สปสช. บรรจุบริการ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ในระบบประกันสุขภาพแล้ว

สปสช.บรรจุ บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ดูแลความปลอดภัยหญิงไทย-อำนวยความสะดวกเข้าถึงยาคุม

 

วันที่ 4 ต.ค.2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่พึงประสงค์ ที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยต้องประสบภาวะการยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่ปลอดภัย นำไปสู่อันตรายและเสียชีวิต หรือความผิดปกติหรือทุพพลภาพอย่างร้ายแรงของทารกที่จะคลอดออกมา

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงบรรจุ บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยาหรือวิธีการทางศัลยกรรม โดยมีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพ ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา ซึ่งลงทะเบียนกับกรมอนามัย จำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การขอรับหรือการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เป็นไปตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งได้เผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย. 65 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ ที่กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา

แต่หญิงนั้น ต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุข ประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลการบริการเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งปีงบประมาณ 2565 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล 12,544 ราย และเพื่อป้องกันภาวะการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น กองทุนบัตรทองได้จัดสิทธิประโยชน์บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร อาทิ การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด แก่ผู้หญิงหลังยุติการตั้งครรภ์ด้วย

สำหรับปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ร้านยา และยังขยายหน่วยบริการ โดยให้ไปรับบริการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาล (เฉพาะบางรายการ) ที่เข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากรับบริการที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการอื่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อีกทั้งเพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์สำหรับบริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ด้วยวิธีใส่ห่วงอนามัยและการฝังยาคุมกำเนิด จากเดิมที่ให้เฉพาะหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี และกรณีอายุมากกว่า 20 ปีเฉพาะหลังการยุติการตั้งครรภ์เท่านั้น เป็นให้สิทธิกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด