อดีต รมว.คลัง เห็นด้วย!กับผู้ว่าแบงค์ชาติ เน้นการเติบโต ศก.มากกว่ารักษาเสถียรภาพ เพราะเงินเฟ้อไทยมาจากด้านต้นทุนนำเข้า

ศ.สุชาติ เห็นด้วย!กับผู้ว่าแบงค์ชาติ ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่ารักษาเสถียรภาพ เพราะเงินเฟ้อไทยมาจากด้านต้นทุนนำเข้า​ แต่อาจขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยได้​ เพราะดอกเบี้ยเรายั่งต่ำ

วันที่ 20 มิถุนายน 2565  ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย​ กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรอบคิด ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงค์ชาติ ที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน มากกว่าการรักษาเสถียรภาพที่ต้องทำให้เงินเฟ้อต่ำๆ​ และเงินทุนต่างประเทศไม่ไหลออก

2.เนื่องจากเงินเฟ้อไทยครั้งนี้ มาจากด้านต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น (Imported Cost Push Inflation) ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดอำนาจซื้อ อาจลดเงินเฟ้อไม่มาก รัฐบาลต้องแก้ไขเงินเฟ้อ ด้วยการลดการผูกขาดในหลายอุตสาหกรรม และลดค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงมากเกินไปด้วย

3.แบงค์ชาติญี่ปุ่นใช้แนวความคิดนี้ จึงได้ปล่อยให้ดอกเบี้ยติดลบ 0.1-.02 ตั้งใจทำให้ค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งอ่อนลงแล้ว 22% เทียบปีที่แล้ว มีผลให้การส่งออก การบริโภค การลงทุน การจ้างงาน และรายได้ประเทศ (GDP) สูงขึ้น ประชาชนฐานะดีขึ้น เพราะเงินเฟ้อในญี่ปุ่น ก็มาจากต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น

4.ในขณะที่สหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรปหลายประเทศ เกิดเงินเฟ้อ ประมาณ 9-10% เพราะทำ QE คือพิมพ์กระดาษเป็นแบงค์มาใช้มากเกินไปในหลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นเงินเฟ้อแบบความต้องการซื้อมีมากเกินไป (Demand pull inflation) เงินเฟ้อแบบนี้ จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลด การบริโภค การลงทุน และลด​ GDP​ และการจ้างงาน ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แย่งกันซื้อของ ทำให้ของขาดแคลน รายได้และเงินที่ออมไว้ก็มีค่าลดลง สหรัฐฯ จึงขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% เป็นอัตราดอกเบี้ย 1.50-1.75% ในเดือนมิถุนายน 2565 อังกฤษก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยตาม เป็น 1.25%

5.แบงค์ชาติกล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.1% มาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุน ทำให้ กนง.ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% และปี 2566 จาก 1.7% เป็น 2.5% คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ที่ไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ตัวเลขคงไม่ถึง 2 หลัก และหลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ กนง.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 เพิ่มเป็น 3.3% จาก 3.2% และในปี 2566 ขยายตัว 4.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.4% จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/65 ออกมาค่อนข้างดี โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเร็วขึ้น คาดว่าปลายปีจะอยู่ที่ 6 ล้านคน และปีหน้าจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไป”

6.อัตราดอกเบี้ยไทยยังไม่สูง 0.5% แบงค์ชาติอาจปรับขึ้นบ้าง ครั้งละ 0.25% ให้นักลงทุนสบายใจว่า แบงค์ชาติระวังเรื่องตลาดทุนด้วย ไม่ปล่อยให้เงินทุนระยะสั้นไหลออกมากไป แต่ควรรักษาค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ดี ทำให้ส่งออกได้มาก ซึ่งจะทำให้ไทยรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานไว้ได้

7.มีคนพูดว่า “หากเทียบภาระที่เกิดขึ้นกับครัวเรือน ระหว่างเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย พบว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระให้มากกว่า ค่อนข้างมาก” คือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ลดอำนาจซื้อลงไปมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คำพูดนี้อาจไม่ถูกต้องนัก​ ที่คิดว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วเงินเฟ้อจะลดลง การขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้ เงินเฟ้อจะลดลงไม่มาก เพราะเงินเฟ้อไทยมาจากต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับกรณีของประเทศญี่ปุ่น

8.ความลับก็คือ​ ส่วนใหญ่คณะรัฐมนตรีจะไม่ค่อยเข้าใจการบริหารระบบเศรษฐกิจ​มหภาค จึงมักมีผู้ว่าแบงค์ชาติในอดีตไปบอกรัฐบาลฯ ว่า “นโยบายการเงิน เป็นช้างเท้าหลัง” แล้วก็ไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงๆ และขึ้นเร็วกว่าที่ควร (ซึ่งไปลดการบริโภค และการลงทุน) และทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าปกติ (ซึ่งลดการส่งออก) ทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตต่ำ คือ​ระวังไว้ก่อน (Play Safe) ดังนั้นต่อไปในอนาคต หากจะแต่งตั้งผู้ว่าแบงค์ชาติ จึงควรตั้งจากนักเศรษฐศาสตร์มหภาค ผู้ที่มีความรู้เศรษฐศาสตร์จุลภาคเรื่องการธนาคาร, การเงินธุรกิจ, ตลาดหุ้นตลาดทรัพย์สิน ไม่เพียงพอ

9.รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ ไม่เข้าใจว่า ทำไม 7-8 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจไทยจึงเจริญเติบโตต่ำ ความจริงก็คือ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่น่าเชื่อถือเชื่อมั่น (Credit) ต่อรัฐบาล​ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการมีดอกเบี้ยที่สูงเกินไป​และค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป น่าเสียดายครับ!