เสียงสะท้อนเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก ย้อนปมรากเหง้าระบบตำรวจ-กองทัพ สู่มาตรการป้องกันเหตุซ้ำ

นักวิชาการ ประสานเสียง ชี้ปม ‘กราดยิง’ รากปัญหา ระบบตำรวจ-กองทัพ ถามรัฐบาล จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกได้อย่างไร “ครูจุ๊ย”  เสนอมาตรการทุกระยะ ครอบคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุกราดยิง ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เร่งเยียวยาเหยื่อโดยเร็วอย่าให้ประชาชนรับภาระเอง “ทวี” จี้รัฐปราบยาเสพติด ต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ”ปืน” เกลื่อนประเทศ ไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ

 

วันที่ 7 ต.ค.65 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็น กรณี อดีตตำรวจ ก่อเหตุกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่ จ.หนองบัวลำภู ความว่า ในสหรัฐอเมริกาการกราดยิงประชาชน หรือเด็กนักเรียน แม้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบคือไม่มีสักครั้งที่คนลงมือจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ผู้ลงมือกราดยิงในประเทศไทย 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นทหารหรือตำรวจทั้งสิ้น

เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู ผู้ลงมือ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะถูกให้ออกจากราชการแต่ก็ยังไม่นาน ส่วนที่นครราชสีมาเมื่อ 2 ปีก่อน คนกราดยิงก็เป็นทหาร

แต่ที่หนองบัวลำภูน่าตกใจและเศร้าสลดกว่ามาก เพราะนอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากกว่าแล้ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงเด็กเล็กๆ แบบที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครใจร้ายทำกับพวกเขาได้ลงคอแบบนี้

การที่คนก่อเหตุทั้งสองครั้งเป็นทหารและตำรวจ ไม่น่าจะเป็นเพียงปัญหาที่ตัวคนลงมือที่เครียดหรือติดยาเท่านั้น แต่น่าจะเป็นปัญหาบางอย่างภายในกองทัพและในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก

สิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินจากรัฐบาล คือจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกได้อย่างไร และกองทัพ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดูแลเจ้าหน้าที่ที่มีปืนไม่ให้เอาปืนมากราดยิงประชาชนและเด็กๆ อีกได้อย่างไร!

ขอแสดงความเสียใจต่อคุณพ่อคุณแม่และผู้สูญเสียทุกท่าน เราทุกคนขอเป็นกำลังใจให้ครับ ขอให้เด็กๆ ทุกคนหลับให้สบาย และจากนี้ไปขออย่าให้มีเด็กคนไหนโดนกระทำอย่างนี้อีกครับ

ขณะที่ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า ผู้ก่อการสูบยาบ้ามานาน แต่ยังคงรับราชการตำรวจ เพิ่งโดนไล่ออกปีที่แล้ว หลังเกิดเหตุ รองนายกฯตอบว่า จะให้ทำไง ก็เขาติดยา ส่วนนายกฯบอกให้ลดธงครึ่งเสา

ปัญหาที่เห็นคือยาเสพติดและปืน แต่รากปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ระบบของตำรวจและกองทัพ ปล่อยให้บุคลากรคลั่งทำร้ายประชาชน #กราดยิงหนองบัวลำภู

ด้าน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้าโพสต์เสนอมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้เหตุกราดยิงที่จ.หนองบัวลำภูเกิดขึ้นอีก โดยระยะสั้น ขอให้ผวจ.หนองบัวลำภูตั้งคณะทำงานพิเศษบูรณาการหน่วยงานทั้งราชการและเอกชน ตัวแทนจากพื้นที่ เพื่อดูแลเยียวยาเป็นไปได้อย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ติดกรอบปัญหาระเบียบราชการใดๆ

โดยครอบคลุมการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องดูแลกันเองเด็ดขาด

2.สำรวจความเสียหายทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินอย่างละเอียดเพื่อวางแผนเยียวยาในระยะกลางต่อไป โดยจะต้องไม่รวมถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็ก ๆ ที่บางพื้นที่อาจได้ประสบพบเจอกับการใช้อาวุธทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากภาพข่าว ครอบครัวที่อยู่ในสภาวะหวาดกลัวแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่

3. ออกคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิตสำหรับผู้ปกครองและบุคลากรที่ต้องทำงานกับเด็กทุกคนในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสื่อสารกับเด็กเรื่องการสูญเสีย สถานการณ์กราดยิง และวิธีการสังเกตอาการของเด็กและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง โดยทำออกมาให้ง่าย สื่อสารให้ทั่วถึง และบ่อยครั้ง

สำหรับระยะกลางนั้น 1. ความปลอดภัยของบุคคลากร 2. ความปลอดภัยของอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3. ความปลอดภัยในการเข้าถึงตัวเด็กในศูนย์ และ4. ความปลอดภัยจากความสัมพันธ์ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็ก โดยความปลอดภัยโดยเฉพาะสภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่ต้องมั่นคง ผาสุก โดยเฉพาะวัยปฐมวัยที่เป็นรากฐานของชีวิต ประเด็นนี้จำเป็นต้องอาศัยสหวิชาชีพเข้ามาช่วยดูแล และให้ความรู้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมถึงครอบครัว

ส่วนระยะยาว ระบบเตือนภัยที่ได้มาตรฐานและเข้าถึงง่ายหากเกิดเหตุเพื่อลดภาวะความสับสน การถอดบทเรียนของผู้ก่อเหตุอย่างละเอียดถึงสภาวะจิตใจต่าง ๆ เพื่อออกแบบการป้องกันเหตุผ่านการจับสัญญาณอันตรายต่าง ๆ ของผู้คนที่อยู่ใกล้ชิด รวมถึงการให้ความรู้กับผู้คนในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลกันภายในชุมชน

หน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะบุคลากรที่เข้าถึงและครอบครองอาวุธจำเป็นต้องมีการประเมินสุขภาพจิตของบุคลากรอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยประละเลยให้เป็นเรื่องที่มองข้ามไป ประเมินผลกระทบในทุกมิติและนำข้อมูลความปลอดภัยจากการสำรวจและออกแบบมา ออกแบบการฝึกฝนทุกคนให้เข้าใจถึงภัยพิบัติและสถานการณ์กราดยิง และได้ฝึกฝนหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้แสดงความเห็นระหว่างร่วมเป็นประธานการประชุม ที่ห้องประชุมแกรนด์มีรอซ 1 โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพฯ เมื่อคนในห้องประชุมทราบข่าว ต่างพากันตื่นตระหนก และได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น

พ.ต.อ.ทวี ในฐานะอดีตรองผู้บังคับการกองปราบปราม และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียและครอบครัว ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งรัฐจะต้องดูแลปกป้องคุมครอง ขอให้กำลังใจกับครอบครัว และเท่าที่ทราบยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

“ปัญหาหนึ่งของบ้านเราที่พูดกันมาตลอด คือเรายังไม่มีมาตรการควบคุมการมีอาวุธปืนที่ดีพอ ทั้งการครอบครอง และจำนวนการมีอาวุธปืนของคนในประเทศ เราไม่มีขีดจำกัด บางคนมีอาวุธปืนเป็นของสะสม เป็นสมบัติชนิดหนึ่งด้วยซ้ำ ทั้งยังไม่มีมาตรการ การเก็บรักษา การดูแล”

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงเวลาต้องยกเครื่องมาตรการใหม่ การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นงานอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ต้องมีการตรวจสอบมากขึ้น จำนวนอาวุธที่มีการอนุญาต มีเท่าไหร่กันแน่ ต้องแยกแยะสำหรับบุคคลธรรมดา มีเท่าไหร่ ถ้าไปรวมกับหน่วยราชการที่จัดโครงการให้ข้าราชการในสังกัดซื้ออาวุธปืนจำนวนมาก ที่เรียกว่าโครงการปืนสวัสดิการ มีอีกจำนวนเท่าไหร่ เรื่องแบบนี้ต้องมีข้อมูลทั้งหมด และต้องไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ลักษณะการเกิดเหตุจากคนมีปืน โดยเฉพาะรายนี้น่าจะป่วยทางจิตด้วย คำว่าป่วยทางจิต เพราะอยู่ๆ ก็เข้าไปฆ่าเด็ก ทราบว่าเคยเข้าไปสัมผัสกับโรงเรียนแห่งนี้ (เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) อาการที่ไปทำอย่างนี้ได้ ก็มาจากยาเสพติด ผลก็คือไปสังหารเด็ก ไปก่อเหตุโศกนาฏกรรมต่อสังคม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหายาเสพติด ต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ผ่านมาทำงานจนจะหมดเทอมแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

“ผู้ที่กระทำความผิดเป็นอดีตข้าราชการ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อย่างมาก ก็อยากเรียกร้องรัฐบาลให้เข้าไปดูแลเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย และได้รับบาดเจ็บทั้งหมด ต้องเข้าไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะครอบครัวกำลังเศร้าสลด”

นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีสันติวิทย์สงขลา กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องหน่วยภาครัฐเยียวยา และหามาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นคล้ายกับกรณีที่ศูนย์เด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ได้ด้วยเหมือนกัน

“รู้สึกช็อกมาก ไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้านเรา ก็ต้องแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งหมด ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะในสถานศึกษา ขอเรียกร้องทางภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันดูแลเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายด้วย”

“เหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะ เป็นครั้งแรกของบ้านเรา ทำให้รู้สึกสะเทือนอย่างมาก เป็นอีกเคสหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวัง ในอนาคตข้างหน้าอย่าให้เกิดขึ้นกับสถานศึกษาอื่นๆ อีก แนวทางการป้องกันการดูแลความปลอดภัยของเด็กต้องครอบคลุมถึงเรื่องนี้ด้วย เมื่อก่อนเราควบคุมความปลอดภัยในด้านอื่น แต่วันนี้เนื่องจากว่าประเทศอาจจะมีเรื่องยาเสพติดเข้ามามากมาย ก็ควรร่วมกันหามาตรการในเรื่องนี้ไว้ด้วย”

ผอ.มังโสด เสนอว่า หน่วยงานต้นสังกัดทุกสังกัดในการจัดการศึกษา ต้องให้สถานศึกษากำหนดอาณาเขตให้ชัดเจน สามารถตรวจสอบบุคคลเข้าออกได้ สถานศึกษาควรมีเจ้าหน้าที่คัดกรองผู้ติดต่อ โดยเฉพาะศูนย์เด็ก ในการเฝ้าระวังผู้ไม่ประสงค์ดี หน่วยงานทุกสังกัดควรมีแผนเผชิญเหตุในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมในช่วยเหลือ และระงับเหตุที่ทันท่วงที

ด้าน นายรอสดี แมงกาจิ ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาวิทยายะลา กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับผู้ปกครองและผู้สูญเสีย ในฐานะคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคนยะลา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ปกครองของเด็กๆ ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ

“เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนบ้านเรา สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นเรื่องที่เศร้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภาพหลอน หรืออาจมีคดียาเสพติด อะไรต่างๆ ก็เครียด อย่างบ้านเราก็เยอะมากเรื่องยาเสพติด บางครอบครัวอาจโดนลูกที่ติดยาเสพติดปาดคอแม่ เรื่องแบบนี้มีแล้วในบ้านเรา อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย”