“ยูนิเซฟ” ชี้มีเพียง 15 ประเทศ มีนโยบายหนุนพ่อแม่ดูแลลูกเล็กช่วงขวบปีแรก

วันที่ 21 กันยายน กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเฟซ  ได้ออกมาเปิดเผยการศึกษาล่าสุดโดยระบุว่ามีเพียง 15 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่มีนโยบายระดับประเทศ 3 เรื่องหลักที่ช่วยให้พ่อแม่ที่มีลูกเล็กมีเวลาและทรัพยากรเพียงพอในการส่งเสริมการพัฒนาสมองของลูก ที่แย่ไปกว่านั้นคือมีถึง 32 ประเทศที่กลับไม่มีนโยบายหลักเหล่านั้นเลย ทั้งๆ ที่มีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีรวมกันคิดเป็น 1 ใน 8 ของประชากรเด็กเล็กทั้งหมดทั่วโลก

โดยการศึกษาของยูนิเซฟที่ชื่อว่า “ขวบปีแรกของชีวิตสำคัญยิ่งสำหรับเด็กทุกคน” หรือ Early Moments Matter for Every Child ระบุว่านโยบายหลัก 3 ประการ ได้แก่ นโยบายเรียนฟรีในช่วงปฐมวัย 2 ปี นโยบายหยุดพักระหว่างวันเพื่อบีบเก็บน้ำนม และนโยบายลาคลอด 6 เดือนสำหรับแม่ และ 4 สัปดาห์สำหรับพ่อ  เป็นสิ่งจำเป็นในการวางรากฐานเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาสูงสุดในช่วงปฐมวัย เพราะจะเอื้อให้พ่อแม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ทั้งในเรื่องโภชนาการ การส่งเสริมการเรียนรู้ และการเล่นกับลูก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิตซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองเด็กพัฒนารวดเร็วที่สุด

ในส่วนของประเทศไทย แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีในช่วงปฐมวัย แต่แม่ที่เป็นลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ในขณะที่พ่อไม่มีสิทธิลาเลยยกเว้นเป็นข้าราชการซึ่งลาได้เพียง 15 วัน นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายให้แม่หยุดพักระหว่างวันเพื่อบีบเก็บน้ำนมในช่วงหกเดือนแรก

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ระบุว่า มีเด็กเพียงร้อยละ 23 ในประเทศไทยที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก สาเหตุหนึ่งที่อัตรานี้อยู่ในระดับที่ต่ำ ก็คือการที่แม่ต้องกลับไปทำงานหลังลาคลอด 3 เดือน และยังขาดการสนับสนุนในที่ทำงาน เช่น ไม่มีห้องหรือมุมนมแม่ หรือไม่อนุญาตให้แม่หยุดพักเพื่อบีบเก็บน้ำนม

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการช่วยให้เด็กได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด การขยายสิทธิในการลาคลอดจะส่งผลดีต่อตัวเด็กๆ และอนาคตของประเทศด้วย เพราะเป็นการช่วยให้แม่สามารถให้นมแม่ได้เต็มที่ตลอดหกเดือน อีกทั้งมีเวลาสร้างสายสัมพันธ์และกระตุ้นพัฒนาการของลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารและการเลี้ยงดูที่ดีที่สุดในช่วงเริ่มต้นชีวิต

การศึกษาของยูนิเซฟยังชี้ให้เห็นว่า มีเพียงประเทศคิวบา ฝรั่งเศส โปรตุเกส รัสเซีย และสวีเดนเท่านั้นที่มีนโยบายหลักทั้งสามด้านนี้ ในขณะที่เด็กๆ อีก 85 ล้านคนอาศัยอยู่ใน 32 ประเทศที่กลับไม่มีนโยบายเหล่านั้นเลย ซึ่งในจำนวนนี้ เด็กร้อยละ 40 อาศัยอยู่ใน 2 ประเทศ คือ บังคลาเทศและสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เด็กมี? มันคือสมองนั่นเอง แต่ผู้ใหญ่มักไม่สนใจดูแลสมองเด็กเท่ากับดูแลร่างกายของพวกเขาโดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงสำคัญในการวางรากฐานของการพัฒนาสมองและอนาคตของเด็ก ดังนั้น เราต้องช่วยสนับสนุนให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กเล็กให้สามารถดูแลลูกได้อย่างดีที่สุดในช่วงนี้

นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นนี้ยังระบุว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและขาดการดูแลที่เหมาะสม โดยพบว่า

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 75 ล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสงครามความขัดแย้ง เสี่ยงต่อความเครียดรุนแรง ซึ่งอาจทำให้การเชื่อมต่อของเซลล์สมองต้องหยุดชะงักลง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีราว 155 ล้านคนทั่วโลกมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดโภชนาการที่ดี การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือการต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ร่างกายและสมองของเด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ในประเทศไทย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 1 ใน 10 คน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งอัตรานี้รุนแรงขึ้นในกลุ่มเด็กยากจน
  • เด็กอายุ 2-4 ปีประมาณ 1 ใน 4 คนใน 64 ประเทศขาดการทำกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมอง เช่น การเล่น การอ่านหนังสือ หรือการร้องเพลง ในประเทศไทย เด็กเล็กเกินครึ่งมีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม ในขณะที่พ่อเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก
  • เด็กประมาณ 300 คนทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศเป็นพิษ ซึ่งการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของเด็ก

โดยเฉลี่ยแล้ว รัฐบาลทั่วโลกใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 2 ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมดไปกับการลงทุนด้านเด็กปฐมวัย

การศึกษาของยูนิเซฟยังระบุอีกว่า การลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหลายเท่าในอนาคต โดยทุกๆ 1 ดอลล่าร์ที่ลงทุนด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะให้ผลตอบแทนถึง 35 เท่า และทุกๆ 1 ดอลล่าร์ที่ลงทุนในการดูแลและการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสที่สุดจะสามารถให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 17 เท่า

ทั้งนี้ นายแอนโทนี่ เลค กล่าวย้ำว่า การมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นต่อสมองของเด็กในวันนี้ ซึ่งก็คือประชากรและแรงงานของประเทศในอนาคต นั่นหมายความว่า มันคือการลงทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของโลกเรา