“เศรษฐพุฒิ” ชู 5 หางเสือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-มุ่งแก้หนี้ครัวเรือน

“เศรษฐพุฒิ” ชู 5 หางเสือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-มุ่งแก้หนี้ครัวเรือน

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ระดับปกติได้ราวปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 และสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายปี 2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทิศทาง หรือหางเสือสำคัญที่เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่วางไว้ 5 หางเสือ

โดยหางเสือที่ 1 การส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างราบรื่น (สมู้ดเทคออฟ) โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ หลังเผชิญวิกฤตโควิด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างสมู้ดเทคออฟ หรือฟื้นตัวอย่างไม่สะดุด โดยปัจจัยที่จะทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้ ด้านแรก คือ เงินเฟ้อ หากระดับตัวเลขวิ่งสูงเกินไป อาจทำให้การฟื้นตัวสะดุด หรือเกิดภาวะการเงินตึงตัวเกินไป หรือภาคการเงินไม่สนับสนุนการฟื้นตัวก็อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้

อีกทั้งการดำเนินนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนโยบายการเงิน และระบบสถาบันการเงิน จึงจำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทำมาตรการทางการเงิน ที่จะเปลี่ยนจากมาตรการปูพรมแบบกว้างๆ ไปสู่มาตรการเฉพาะเจาะจง และตรงจุดมากขึ้น

หางเสือที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน จากข้อมูลพบว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตโควิดจากระดับ 50% ของจีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 80% ต่อจีดีพี และแตะระดับสูงสุดที่ 90% ต่อจีดีพี แม้ว่าตอนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพีแล้ว ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงไปเมื่อเทียบกับระดับที่คิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืน แต่จากเกณฑ์สากลปกติของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (องค์กร BIS) ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี ดังนั้น ถ้าไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนกลับมาสู่ระดับที่ยั่งยืนอาจส่งผลให้การฟื้นก็สะดุดได้

ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องยึด 3 องค์ประกอบ คือ 1. ต้องทำการแก้หนี้แบบครบวงจร โดยต้องดูทั้งช่วงของการมีหนี้ ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ช่วงระหว่างที่ก่อหนี้ และสุดท้ายตอนที่มีปัญหากับหนี้และจะต้องแก้หนี้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ หากเข้มงวดกับสถาบันการเงินเรื่องการปล่อยหนี้ตั้งแต่แรกคงไม่เหมาะสม เพราะอยากให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ แต่สุดท้ายแล้วถ้าจะแก้หนี้ครัวเรือนให้กลับมาสู่ระดับที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องไปดูตั้งแต่เรื่องการปล่อยหนี้ หรือการสร้างหนี้ต่างๆ

2.ต้องทำให้ถูกหลักการ หรือการทำอะไรที่ควรทำ และอะไรที่ไม่ควรทำ คือการแก้หนี้ต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน (moral hazard) ซึ่งจะทำให้พังทั้งระบบ และการแก้ควรตรงจุดมากกว่าทอดแหเพราะว่าทรัพยากรด้านสินเชื่อมีจำกัด 3.การแก้หนี้ ต้องไม่ใช่การผลักภาระหนี้ไปในอนาคต และไม่ทำให้ภาระหนี้ลด ซึ่งมาตรการแบบพักตรงโน่น พักตรงนี้คงไม่ใช่ เพราะหนี้และดอกยังวิ่งอยู่ส่งผลให้ภาระหนี้ไม่ได้ลดลง

ทั้งนี้ การที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องของสินเชื่อก็ต้องทำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว เช่น เมื่อมีประวัติการเป็นหนี้แล้ว ผู้ปล่อยกู้จะพิจารณาก่อนให้สินเชื่อใหม่และอาจจะไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้ เพราะมีประวัติอยู่แล้ว เป็นต้น จึงต้องดูว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกผลักดันออกจากแหล่งเงินทุน

หางเสือที่ 3 คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม (Green) ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศในแถบยุโรปกำลังหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเข้ามาและส่งผลให้การแข่งขันของไทยทางด้านการค้าระหว่างประเทศลดลง ดังนั้น หากไทยไม่ตื่นตัวให้เร็วผลกระทบที่จะตามมาอยากสร้างปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดตัว ดังนั้น เป้าหมายคือทำอย่างไรให้ภาคการเงินช่วยสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่านี้ ซึ่งหลายเรื่องต้องการแรงผลักดันของรัฐบาล และ ธปท.ต้องเตรียมแนวทางให้สถาบันการเงินดำเนินการตาม รวมถึงประชาชนของประเทศในการแก้ไขปัญหาให้ตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หางเสือที่ 4 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการจัดวางระบบเศรษฐกิจ (อีโคซิสเต็ม) โดยต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่มี ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก เช่น ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ระบบคิวอาร์โค้ด เป็นต้น ที่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับกระแสดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการต่อยอดระบบด้วยการติดต่อการเชื่อมระบบการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบคิวอาร์โค้ดเพย์เมนต์ ซึ่งไทยมีการเชื่อมต่อกับประเทศมากที่สุดในอาเซียน คาดว่าจะขยายไปที่ประเทศอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ มีการเชื่อมระบบชำระเงินระหว่างพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย กับเพย์นาว (PayNow) ของสิงคโปร์ สะท้อนว่าไทยพร้อมรับดิจิทัลที่เกิดขึ้น

รวมถึงจะมีบริการพร้อมบิซ (PromptBiz) ที่เป็นบริการทางการเงินที่ใช้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และเอสเอ็มอีที่จะเกิดใหม่ขึ้นมาช่วยลดต้นทุนในด้านการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น และลดการใช้เอกสารโดยไม่จำเป็น เช่น การชำระเงินระหว่างบริษัทจะมีการบันทึกใบเสร็จในระบบดิจิทัล เป็นต้น

และหางเสือที่ 5.การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร (HROD) โดยการปรับเปลี่ยนการดำเนินการภายในองค์กร โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน