ไตรศุลี แจง แม้ พ.ร.บ.กัญชา ยังไม่ได้ใช้งาน แต่มีกฎหมายควบคุม ออกหลักเกณฑ์ใช้งานได้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไตรศุลี แจง แม้ พ.ร.บ.กัญชา ยังไม่ได้ใช้งาน แต่มีกฎหมายควบคุม ชี้ออกหลักเกณฑ์ใช้งานได้

 

วันที่ 18 กันยายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ถอนร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุมโดยให้มีการทบทวนร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสความกังวลว่า จะไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา และกัญชงนั้น

รัฐบาลขอยืนยันว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุมการใช้กัญชา กัญชงให้เหมาะสมอย่างรอบด้าน โดยนับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ โดยปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชา และกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเว้นแต่เพียงสารสกัดจากกัญชา และกัญชงที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังถือเป็นยาเสพติด มีผลมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 65 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมให้เกิดการใช้ให้เป็นไปตามนโยบาย ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้ว ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 65 ควบคุมไม่ให้มีการ สูบ เสพในที่สาธารณะทุกประเภท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 65 มุ่งกำกับให้มีการใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรควบคุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน มีการห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านการควบคุมการนำกัญชาไปประกอบอาหาร มีประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ทางด้านผู้ประกอบการที่จะนำกัญชา กัญชงไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง ก็ต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ

“แม้ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ยังคงต้องอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ก็จะควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ไปจนกว่า พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์จะออกมาบังคับใช้ หรือหากมีกรณีใดที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับก็มี คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน สามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว