ว่าทั้ง “2 ป” เขาแตกกันหรือเปล่า อาจไม่แน่เสมอไปแต่โอกาสสูงมาก ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ส.ว.จะเสียงแตกหรือเปล่าซึ่งเป็นความสำคัญที่ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

เราอาจเข้าใจว่าคะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมันก่ำกึ่ง ระหว่งฝั่งเอาและไม่เอา คสช. ถ้ามาดูตัวเลขในวันเลือกตั้งมันไม่ใช่ คราวที่แล้วมีผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 36 ล้านคนโดยประมาณ ผู้ที่เลือกฝั่งที่ไม่เอา คสช. มีประมาณ 16 ล้านคะแนน ส่วนคนที่เลือกพรรคฝั่งที่เอาพลเอกประยุทธ์มีประมาณ 8 ล้านคะแนน แล้วถ้ารวมพรรคประชาธิปัตย์ที่ 10 วันก่อนการเลือกตั้งประกาศว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์มารวมด้วย ฝั่งที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์รวมแล้วกว่า 20 ล้านเสียง อีก 16 ล้านเอาพลเอก ประยุทธ์แค่ครึ่งเดียวมันแสดงให้เห็นว่าตัวเลขของฝั่งที่ไม่เอาการยึดอำนาจ อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มันมีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ถามว่าใน 4 ปีที่ผ่านมาคิดว่าตัวเลขมันเพิ่มขึ้นหรือลดลง

สรกล มองประเด็นนี้ว่าตัวแปรที่จะเปลี่ยนไปคือ พลเอก ประยุทธ์อยู่มา ‘9 ปี’ มันทำให้ความรู้สึกของคนมันเปลี่ยนไปเป็นปกติ พอมันยาวนานคนจะเริ่มเบื่อ อีกตัวแปรคือ New voter ที่จะเข้ามาประมาณ 3 ล้านเสียง รวมกับ New voter ของครั้งที่แล้วที่ไม่ได้เลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 54 รวม ๆ ประมาณ 12 ล้านเสียงคิดว่าเขาจะเลือกคนยึดอำนาจไหม

ดร.ปริญญากล่าวต่ออีกว่า คราวนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านเสียงถ้ามีคนไปใช้สิทธิประมาณ 75% หรือประมาณ 39 ล้านเสียง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า 3 ล้านเสียงเป็นของที่มาเติมใหม่ เพราะปี 64 เป็นปีแรกที่คนเกิดน้อยกว่าคนตายกว่า 2 หมื่นคน คนเกิดใหม่น้อยลงก็จริง แต่ทางAgeing societyก็ยังอยู่ทำให้ ดร.ปริญญามองว่าสัดส่วนของคนที่จะไม่เลือกพลเอกประยุทธ์ก็จะน้อยลงไปด้วยในแง่สัดส่วน และสิ่งนี้จะเป็นตัวบอกได้ว่าเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นอย่างไร ถามง่าย ๆ ว่าถ้าฝั่งที่ไม่เอาพลเอก ประยุทธ์ได้คะแนนเกินครึ่งของสภา อาจจะมากถึง 300 เสียง ส.ว. จะกล้าหรือเปล่า

‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งมาที่ 1 แน่ ๆ ถามว่ามีโอกาสแลนสไลด์ไหม

สรกลมองว่า ในรอบนี้การวางตัวของพรรคมีการใช้กลุ่ม ‘บ้านใหญ่’ เข้ามาร่วมด้วยนั้นทำให้โอกาสในพื้นที่เขตนั้น ๆ จะสูงขึ้น อีกทั้งกระแส ส.ว. ที่เข้ามาทำให้คนอาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยความกลัว กลัวอีกฝั่งจะมีโอกาสชนะดังนั้นจากเคยชอบพรรคอื่นก็มีโอกาสที่จะเทให้เพื่อไทยมากขึ้น

การแตกกันของเพื่อไทยและฝั่งเสื้อแดง หรือการพูดอย่างต่อเนื่องของ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ คุณสรกลมองว่ามีส่วนไหม สรกลตอบว่า คุณจตุพรพยายามตั้งคำถามอยู่คำถามเดียว คือเพื่อไทยจะร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งนัยยะของคำถามมันพอจะบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างทางการเมือง ทำให้รู้สึกว่าคุณ จตุพรอาจจะไม่มีผลมากนัก เพราะว่าคนที่กุมกระแสเรื่องนี้น่าจะเป็นคุณณัฐวุฒิ มากกว่าในประเด็นนี้ดร. ปริญญากล่าวเพิ่มเติมว่า ความเป็นจริงแล้วคุณ จตุพร ก็ไม่ได้วิจารณ์ทางพรรคเพื่อไทยแต่เป็นการวิจารณ์คุณ ทักษิณมากกว่า ถ้าทางพรรคออกมาแก้ข้อสงสัยของคุณจตุพรเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นสิ่งที่คุณ จตุพรพูดจะหมายถึงทางพรรคเพื่อไทยไปทันที เพราะฉะนั้นถ้าให้แนะนำคนที่ต้องหยุดพูดอาจไม่ใช่คุณ จตุพร แต่เป็นคุณ ทักษิณ เพราะการออกมาพูดของคุณทักษิณมันจะกลายเป็นทำให้พลเอก ประยุทธ์ได้คะแนนเสียงมากขึ้นเพราะความกลัวว่าคุณ ทักษิณจะลับมา

อีกประเด็นที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ทหารเลิกปฏิวัติ ดร.ปริญญากล่าวว่าทั้ง ๆ ที่การปฏิวัตินี้ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต” ทำไมถึงไม่เอามาตรานี้มาใช้กันบ้าง ตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2534 ก็ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะฉะนั้นเลือกตั้งคราวนี้ตัวชี้ขาดคือต้องให้ ส.ว.หยุดเพราะ “การหยุด ส.ว. คือการหยุดการปฏิวัติ”

‘เพื่อไทย’ กับ ‘ก้าวไกล’ คิดว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ดร.ปริญญาตอบว่า เชื่อว่าด้วยข้อมูล ณ ตอนนี้เพื่อไทยจะไม่แลนสไลด์ ข้อสำคัญเลยคือเมื่อปี 54 ที่ไม่มีพรรคอื่นมาแบ่งคะแนนเสียง และฐานของเพื่อไทย กับ ก้าวไกล ก็มีความแยกกันอยู่พอสมควร การที่ประชาชนไม่ได้เป็นสาวกของพรรคดพรรคหนึ่งโดยถาวรมันทำให้เกิดความลังเลในการลงคะแนนอยูพอสมควร ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ล่าสุดคิดว่าคะแนนของคุณ วิโรจน์ ควรจะมากกว่านี้ไหม? จริง ๆ มันควรจะมากกว่านี้แต่ประชาชนไม่กล้าเลือกเพราะกลัวฝั่งคุณ ชัชชาติจะแพ้ และมีโอกาสที่จะเกิดอีกในการเลือกตั้งครั้งนี้

ดร.ปริญญากล่าวว่าข้อสำคัญที่เราต้องมองในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “การกลับสู่ประชาธิปไตยกันเสียที และการปฏิวัติที่เคยมีให้มันหมดไป” การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะรังเกียจคนที่ลงมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เราไม่มีปัญหาถ้าประชาชนจะเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติมาที่ 1 ที่เราพูดคือการใช้อำนาจของ ส.ว. ดังนั้นสิ่งที่เราควรพูดกันคู่กันกับนโยบายหาเสียงคือ เราจะต้องกลับสู่ระบอบการปกครองที่ 1 คน 1 เสียง รัฐบาลควรเกิดจากหีบบัตรเลือกตั้งไม่ใช่ส.ว. กติการตอนนี้ที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ทำไว้คือ ต้องได้เสียงเกินครึ่งของสภา หรือก็คือ 376 เสียง มีส.ว.แล้ว250 เสียง ขาดอีก126 เสียง นี่คือตัวเลขที่พวกเขาคิด ประเด็นคือถ้ามีเสียง ส.ส. ไม่ถึงครึ่งมันอยู่ไม่ได้ เพราะการเสนอ พ.ร.บ. มันต้องเสนอสภาผู้แทนราษฎร และถ้าตกในสภาผู้แทนราษฎรก็จะถูกปัดตกไปเลย โดยเฉพาะ ‘พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี’ ถ้าตกไปแล้วก็จะอยู่กันไม่ได้ อีกทั้งการลงมติไม่ไว้วางใจเป็นของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น ‘สภาเสียงข้างน้อย’มันอยู่ไม่ได้

หนึ่งความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญปี 60 คือการเปิดทางให้เกิด’งูเห่า’ ในสภา สรกล อธิบายให้ฟังว่า รัฐธรรมนูญปี 40 มันเกิดขึ้นมาเพราะเห็นภาพการซื้อพรรคเล็ก ๆ จึงเกิดการป้องกันการซื้อพรรคเล็กขึ้นมา ย้อนกลับไปถาม กปปส. ว่าที่พูดถึงการปฎิรูปก่อนเลือกตั้งนี่คือสิ่งที่พวกคุณต้องการเหรอ ที่มีกล้วย มีงูเห่าเกิดขึ้นในสภาเป็นเรื่องปกติ การย้ายสังกัดของ สส กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ดังนั้นลองคิดดูว่า สมมุติซื้อเสียงด้วยเงิน 30 ล้านที่ได้ผลหรือเปล่าไม่รู้สู้ไปตกในสภาไม่ดีกว่าเหรอ

กลับมาที่คำถามว่า “2 ป” แตกกันจริงไหม ดร.ปริญญาตั้งคำถามว่า 25 คนขั้นต่ำในการเสนอชื่อนายกคิดว่า รวมไทยสร้างชาติจะได้ถึงไหม ในกรณีที่รวมไทยสร้างชาติได้ สส. น้อยกว่าพลังประชารัฐคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่พลเอก ประยุทธ์จะถอย ประเด็นนี้สรกลมองว่า ถ้าสถานการณ์จริงผลมันออกมาชัดเจนว่าคะแนนตามค่อนข้างเยอะคิดว่าน่าจะคุยกันง่าย ดร.ปริญญามองว่าทั้ง 2ป แตกกันจริงแต่เป็นการแตกเพื่อจะไปรวมกันใหม่ ถามว่าสูตร เพื่อไทย+พลังประชารัฐเกิดขึ้นมาได้ยังไง นั้นก็เพราะปัญหาของระบบที่ถึงแม้คะแนนเกินครึ่งแต่ไม่ถึง 376 ก็เป็นนายกไม่ได้จึงต้องหันไปพึ่งเสียง ส.ว. ซึ่งพลเอก ประวิตรมี ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นที่สุดเลยคือ เลือกตั้งคราวนี้เราต้องหยุด ส.ว. ต้องเคารพเสียงข้างมากของประชาชน

ข้อเสนอจากดร.ปริญญา และสรกลถึง กกต. สรกล กล่าวว่ากกต. มีปัญหาตรงที่ไม่ทำให้คนเห็นปัจจุบัน หรือวันที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่มีการรายงานผลสดโดยอ้างว่า ขาดเทคโนโลยีบ้าง หรือใช้งบประมาณสูงบ้าง ส่วนนี้สรกลกล่าวว่าอยากขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ช่วยกันลงขันเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ และเพื่อให้กกต. รู้ว่ามันไม่ได้ใช้งบประมาณมากขนาดนั้นเมื่อแลกกับความโปร่งใสในการเลือกตั้ง ดร.ปริญญากล่าวในประเด็นนี้อีกว่าความจริงคราวนี้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านดร.ปริญญา และคณะสังเกตการเลือกตั้งอย่าง We Watch และIlaw ได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขากกต. โดยทาง กกต.ยืนยันว่าคราวนี้ได้ยกเลิกกฎที่ห้ามถ่ายรูปกระดานคะแนนการเลือกตั้ง ประชาชนสามารถถ่ายรูปได้ทำให้ความโปร่งใสในคราวนี้จะเพิ่มขึ้น และกล่าวอีกว่า นอกจากความช่วยเหลือจากภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่กล่าวมาแล้ว อยากเสนอให้ กกต.แก้ไขอีกสิ่งนึงคือ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกกต. ไปตีความว่าค่าใช้จ่ายในการส่งสมาชิกพรรคไปสังเกตการณ์เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ถ้าแยกค่าใช้จ่ายตรงนี้ออกมาจากค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ทุกพรรคก็จะมีโอกาสส่งคนเข้าไปสังเกตการณ์ได้มากขึ้น กกต.แก้แค่นี้ความโปร่งใสก็เพิ่มมากขึ้นแล้ว

ถามดร.ปริญญาถึงภาพของการเลือกตั้ง ทั้งใกล้ และไกลแบบไหนที่ดร.ปริญญาอยากเห็น ข้อมูลที่เราพูดกันตอนนี้วันที่แน่นอนของการเลือกตั้ง น่าจะไม่ผิดไปจาก 7,14,21 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ดร.ปริญญากล่าวว่าอย่างที่เรียนไป คราวนี้ควรเป็นการเลือกตั้งที่กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบที่มีความเห็นต่างได้แต่ต้องจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง และรัฐบาลต้องมาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่มี ส.ว. มาเลือกนายกแล้วทนต่อไปอีก 4 ปี แม้รอบนี้พลเอก ประยุทธ์จะเป็นได้เพียง 2 ปี แต่เราก็เห็นว่ามีส.ว.หลายท่านที่พยายามเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้ท่านได้เป็นต่อ ส่วนนี้ผมมองว่ามันคงจะไปกันใหญ่เพราะฉะนั้นข้อแรกเลยคือ หยุด ส.ว. สองเมื่อถึงวันที่ ส.ว. ชุดนี้หมดวาระประตูแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปิดออกอีกครั้ง เพราะอาจารย์มีชัยท่านมีประสบการณ์จากปี 2534 ที่รัฐธรรมนูญของท่านโดนแก้เยอะมาก รอบนี้ท่านเลยตั้งกติกาที่ว่าต้องมี สว.1/3 เห็นชอบด้วยทำให้ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จริง ๆ สักที ดร.ปริญญาย้ำอีกว่าเราจำเป็นต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบ 1 คน 1 เสียงให้ได้ พร้อมกับสร้างกลไกความโปร่งใสของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศได้อย่างแท้จริง

สรกลกล่าวก่อนจบการเสวนาครั้งนี้ว่า “ไม่น่าเชื่อว่าความฝันของเราในวันนี้ คือความฝันถึงความปกติธรรมดาของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มันควรจะเป็น อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของคนทุกคน การเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อมั่นว่าเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ อย่าคิดว่าหนึ่งเสียงของเราไมมีความหมายโปรดเชื่อมั่นในพลังของคนไทยทุกคน”