แยกวิชาประวัติศาสตร์ ยกระดับการศึกษาหรือถอยหลังลงคลอง ? การศึกษาไทยควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

2 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.หญิง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เขียนบทความเรื่อง การศึกษาไทยควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร? แยกวิชาประวัติศาสตร์ ยกระดับการศึกษาหรือถอยหลังลงคลอง
ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยการแข่งขัน เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้เยาวชนมีความกล้า คิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถาม ออกนอกกรอบ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อตามหาความสุขของตัวเองให้เจอ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะแยกวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ออกจากวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เหรอคะ ทั้ง ๆ ที่ควรจะทำ คือ เตรียมวางแผนเพื่อยกระดับการศึกษาไทยทั้งระบบ
หญิงไม่ได้กำลังจะบอกว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่สำคัญนะคะ วิชาประวัติศาสตร์สำคัญมาก ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวของประเทศและโลกของเราทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตเพื่อไม่ทำพลาดซ้ำ และยังทำให้เราได้ฝึกตั้งคำถามว่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นเป็นมายังไง แล้วเป็นแบบนั้นจริงเหรอ คิดอย่างเป็นระบบมีเหตุผลสามารถหักล้างข้อมูลได้ และไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม การเรียนการสอนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ของไทย กลับสอนแบบท่องจำที่คอยป้อนข้อมูลให้เด็กเชื่อตามกรอบมากกว่าที่จะฝึกให้ได้ตั้งคำถาม�
ถ้า รมว.ศึกษาธิการ อยากปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์จริง ๆ ควรจะปรับปรุงที่หลักสูตรและวิธีการสอนมากกว่าแยกวิาชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาสังคม เพื่อให้นักเรียนต้องเรียนหนักกว่าเดิม ปัญหาของเรื่องนี้มีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันค่ะ
เรียนแบบท่องจำ ตั้งใจยัดเยียดความรักชาติ
เป็นที่รู้กันค่ะว่าการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทยนั้น เน้นสอนให้เด็กท่องจำตามตัวอักษร ตามหนังสืออย่างตายตัว ต้องมานั่งฟัง นั่งจำ และตอบข้อสอบตามที่เรียนมาเท่านั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความสนใจและตั้งคำถามอย่างที่การเรียนประวัติศาสตร์ควรจะเป็น และการบังคับเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำอาจนำไปสู่การไม่สนใจเรียนประวัติศาสตร์ได้ นอกจากนี้ยังเน้นปลูกฝังข้อมูลให้รักชาติจนเกิดเป็นอคติและสร้างความเกลียดชังกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้นว่าพม่าเป็นคนเผากรุงศรีฯ หรือกัมพูชาเป็นประเทศที่ไม่น่าไว้ใจ ซึ่งผิดกับยุคสมัยที่เราควรสอนให้เยาวชนมีสำนึกความเป็นพลเมืองโลกและร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อการพัฒนา
การเรียนประวัติศาสตร์เคยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสำนึกรักชาติ แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ความรู้และเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์ควรปรับปรุงให้ทันยุคสมัย นำชุดข้อมูล ชุดความคิดใหม่ ๆ สอนให้เด็กตั้งคำถาม สอนประวัติศาสตร์อย่างเปรียบเทียบ สอนให้หาข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้พวกเขาได้คิด วิเคราะห์ และแยกแยะว่าชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใดถูกต้อง ท้ายที่สุดกระบวนการการเรียนรู้เหล่านี้จะสอนให้เยาชนของชาติสามารถรักชาติได้อย่างมีตรรกะและเหตุผล ไม่ใช่รักชาติแบบคลั่งจนนำไปสู่ความผิดพลาดแบบในอดีต
การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เด็กรักชาติแบบเดิมซึ่งอาจนำไปสู่ชาตินิยมล้นเกิน ซึ่งสร้างผลเสียมากกว่าผลดี แม้ว่า รมว.ศึกษาธิการ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้บังคับให้เด็กรักชาติ เช่นนั้นทำไมถึงเลือกเจาะจงแยกวิชาประวัติศาสตร์เพียงวิชาเดียว ทั้งที่ทุกวิชาสมควรต้องปรับปรุงทั้งหมด
เพิ่มภาระให้ครูและนักเรียน
หลักสูตรการเรียนในปัจจุบันของไทยซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2544 กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนมากกว่า 1,200 ชั่วโมง ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชั่วโมงการเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับแย่เป็นอันดับท้าย ๆ ของโลก ดังนั้นการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาต่างหาก จะยิ่งทำให้เด็กต้องเรียนหนักขึ้นหรือไม่ และโดยปกติแล้ววิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ในวิชาสังคมอยู่แล้ว ซึ่งมีหน่วยกิตอยู่ประมาณ 0.5 หรือ 1 หน่วยกิตต่อสัปดาห์ที่ต้องเรียน และนักเรียนต้องเรียนอยู่แล้วตลอด 12 ปี ทำไมเราถึงต้องแยกออกมาเพื่อเพิ่มภาระให้ทั้งครูและนักเรียนกันด้วยล่ะคะ
.
อีกอย่างปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอก็เป็นปัญหาที่หลาย ๆ โรงเรียนเจอ โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาทำให้ครูต้องเตรียมการสอนวิชานี้เป็นการเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่การเรียนการสอนในปัจจุบันก็มีเยอะมากเกินพอ การเพิ่มวิชามากขึ้นก็มีแต่ทำให้ภาระตกอยู่ที่ครูและนักเรียนมากขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าประสิทธิภาพในการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ ก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
.
ดังนั้นการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาต่างหาก มีแต่จะสร้างภาระให้กับครูและนักเรียนโดยไม่จำเป็น การปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ใช่แยกออกมาเพื่อเรียนโดยเฉพาะ แต่ต้องปรับให้กระบวนการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเพิ่มเวลาเรียนให้กับนักเรียน ไม่ต้องสร้างงานให้ครู ใช้เวลาน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแบบนี้ไม่ดีกว่าเหรอคะ
.
🔴 ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
.
อย่างที่หญิงกล่าวไปแล้วว่าการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบเดิม ๆ นั้นไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกที่เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำตามตัวอักษรและคิดไม่ได้ การศึกษาในยุคปัจจุบันนั้นควรยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพราะเขาคือคนที่ต้องอยู่กับสิ่งนี้ตลอด 12 ปีของการศึกษาภาคบังคับ หญิงเห็นด้วยค่ะว่าเราควรจะปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ แต่จะปรับอย่างไรนั้น ควรให้ความสำคัญกับเสียงของครูและนักเรียนด้วย การแยกวิชาประวัติศาสตร์จึงดูเป็นการปรับเปลี่ยนที่มาจากข้างบนหอคอยงาช้าง โดยไม่ได้รับฟังเสียงของผู้เรียนว่าต้องอะไรกันแน่
.
เราอาจจะต้องเริ่มต้นก่อนว่าหัวใจของวิชาประวัติศาสตร์คืออะไรกันแน่ คือ การพร่ำบอกให้เด็กรักชาติโดยไม่ต้องตั้งคำถามใด ๆ หรือคือการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมาในอดีต นำปรับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบันได้ไหม และจะก้าวไปสู่อนาคตโดยไม่ทำผิดซ้ำได้อย่างไร ถึงที่สุด การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเช่นนี้ต้องการอะไรกันแน่ ถ้าเพื่อต้องการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม การทำเช่นนี้มันตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและโจทย์ของการพัฒนาเยาวชนเพื่อการพัฒนาของชาติเราจริงหรือไม่
การศึกษาไทยควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
หญิงว่าสิ่งสำคัญของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาคือการทำให้มันดีขึ้น ตอบโจทย์์กับผู้เรียน ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตและขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็แล้วแต่จะต้องมีเนื้อหาและกระบวนการการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย พัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้กับเยาวชนได้ สิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าควรจะทำ คือ ยกเครื่องการศึกษาใหม่ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียน
การศึกษาไทยควรพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชน ทำให้คนรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และเข้าถึงสำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยอย่างเท่าเทียม เป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัด ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนและรู้ได้ตลอดชีวิต ต้องมีวิชาที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่มีไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ ทำให้พวกเขาเจอในสิ่งที่ชอบ สามารถค้นหาตัวตนของตัวเองได้ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และสุดท้าย การศึกษาควรเป็นฐานเพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างไม่ด้อยกว่าชาติใด
นี่คือหน้าตาของการศึกษาไทยที่หญิงอยากเห็น แต่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไม่สามารถทำให้เด็กนักเรียนมีความสุขกับการเรียนได้ พวกเขาไม่สามารถค้นหาตัวเองได้ และไม่ได้เตรียมเด็กไทยให้พร้อมในการทำงานได้ มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากมายเพราะความไม่ใส่ใจของภาครัฐ อันดับของการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทุกปี เด็กไทยขาดทักษะที่จำเป็นกับโลกยุคใหม่
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของนายกฯ ที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา การปลูกฝังให้เด็กรักชาติแบบท่องจำโดยห้ามตั้งคำถาม ไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติได้หรอกนะคะ แต่เราต้องทำให้การศึกษาสามารถมอบอนาคตที่มั่นคงและมีรายได้ที่มั่งคั่ง เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นของประเทศและประชาชนไทย และให้เด็กมีความสุขกับการเรียนอย่างที่พวกเขาต้องการ นี่แหละค่ะที่สำคัญที่สุด