คุยกับ นทธี ศศิวิมล ถึง “ทรงจำ” และการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

ข่าวเด่น

 

คุยกับ นทธี ศศิวิมล ถึง “ทรงจำ”

และการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

 

มติชนอวอร์ด เป็นอีกหนึ่งรางวัลวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับจากบรรดานักเขียนนักอ่านมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นโครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2555 และในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2556 คณะกรรมการได้เพิ่มประเภทเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เข้าไปในการประกวดเพื่อเปิดมุมองใหม่ๆ ให้กับผู้อ่าน และได้ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศในงานเขียนประเภทนี้เป็นครั้งแรก จากเรื่องสั้น “ทรงจำ” บทประพันธ์ของ นทธี ศศิวิมล นักเขียนมากความสามารถ ที่นักอ่านคุ้นเคยกับผลงานของเธอเป็นอย่างดี

นทธี ศศิวิมล เข้าสู่วงการนักเขียนตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องสั้นเรื่องแรกของเธอคือเรื่อง ‘อาถรรพ์ผีเหรียญ’ ที่เธอซีรอกซ์ให้เพื่อนๆ อ่าน เคยได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมมาแล้วมากมาย อาทิ ‘ดอยรวก’ เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ปี 2551, ‘ลูกของลูกสาว’ เรื่องสั้นรางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2553, อรุณสวัสดิ์สนธยา รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2556 เป็นต้น

ในโอกาสที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ได้จัดโครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์รางวัลมติชนอวอร์ดขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2565 จึงถือโอกาสชวน นทธี ศศิวิมล มารื้อฟื้นความหลัง ตั้งวงสนทนาถึงการส่งประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ดของเธอกันอีกครั้ง

 

เรื่องสั้น “ทรงจำ” ที่ส่งประกวดมีเนื้อเรื่องน่าสนใจมาก “ทฤษฎีไคมีร่า” ในเรื่องค้นคว้ามาจากไหน

เนื่องจากเป็นคนชอบติดตามข่าววิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้วค่ะ ตอนที่ได้เห็นข่าวเกี่ยวกับเด็กแฝดไคเมร่าที่กลืนแฝดอีกคนไว้ในท้อง ก็รู้สึกว่าน่าสนใจมาก เลยค้นจากบทความทั้งไทยและต่างประเทศ ก็พบว่ามีอีกหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องของ DNA ที่ตกค้างในครรภ์มารดาทำให้ลูกคนต่อมาไม่มี DNA ของแม่เพราะไปดึงเอาของพี่คนก่อน (ที่ฝังในร่างกายแม่) มาแทน หรือเรื่องของเซลล์ไคเมร่าที่หลุดออกจากอวัยวะปลูกถ่ายไปฝังตัวเจริญอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้แบบไหน และอาจส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้าง โดยตอนที่คิดว่าอยากเขียนเรื่องนี้ ก็ได้ปรึกษารุ่นพี่และเพื่อนที่เป็นแพทย์เพื่อช่วยกันสอบทานข้อมูล มีการค้นเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อดูความเป็นไปได้ ถือเป็นการทำงานที่สนุกมากงานหนึ่งเลย

“แรงไฟจากใจฝัน” รวมเรื่องสั้นผลงานนักเขียนรางวัลมติชน ประจำปี 2556 โดยมี “ทรงจำ” ของ นทธี ศศิวิมล เป็นเรื่องชนะเลิศประเภทวิทยาศาสตร์ในเล่มนี้

เหมือนเรื่อง “ทรงจำ” มีตอนจบที่ค้างคา หากจะให้เฉลยผู้อ่านได้หรือไม่ หรือต้องการให้เป็นเรื่องจบปลายเปิดเช่นนั้น

ให้จบปลายเปิดค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือร้าย มันเกิดขึ้นได้ทั้งสองอย่าง และตามหลักการวิทยาศาสตร์แล้ว จะไม่มีการสรุปว่าสิ่งไหนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ และในระหว่างที่เราเองก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต่อให้ต้องคาดเดาทิศทางของมันเอาไว้เพื่อเตรียมการรับมือ แต่ที่สุดแล้วการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ และคุ้มค่าที่สุดก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า

 

อยากให้พูดถึงรางวัลมติชนอวอร์ดในมุมมองของคนที่เคยได้รับรางวัลนี้

มติชนอวอร์ดเป็นรางวัลที่เปิดโอกาสในนักเขียนหรือคนที่สนใจในเรื่องการเขียนและอ่านได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตัวเอง ความคิด จิตใจ ตัวตน รวมถึงมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย โดยแสดงออกได้อย่างอิสระ เสรี เต็มที่ ไม่มีการปิดกั้น ตีกรอบ (ในแง่เนื้อหา) เป็นเวทีที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง มอบโอกาสให้นักเขียนทั้งเก่าและใหม่ และช่วยกระตุ้นให้วงการวรรณกรรมที่ปกติจะค่อนข้างเงียบและสนใจกันเฉพาะกลุ่ม ให้กลับมามีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี ครั้งนี้ก็คาดว่าจะเป็นเช่นนั้นค่ะ

“ครอบครัวนักเขียน” จารี จันทราภา, น้องไอย์, และนทธี ศศวิมล ในงานประกาศรางวัลมติชนอวอร์ด ปี พ.ศ. 2557

 

อยากให้เชิญชวนนักเขียนร่วมส่งรางวัลมติชนอวอร์ด 2022

อย่างที่บอกไว้ว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้าง ให้ทุกคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ และแสดงออกได้อย่างอิสระ ทุกวันนี้พื้นที่ของงานประเภทวรรณกรรมค่อนข้างน้อย แต่เวทีมติชนอวอร์ดมอบโอกาสนั้นให้ ในเมื่อมีโอกาสดีๆ แบบนี้แล้วก็อยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างปรากฏการณ์ร่วมกันที่นี่อีกครั้งค่ะ

มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022

ผู้ส่งเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์เข้าประกวด สามารถส่งผลงาน พร้อมระบุนามปากกา ชื่อ-นามสกุล จริง และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล มาได้ 2 ทาง คือ

1. อีเมล์ [email protected] เขียนหัวข้ออีเมลว่า “ประกวดเรื่องสั้น / กวีนิพนธ์”

2. หรือส่งผลงานทางไปรษณีย์มาที่ กองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เลขที่ 12 เทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 วงเล็บมุมซองว่า (ประกวดเรื่องสั้น / กวีนิพนธ์)

 

รางวัล

1. รางวัลเรื่องสั้นทั่วไป ชนะเลิศ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท รางวัลชมเชย 10,000 บาท

2. รางวัลกวีนิพนธ์ชนะเลิศ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท รางวัลชมเชย 10,000 บาท

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

มติชนสุดสัปดาห์ โทร. 0-2589-0020 ต่อ 2306 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น.

หรือ inbox : m.me/matichonweekly

 

อ่านรายละเอียดการส่งประกวดได้ที่นี่

เติมพลังเขียน เสริมพลังอ่าน มติชนสุดสัปดาห์เชิญร่วมประกวดเรื่องสั้น – กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022

 

อ่าน สนทนากับ “นายทิวา” ถึงคุณค่าบทกวี และการกลับมาของ “โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ รางวัลมติชนอวอร์ด” ได้ที่นี่

สนทนากับ “นายทิวา” ถึงคุณค่าบทกวี และการกลับมาของ “โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ รางวัลมติชนอวอร์ด”