ศึกซักฟอก : “ประยุทธ์” ให้แค่ 4 วัน ไม่รวมลงมติ แต่ “วิษณุ” เผยรัฐบาลไม่มีเงื่อนไข ขอไม่เอาวันที่ 18 ก.ค.

“ประยุทธ์” ลั่นกลางครม. พร้อมรับศึกซักฟอกมาราธอน ไฟเขียวเปิดเวทีตั้งแต่ 19 ก.ค. ไม่เกี่ยงโหวตวันเสาร์ บอกแจงเองเป็นหลัก กำชับพรรคร่วมรบ.ชูมือทิศทางเดียวกัน “วิษณุ” เผยรัฐบาลไม่มีเงื่อนไข ไฟเขียวซักฟอก 4 หรือ 5 วันก็ได้ ให้วิปแต่ละฝ่ายไปคุยกัน ย้ำชัดวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.ไม่ได้ ติดประชุมครม.

 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่างการพิจารณาในวาระ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานวิปรัฐบาล ได้รายงานเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งมาสอบถามถึงความพร้อมของครม. ว่าสะดวกที่จะให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่วันใด

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ข้อสังเกตกรณีที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายตั้งแต่วันที่ 18-22 ก.ค.มานั้น เห็นว่าในช่วง 1 สัปดาห์ ต้องมีการประชุม ครม. 1 วัน ดังนั้น หากเป็นไปได้ขอให้ประชุมครม.ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. แล้วเริ่มอภิปรายในวันอังคารที่ 19 ก.ค.เป็นต้นไป อาจจะอภิปรายไปถึงวันศุกร์ที่ 22 ก.ค. แล้วไปลงมติในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค.ก็ได้ จึงขอให้ครม.ตอบกลับไปว่า ครม.พร้อมตั้งแต่วันอังคารที่ 19 ก.ค.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำกับที่ประชุมว่า มีความพร้อมที่จะชี้แจง และยืนยันว่าจะเป็นผู้ชี้แจงหลักให้ตัวเอง ขณะนี้ตนเองได้ทำการบ้านอยู่ โดยประเมินจากที่ฝ่ายค้านได้นำเสนอออกมาเป็นระยะๆ ว่าจะอภิปรายในเรื่องใดบ้าง เป็นเรื่องเดิมๆ และขอให้รัฐมนตรีทุกคนที่มีชื่อถูกอภิปรายหรือไม่มีชื่ออยู่ในญัตติไปทำการบ้านมาให้ดี

จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ฉายสไลด์ข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และธรรมเนียมปฏิบัติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พร้อมกับเน้นย้ำว่า นอกจากรัฐมนตรีที่มีชื่อถูกอภิปรายแล้ว รัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ต้องเตรียมให้พร้อมด้วย เนื่องจากบางเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ถูกอภิปราย สามารถมอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงตอบได้ ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้นๆ รวมไปถึงรัฐมนตรีที่ไม่ได้ถูกอภิปรายสามารถสนับสนุนข้อมูล เช่น แผ่นสไลด์ ชาร์ตเอกสาร ให้กับรัฐมนตรีที่กำลังถูกอภิปรายได้นำไปชี้แจงได้

นอกจากนี้ นายวิษณุยังกำชับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายด้วยว่า ให้รีบลุกขึ้นชี้แจงในทันทีที่ถูกอภิปรายในเรื่องนั้นๆ ไม่ให้ทอดเวลาข้ามวัน ขณะเดียวกันนายวิษณุยังบอกถึงธรรมเนียมปฏิบัติของการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เมื่อถึงการโหวตของรัฐมนตรีคนใด ที่ผ่านมารัฐมนตรีคนนั้นๆ จะไม่โหวตให้ตัวเอง จะใช้วิธีงดออกเสียง แต่สามารถโหวตให้กับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ฝากนายอนุชาเรื่องคิวอภิปรายว่า ขอให้มีการแจ้งรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายก่อนล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวชี้แจงได้ทันที รวมถึงป้องกันการสับสนคิวและเวลาที่จะใช้ในการชี้แจง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำชับวิปรัฐบาลให้ไปประสานความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการลงมติ โดยให้เป็นทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เหมือนกับการลงมติร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ปรากฏว่า ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลโหวตไปคนละทิศละทาง ไม่เป็นไปตามมติวิปรัฐบาล

ต่อมาเวลา 13.10 น. นายวิษณุ กล่าวถึงการกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ว่า เราจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. และรัฐบาลพร้อมไปประชุมสภา วันที่ 19 ก.ค. เป็นต้นไป

ส่วนที่ฝ่ายค้านขออภิปราย 5 วัน ก็จะให้ไปคุยกันในวิป ทางรัฐบาลไม่พูดอะไรในเรื่องดังกล่าว แต่วันที่ 18 ก.ค. จำเป็นจะต้องประชุมครม. เพราะใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

เมื่อถามถึงกรณีวันประชุมครม.ที่ไปตรงกับวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ตรง เพราะเราประชุมครม.วันที่ 18 ก.ค. แต่พร้อมไปอภิปรายที่สภา ในวันที่ 19 ก.ค.

เมื่อถามว่ากรอบในการอภิปราย 5 วัน มองว่าเยอะไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ให้วิปแต่ละฝ่ายไปคุยกัน ทางรัฐบาลไม่มีเงื่อนไขอะไร และรัฐบาลยินยอมว่าจะให้อภิปราย 4 หรือ 5 วันก็ได้