อีอีซี คาดอีก 5 ปีคนไทยใช้โดรน 7 แสนลำ เตรียมดันกม.จราจร-ฝึกนักบินรองรับ

อีอีซี คาดอีก 5 ปีคนไทยใช้โดรน 7 แสนลำ เตรียมดันกม.จราจร-ฝึกนักบินรองรับ

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กบน. รับทราบแผนการพัฒนาโดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับในพื้นที่ โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาใช้ประโยชน์ครบมิติ อาทิ เกษตร ถ่ายภาพ ขนส่งสินค้าและคน สำรวจความปลอดภัย คาดประเทศไทยจะใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ดังนั้นกบน.จะดำเนิน 5 ด้าน ได้แก่ 1.จัดการจราจรและบริหารห้วงอากาศ ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.ฝึกอบรมนักบินโดรน 3.ให้บริการและพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4.ผลิต ซ่อมบำรุง และตรวจสอบมาตรฐาน พัฒนาสู่ศูนย์กลางบริการ และ5.ส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างนวัตกร ครบวงจร

รวมทั้ง รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ รับทราบแผนขับเคลื่อนเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง การยกระดับบริการด้านยีนบำบัด สำหรับโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ด้วยยีนบำบัด แต่ยังอยู่ในระยะวิจัยทางคลินิกและคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก กบน.มีความยินดีทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิต ล่าสุด BGI Research แสดงความสนใจเข้าวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังรับทราบ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่อีอีซี เป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตรและการผลิตในอุตสาหกรรม โดยอีอีซี ได้ศึกษาร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์ฯ ติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ มาบตาพุด และเมืองพัทยา คาดว่าในอีก 5 ปีหรือปี 2570 จะผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุด 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรองรับการใช้ในพื้นที่อีอีซี และในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 300,000 ลบ.มต่อวัน