ตามรอยคณะราษฎร จากธรรมศาสตร์ ถึงสวนสราญรมย์ / รายงานพิเศษ : กรกฤษณ์ พรอินทร์

รายงานพิเศษ

กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

ตามรอยคณะราษฎร

จากธรรมศาสตร์ ถึงสวนสราญรมย์

 

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ก่อนวันครบรอบ “90 ปี อภิวัฒน์สยาม” เพียง 1 วัน สำนักพิมพ์มติชน, มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกิจกรรมสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

การเสวนา “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา 90 ปีคณะราษฎร ก่อนเริ่มวงเสวนาในหัวข้อ “(อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดยมี คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง และ ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง 3 นักเขียนจากสำนักพิมพ์มติชนร่วมวงสนทนา ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจหลังวงสนทนาจบลงไปก็คือ กิจกรรม “Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์” โดยได้ 2 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎรอย่าง ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เป็นผู้บรรยาย ผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีคนล่วงรู้ จากตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านท้องสนามหลวง มุ่งตรงสู่สวนสราญรมย์

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายถึงความสำคัญของตึกโดม

ตึกโดม ดินสอเขียนฟ้า ที่แฝงหลักหกประการของคณะราษฎร

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ เกริ่นนำถึงการ Walking Tour ครั้งนี้ว่า การเดินสำรวจครั้งนี้เป็นไปเพื่อดูการใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการอภิวัฒน์ 2475 หลายสถานที่ที่เราจะเดินไปนั้น ทางกายภาพไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือรูปแบบการใช้งานที่จากเดิมเป็นของหลวงมาสู่การเป็นของราษฎร

แต่เดิมที่พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์เป็นพื้นที่ฝ่ายในของวังหน้า หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบวังหน้า ในเวลาต่อมา รัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทหาร คือกองพันทหารราบที่ 4 และบริเวณตึกโดมเป็นพื้นที่คลังแสงเดิม เมื่อแรกสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2577 เพื่อเป็นตลาดวิชา ก็ได้อาศัยอาคารโรงเรียนกฏหมาย กระทรวงยุติธรรมเป็นสถานที่เรียน จนได้ซื้อที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกองพันทหารราบที่ 4 และพื้นที่คลังสรรพาวุธ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ เช่นในปัจจุบัน

ตึกบัญชาการหรือ “ตึกโดม” นั้น เกิดจากการปรับปรุงเชื่อมต่ออาคารทั้ง 4 หลังของกรมทหารเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้นาย หมิว อภัยวงศ์ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุคสมัยนั้นเป็นผู้ออกแบบ หลังคาตึกโดมเป็นรูปทรงกรวยแหลม 2 ชั้น โดยที่ฐานกรวยออกแบบเป็นหกเหลี่ยม เพื่อสะท้อน “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎรในการออกแบบ ซึ่ง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร ได้แก่ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา”

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ช่วยขยายความเพิ่มเติมว่า หลัง 2490 ตึกโดมกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านั้นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์คือธรรมจักรและพานรัฐธรรมนูญ แต่หลังการล่มสลายของคณะราษฏรในปี 2490 การยึดโยงคณะราษฎรของชาวธรรมศาสตร์จึงเคลื่อนที่จากธรรมจักรและพานรัฐธรรมนูญ มาเป็นตึกโดมแทน ยังจะเห็นได้ว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก็ยังมีการสร้างโดมไว้ด้วย เพื่อสื่อสารความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เกิดขึ้น

ส่วนที่เรียกติดปากกันอย่างลำลองว่า “แม่โดม” หรือ “ลูกแม่โดม” นั้น ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายว่า เพราะคติผู้หญิงเป็นใหญ่ของไทย ที่อะไรที่ยิ่งใหญ่จะให้เรียกว่าแม่ เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ ลูกแม่โดมก็มีความหมายในนัยยะเดียวกัน ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของตึกโดมที่มีต่อชาวธรรมศาสตร์และบุคคลทั่วไป

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายถึงพื้นที่สนามหลวง

สนามหลวง จากพื้นที่หลวงสู่พื้นที่ราษฎร

พื้นที่สนามหลวงนั้น ทิศเหนือติดกับวังหน้า ทิศใต้ติดกับวังหลวง นับเป็นพื้นที่ยอดมงกุฎสำหรับเจ้านายในการจัดกิจกรรมและพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกสร้างพระเมรุในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ จึงเคยถูกเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่สนามหลวงถูกจัดให้เป็นลานเมืองตามอย่างยุโรป แต่เป็นกิจกรรมเฉพาะผู้ดีเท่านั้น ทั้งการเอาไว้ใช้ปลูกข้าวอวดชาวต่างชาติ เป็นที่ซ้อมรบของทหาร เป็นที่เล่นโขน ใช้ทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น แต่กระนั้นสนามหลวงก็ไม่ใช่พื้นที่สำหรับไพร่หรือสามัญชนอยู่ดี

ข้ามฟากสนามหลวงไปยังกลุ่มอาคารศาลฎีกา

จนหลัง 2475 และการปราบกบฎบวรเดช สนามหลวงถูกช่วงชิงความหมายจาก “หลวง” มาสู่ “ราษฎร” เมื่อครั้งที่คณะราษฎรจะใช้พื้นที่สนามหลวงในการสร้างเมรุเผาศพทหารตำรวจ 17 นาย จากเหตุการณ์ปราบกบฎบวรเดชเป็นครั้งแรก สร้างเมรุอย่างเรียบง่าย ยิ่งใหญ่ แต่สงบ ไม่มีลวดลายประดับแบบไทยอนุรักษ์หรือตกแต่งซับซ้อนใดๆ นัยว่าเป็นการปฏิเสธจารีตประเพณีแต่เดิมในทางหนึ่ง และปฏิเสธการแบ่งชนชั้นของคนผ่านลวดลายบนสถาปัตยกรรมต่างๆ เพื่อสะท้อนความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันของผู้คน

เปลวไฟและกลุ่มควันที่พวยพุ่งจากการฌาปนกิจศพทหารและตำรวจ 17 นายจากการปราบกบฎบวรเดช ได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์บนพื้นที่ท้องสนามหลวงที่เคยยืนยงมา 200 ปี และสร้างความหมายใหม่สวมทับพื้นที่เดิม แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตามที จากนั้น พื้นที่สนามหลวงได้มีความเป็นสาธารณะมากขึ้น ทั้งการออกร้านของประชาชน การเล่นว่าว และการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ

กลุ่มอาคารศาลฎีกา รื้อสถาปัตยกรรมคณะราษฎร สวมชฎาใส่หลังคาทรงไทย

ข้ามฝั่งสนามหลวงไปยังกลุ่มอาคารศาลฎีกา อย่างที่ทราบกันว่า ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมานับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลในยุครัฐบาลคณะราษฎร ปี 2481 ในการพยายามแก้ไขสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเป็นผลสำเร็จ

กลุ่มอาคารศาลฎีกา

กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกการได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล ฝีมือการออกแบบของสถาปนิกแนวสมัยใหม่ของกรมศิลปากร คือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์), หมิว อภัยวงศ์, หลวงบุรกรรมโกวิท และ ฯลฯ

รูปแบบผังกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า เป็นกลุ่มอาคาร 3 หลังเชื่อมติดกัน โดยแต่ละอาคารค่อยๆ สร้างขึ้น ไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด โดยอาคารหลังแรกที่สร้างคือ อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม (ระยะเวลาก่อสร้าง พ.ศ.2482 – 2484), อาคารศาลอาญากลุ่มเทพใต้ (ติดคลองคูเมืองเดิม) (ระยะเวลาก่อสร้าง พ.ศ.2484 – 2486), อาคารศาลฎีกา (ออกแบบใหม่ และก่อสร้าง พ.ศ.2502 – 2506)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาคารศาลฎีกาหลังเก่าได้ถูกรื้อถอน และสร้างขึ้นใหม่เป็นกลุ่มอาคารศาลแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ตามที่เห็นกันในปัจจุบัน

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ ศิลป-สถาปัตยกรรมคณะราษฏร ว่า การรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา เกิดจากการต้องการรูปทรงภายนอกอาคารเหนือสิ่งอื่นใด โดยมีความต้องการอยากได้อาคารศาลฎีกาที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปทรงไทยเท่านั้น เพราะสถาปัตยกรรมโมเดิร์นแบบเดิมที่สร้างไว้ ไม่มีความเป็นไทยเท่าที่ควร

ประตูสวัสดิโสภา

ประตูสวัสดิโสภา ศิลปะไทยเครื่องคอนกรีตที่แฝงตัวอยู่ในศิลปะจารีตประเพณี

ประตูสวัสดิโสภา เป็นประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังระหว่างป้อมเผด็จดัสกรและป้อมสัญจรใจวิง ประตูแห่งนี้แรกเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยมีหลวงบำเลอศักด์ ข้าหลวงในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทเป็นผู้รับผิดชอบ

เดิมทีประตูพระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำเป็นประตูยอดเครื่องไม้ แต่บูรณะก่ออิฐถือปูนอย่างฝรั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา และใน พ.ศ.2484 ประตูสวัสดิโสภาได้รับการบูรณะอีกครั้งจากการถูกฟ้าผ่าครั้งใหญ่ โดยใช้การผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสมัยใหม่ ที่เรียกว่า “ศิลปะไทยเครื่องคอนกรีต” โดยฝีมือของพระพรหมพิจิตร

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายถึงประตูสวัสดิโสภา

ประตูสวัสดิโสภาที่บูรณะใหม่นี้ สร้างแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎร โดยจะมีลักษณะเด่นคือการตัดทิ้งซึ่งลวดลายไทยแบบประเพณี ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันในช่วงสถาปัตยกรรมก่อน 2475 ซึ่งหากดูอย่างผิวเผินจะเห็นว่า ประตูสวัสดิโสภา ไม่แตกต่างจากประตูอื่นๆ บริเวณพระบรมมหาราชวัง แต่หากมองอย่างละเอียดจะพบว่า “ศิลปะไทยเครื่องคอนกรีต” บนประตูสวัสดิโสภาแตกต่างจากประตูอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

งาน “ศิลปะไทยเครื่องคอนกรีต” ที่โดดเด่นในยุคคณะราษฎรอีกชิ้นคือ เจดีย์มณฑปวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ที่หากสนใจ สามารถไปชมกันได้

ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง ถ่ายภาพพานรัฐธรรมนูณบนอาคาร “สโมสรคณะราษฎร”

สวนสราญรมย์ อาคารสมาคมคณะราษฎร ที่คนวิ่งผ่านกันทุกวัน

สวนสราญรมย์เป็นสวนชุมชน อยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นอุทยานของวังสราญรมย์ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กลายมาเป็นของคณะราษฎร ถูกใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลฉลองรัฐธรรมนูญและการประกวดนางสาวสยามประจำปี

แม้ปัจจุบันสวนสราญรมย์จะถูกใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายของคนพื้นที่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าแทบไม่มีใครรู้ว่ามีอาคารยุคก่อตั้งคณะราษฎรหลงเหลืออยู่ในส่วนนี้ ชนิดที่เรียกว่า วิ่งผ่านกันทุกวันแต่ไม่ทันได้มองหรือสังเกตกันด้วยซ้ำ

อาคารคณะราษฎรที่ว่านั้น ปัจจุบันเป็นที่ถูกชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในบริเวณสวนสราญรมย์ตอนเวลา 08.00 และ 18.00 น. ของทุกวัน

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงอยู่ภายใต้ความคุกรุ่นของการต่อสู้และความหวาดระแวงทางการเมืองระหว่างคณะเจ้าและคณะราษฎร ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎร จึงเปิดรับสมัครสมาชิก “สมาคมคณะราษฎร” มีการแบ่งโครงสร้างสมาชิกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. กองอาสาสมัคร ทำหน้าที่ในการรบ ช่วยเหลือทหาร

2. กองพลเรือน ช่วยเหลือกิจการฝ่ายธุรการของคณะราษฎร

3. กองนักสืบหรือการข่าว มีหน้าที่สอดส่องเหตุการณ์ต่างๆ ให้กิจการของคณะราษฎรดำเนินไปอย่างสะดวก รวมทั้ง จัดตั้งสาขาของสมาคมฯ ออกไปยังจังหวัดต่างๆ

สมาชิก “Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์”

แต่สมาคมคณะราษฎร ที่มุ่งขับเคลื่อนการเมืองและพิทักษ์ประชาธิปไตย ถูกจับจ้องจากฝั่งอนุรักษ์นิยมจนต้องเปลี่ยนเป็น “สโมสรคณะราษฎร” เพื่อมุ่งให้ความรู้แก่ประชาชน และมีความเป็นสโมสรสังสรรค์แทน

อาคาร “สโมสรคณะราษฎร” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2477 ที่พระราชวังสราญรมย์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อ “รวบรวมกำลังของคนไทยให้มีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นแหน่นหนา จะได้ช่วยกันทำนุบำรุงการปกครองภายในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงตลอดรอดฝั่งไปได้”

อาคารหลังนี้ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งเป็นสโมสรสังสรรค์ มุ่งปรึกษาหารือและให้ความรู้แก่สมาชิกสโมสรฯ กลายพื้นที่ในการปรึกษาหารือทางการเมือง (public sphere) ของเหล่าสมาชิก โดยสมาชิกล้วนยึดมั่น สนับสนุนให้พลเมืองอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยและยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างมั่นคง

คณะราษฎรอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ จาก “สโมสรคณะราษฎร” ได้แปรเปลี่ยนมาเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” ที่กลายเป็นสโมสรสังสรรค์อย่างเต็มตัว เป็นที่ดื่มเหล้า เล่นบิลเลียด หรือเป็นคลับของคนหนุ่ม จนต่อมาเมื่อเกิดไนต์คลับขึ้น การเข้าสมาคมของคนหนุ่มก็เปลี่ยนไป “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” ถูกลดความสำคัญลงไป จนต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่กลายเป็นที่ดื่มกินสังสรรค์ และยุบสลายลงช่วงกลางทศวรรษ 2520 ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ทั้งหมดนี้คือหมุดหมายใน กิจกรรม “Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ใครสนใจสามารถตามรอยกันได้ด้วยตัวเอง

แล้วคุณจะพบว่า คุณจะมองสถาปัตยกรรมเหล่านี้ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป •