CARE ร่วมรำลึก 12 ปี ล้อมปราบคนเสื้อแดง จากศักราชอันมืดมน สู่ข้อเท็จจริงกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นคน

เมื่อวานนี้ (19 พฤษภาคม 2565) กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้ร่วมโพสต์ข้อความแสดงการรำลึกวาระครบรอบ 12 ปี ที่รัฐใช้กำลังปราบปรามคนเสื้อแดง นปช.ในช่วงปฏิบัติการระหว่าง 13- 19 พฤษภาคม ปี 2553 ซึ่งคนเสื้อแดงยังคงจัดงานรำลึกทุกปี พร้อมกับเสียงทวงถามความจริง คืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญเสียและลงโทษผู้กระทำสิ่งที่เป็นอาชญากรรมทางการเมืองต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า
🚩“ศักราชอันมืดมน” ความทรงจำคนเสื้อแดง
.
.
หากถามว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย “คนเสื้อแดงคือใคร?” คงมีชุดคำตอบที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่อาจจะตอบเหมือนกันก็คือ พวกเขาคือ “กลุ่มคน” ที่ตื่นตัวทางการเมืองที่สุดกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
.
🚩“ประวัติศาตร์” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกโดย “สามัญชน”
.
19 พฤษภาคม ในพุทธศักราชอันมืดมน เสียงปืนอื้ออึงเป็นระยะ มัจจุราชลายพรางยืนทมึน อาวุธประหัตประหารครบครัน พร้อมที่จะพรากชีวิตของผู้คนได้ตลอดเวลา เวทีการชุมนุมประกาศให้ยุติ คนบนเวทีที่ผู้คนเรียกว่า “แกนนำ” อ้อนวอนให้ประชาชนกลับบ้าน ในขณะที่คนข้างล่างต่าง “ไม่ยอมจำนน” และพร้อมที่จะสู้ต่อ
.
“สายตาพร้อมตายทั้งน้ำตา” ของคนธรรมดาจำนวนมาก ต่างจ้องมองไปข้างหน้าอย่างคงมั่น เราเชื่อว่าถ้าคุณได้แลเห็นสายตานับพันคู่ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น คุณจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า “สายตาของนักสู้”
.
แต่ด้วยสถานการณ์บีบคั้น เวทีชุมนุมถูกบังคับให้ยุติลงอย่างกระทันหัน ซึ่งแกนนำ และผู้ชุมนุมต่างยังไม่ทันบอกลากันจบสิ้น เสียงปืน และกองทัพมัจจุราชลายพราง ขยับเข้าใกล้เรามาเรื่อย ๆ ผู้คนถูกต้อนเข้าสถานที่ที่ถูกเรียกว่า “เขตอภัยทาน” จึงทำให้หลายคนมีความหวังว่า “อยู่ในนี้…คงไม่ตาย และได้ออกไปหาทางสู้ต่อ”
.
แต่ความจริงมันแสนขมขื่น ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ถึงยามค่ำคืน เสียงปืนกลับดังเป็นระยะ ควันไฟปริศนาถูกจุดขึ้นเพื่อเผาผลาญห้างสรรพสินค้า ในณะที่ผู้ชุมนุมทั้งหมดอยู่ในวัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่ทหาร ประจำการเต็มพื้นที่ทุกตารางนิ้ว
.
ศพที่ 2 เสียชีวิตเพราะไปช่วยศพที่ 1 ศพที่ 3 เสียชีวิตเพราะไปช่วยศพที่ 2 ศพที่ 4 เสียชีวิตเพราะไปช่วยศพที่ 3 ศพที่ 5 เสียชีวิตเพราะไปช่วย ศพที่ 4 และ…ศพที่ 6 เสียชีวิตเพราะไปช่วย ศพที่ 5 คือข้อเท็จจริงของการเสียชีวิต 6 ศพ ของอาสาพยาบาล และผู้ชุมนุม ในวัดปทุมวนาราม ซึ่งกระสุนมาจากรถไฟฟ้า ตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
.
ยิ่งดึก ยิ่งมืด ผู้คนที่หนีตายในเขตอภัยทาน ยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกับความตาย 1 นาทีของค่ำคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 คือ 1 นาทีที่ช้ากว่าวันไหนๆ คือ 1 นาที ที่อยากจะให้ผ่านไปไวๆ “เมื่อไหร่ฟ้าจะสว่าง” , “จะมีใครพาเราออกไปจากตรงนี้ไหม” , “อยากหลับแล้วไม่ตื่นมาอีกเลย” คือสิ่งที่นึกคิดอยู่ตลอดเวลาจนถึงเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคม
.
เช้าวันถัดไป ผู้คนเริ่มค่อยๆถูกปล่อยให้กลับบ้าน ระหว่างทางที่เดินออกมานั้น สิ่งที่พบเจอ คือศพที่ถูกปิดด้วยผืนเสื่อ คือควันไฟที่ลอยล่อยจากห้างข้าง ๆ เราไม่รู้หรอกว่า โลกภายนอกเห็นอะไรในวันที่ 19 พฤษภาคม แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนั้น คือ ใบหน้า “คนตาย” และสายตาของ “คนเป็น” ที่รอดชีวิต จากมัจจุราชลายพราง ซึ่งนั่น คือความอำมหิตของรัฐที่สามารถใช้อำนาจ “สั่งความตาย” ให้กับผู้คนที่เห็นต่างได้อย่างเลือดเย็น
.
และแม้เหตุการณ์นี้ ผ่านมาแล้ว 12 ปี เรายังคงเห็นผู้คนใส่เสื้อสีแดงมาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวในทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นงานรำลึกเหตุการณ์ 10 เมษา หรือ 19 พฤษภา ไม่ว่าจะมีการจัดงานขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือเป็นปีที่ไม่มีใครจัดเลยก็ตามที
.
เทียนสีแดงที่ถูกจุดจนน้ำเทียนหยดละลายมาจากแท่ง ผ้าสีแดงที่ถูกผูกที่ป้ายแยกคอกวัว ป้ายแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ป้ายแยกราชประสงค์ หน้าวัดปทุมวนาราม ดอกไม้สีแดงที่ถูกวาง สิ่งเหล่านี้เหมือนความทรงจำที่ถูกทับถม และตอกย้ำในทุก ๆ ปี ว่ามีคนจำนวนมาก “ไม่ยอมจำนน” เมื่อถูกบังคับให้ “ลืม” คืนวันที่กลางเมืองหลวงถูกแปรสภาพเป็นทุ่งสังหาร ผลาญชีวิตคนมือเปล่า ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยกระสุน จากรางรถไฟฟ้า
.
19 พฤษภาคม ในปี 2553 ถือเป็นศักราชอันมืดมนที่สุดของคนเสื้อแดง กล่าวคือ นอกจากถูกสังหารจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว ในทางกฎหมาย ก็ยังไม่สามารถเอาตัวคนผิดมาดำเนินคดีฐานฆ่าคนตายได้ ส่วนในทางสังคม “ผู้ถูกฆ่า” กลับถูกป้ายสีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คิดล้มล้างสถาบันฯ เผาบ้านเผาเมือง มีการใช้ปฏิบัติการทางการข่าว (IO) ในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ผังล้มเจ้า” เพื่อเป็นใบอนุญาตฆ่าคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยม และทารุณ
.
แต่ 19 พฤษภาคม ในปี 2565 ช่างแตกต่างออกไปจากพุทธศักราช 2553 อันแสนมืดมิด กล่าวคือ “คนเสื้อแดง” ได้รับความเป็นมนุษย์คืนจากสังคม ได้รับศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันกับพลเมืองในประเทศนี้ ประวัติศาสตร์ได้รับการชำระคืนด้วย “ข้อเท็จจริง” ที่มิอาจลบล้างได้ว่า “เคยมีคนตาย เพราะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย”….
.