กรมวิทย์ ย้ำ ไม่พบสัญญาณ “โควิด” กลายพันธุ์ผิดปกติ ขออย่าตื่นตระหนก

กรมวิทย์ ย้ำ ไม่พบสัญญาณ “โควิด” กลายพันธุ์ผิดปกติ อย่าตื่นตระหนก แนะใช้ชีวิตป้องกันตนเองตามปกติและฉีดวัคซีนเพียงพอ ไม่ต้องกังวล-ซีเรียส

 

วันที่ 14 ก.ย.65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ช่วงวันที่ 3-9 ก.ย. 2565 จำนวน 359 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 ถึง 333 ราย คิดเป็น 92.7% BA.2 จำนวน 20 ราย คิดเป็น 5.57% BA.2.75 จำนวน 5 ราย คิดเป็น 1.39% และ BA.1.1.529 จำนวน 1 ราย คิดเป็น 0.28%

ขณะที่การถอดรหัสพันธุกรรมตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 เป็นต้นมา จำนวน 803 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็น BA.5 จำนวน 688 ราย หรือ 85% BA.4 จำนวน 106 ราย คิดเป็น 13% และ BA.2.75 และลูกหลาน 9 ราย สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่ BA.5 ยังสูงขึ้น BA.4 ลดลง และ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สถานการณ์ในไทยก็ไปไปในแนวทางเดียวกัน

“การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส ตั้งแต่อู่ฮั่นมา สายพันธุ์จี อัลฟา เบตา เดลตา โอมิครอน ก็มีการกลายพันธุ์ตำแหน่งต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตาดูการกลายพันธุ์ตำแหน่งต่างๆ จะส่งผลการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนหรือไม่ โดยสายพันธุ์ BA.2.75 ตัวแม่ ก็มีการกลายพันธุ์ออกมาเป็น BA.2.75.2 ซึ่งมีการการพันธุ์ตำแหน่ง R346T และ F486S

ซึ่งการสังเกตการกลายพันธุ์ในห้องแล็บก็คาดว่า อาจส่งผลเรื่องความรุนแรงหรือแพร่ระบาดง่ายขึ้นหรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมอย่างเดียว ยังตอบในโลกความเป็นจริงไม่ได้ อย่าง BA.2.12.1 ที่เคยคิดว่าเป็นปัญหาก็เงียบหายไป ถ้ามีตัวใหม่ๆ ขึ้นมาอย่าเพิ่งตระหนกตกใจ” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศษสตร์การแพทย์ รายงานการเจอ BA.2.75 และลูกหลานเข้าสู่ฐานข้อมูลโลก GISAID จำนวน 9 ราย อยู่ที่แพร่ 2 ราย กทม. 5 ราย ตรัง 1 ราย และสงขลา 1 ราย ซึ่งจังหวัดไม่ได้มีความหมาย แค่บอกว่าส่งมาจากที่ไหน

โดย กทม. เจอสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ BA.2.75.2 ที่บอกว่าเจอรายแรก เรายังเจอ BA.2.75.1 และ BA.2.75.3 ซึ่งก็เป็นรายแรกด้วย ที่เหลือ 6 รายเป็นตัวแม่ คือ BA.2.75

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก จับตาดูสถานการณ์ 2 สัปดาห์เทียบกันเมื่อช่วงสิ้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 84.8 เป็น 86.8% ส่วน BA.4 ลดลง จาก 6.8% เหลือ 4.2% ซึ่งเดิมคิดว่า BA.4 ต่อ BA.5 คิดเป็นประมาณ 1 ต่อ 4 ก็กลายเป็น 1 ต่อ 6 ส่วนวันนี้เป็น 1 ต่อ 7

“ส่วน BA.2 ตัวแม่ใหญ่ไม่ได้เพิ่มไม่ได้ลด ส่วน BA.2.75 และลูกหลาน เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย จาก 0.9% มาเป็น 1.2% การเฝ้าระวังทั้งโลกเป็นอย่างนี้ อย่าไปจับเฉพาะจุด

นอกจากนี้ ยังมีการหยิบข้อมูลบางอย่างมาโพสต์ในโซเชียลทำให้ตกใจว่า BA.2.75.2 มีอำนาจในการเพิ่มจำนวนเมื่อเทียบกับ BA.5 ซึ่งเร็วอยู่แล้ว ก็เร็วขึ้นถึง 114% หรือเท่าเศษซึ่งตรงนี้เป็นการสันนิษฐานจากทำแบบจำลองโมเดลลิ่งจากข้อมูลที่ส่งมาทั่วโลก

แต่ของจริงจะเป็นหรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ เหมือนตอนโอมิครอนมาแทนเดลตา เราจะเห็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่จริง อย่าลืมว่าการตรวจการกลายพันธุ์ในโลก ไม่ได้ทำมากเท่าเดิม บางประเทศถือว่าไม่ได้ซีเรียสอะไรแล้ว หน้ากากก็ถอดแล้ว การตรวจก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของสถานการณ์ได้แท้จริง แต่เราไม่นิ่งนอนใจ ก็เอามาเฝ้าระวัง” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการเจอ BA.2.75 เราเจอมาหลายสัปดาห์ ซึ่งในรายที่ 6 เป็นชายอายุ 82 ปี เป็น BA.2.75 เก็บตัวอย่างวันที่ 13 ก.ค. มีอาการไข้ รายที่ 7 เป็นชายต่างชาติอายุ 48 ปี เจอ BA.2.75.1 เก็บตัวอย่างวันที่ 26 ส.ค. มีอาการไอแห้ง เจ็บคอ และไข้ 1 วันก่อนมา รพ.

ายที่ 8 เป็นชายไทยอายุ 73 ปี เป็น BA.2.75.2 เก็บตัวอย่างวันที่ 11 ส.ค. อาการไอ เสมหะ ไข้ 39 องศา ถ่ายเหลว และรายที่ 9 เป็นชายต่างชาติ เป็น BA.2.75.3 เก็บตัวอย่าง ส.ค. มีไข้ 2 วัน เจ็บคอ ไอแห้งนานๆ ครั้ง ทั้งหมดหายออกจาก รพ.แล้ว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนมีคนออกมาให้ข้อมูลสายพันธุ์ BJ.1 ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ BA.2.10.1 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เพิ่ม หากมีจุดเยอะก็จะวุ่นวาย จึงเรียกรวบ BA.2.10 มาเป็น BJ เพราะตัว J คืออักษรตัวที่ 10 เป็นแค่หลักการเรียกชื่อ ไม่ต้องตกใจว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็เป็นลูกหลานของ BA.2

ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่ากรมวิทย์ร่วมมือกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์และรายงาน GISAID อย่างต่อเนื่อง หากตรงไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ตัวนั้นตัวนี้มีปัญหา ก็จะจับตาดู และให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจจับได้ตั้งแต่ขั้นต้น เช่น BA.2.75 ก็ตรวจได้ตั้งแต่ขั้นต้น ถือว่าไม่ได้ช้า ไม่ต้องกังวล และสถานการณ์จริงในไทยยังเป็น BA.5 ส่วน BA.4 ถอยลงไป เพราะแพร่ช้ากว่า ส่วน BA.2.75 และลุกหลานมี 9 ราย คิดเป็น 1%

คิดว่าประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ถ้าได้ข้อมูลที่เอามาโพสต์หวือหวาว่ารายแรก ก็ขอให้ตั้งสติ เอาข้อมูลบางส่วนมาบอกไม่ใช่ทั้งหมดก็อาจสับสนและตกใจ เรายืนยันว่ามาตรการฉีดวัคซีน และการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้เพียงพอ ไม่ต้องกังวลอะไรมากกว่านี้ กรมวิทย์จะช่วยเฝ้าระวัง หากมีเรื่องที่ต้องบอกก็จะบอก” นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามว่าทุกวันนี้ประชาชนควรใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจสายพันธุ์โควิดแล้วใช่หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ใช่ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรกังวลมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าหากมีอะไรผิดปกติขึ้นมา กรมวิทย์เรามีการเฝ้าระวังก็จะทราบ เช่น สัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว แต่ละสัปดาห์เพิ่มมาเป้น 5-10% ดูท่าไม่ดี เหมือนอย่างโอมิครอนก่อนหน้านั้นที่มาเร็ว หรือมีความรุนแรง

เช่น อัตราป่วยเสียชีวิต 1% แต่เพิ่มขึ้นก็ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีสัญญาณลักษณะนั้น ก็ขอให้ใช้ชีวิตตามปกติไม่ต้องกังวลหรือซีเรียสเรื่องสายพันธุ์ ซึ่งทุกวันนี้เราก็เข้มมาตรการมากกว่าทางฝั่งยุโรปหรือตะวันตก การใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรงนี้ก็เพียงพอ