ตามภารกิจ ‘ประยุทธ์’ ร่วมเวทีไหน-พบใคร ช่วงประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ

ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯพบผู้นำชาติอาเซียน ย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างสังคม บนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกัน เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง  “ประยุทธ์” พบผู้นำภาคเอกชนสหรัฐ ผลักดันเดินหน้า เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจดิจิทัล ก่อนพบรมว.กลาโหมสหรัฐฯ และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

วันที่ 12 พฤษภาคม ตามเวลาสหรัฐฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลไทยได้ร่วมเดินทางประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพต้อนรับและร่วมประชุมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งจัดเป็นสมัยพิเศษ หลังเลื่อนไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตามรายงานของทางการไทย มีดังนี้

เวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน โดยแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เป็นเจ้าภาพ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในงานเลี้ยง

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบผู้นําจากฝ่ายรัฐสภาสหรัฐผู้ทรงเกียรติ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ซึ่งครบ 45 ปีในปีนี้ โดยไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพลิกฟื้นให้โลกกลับมาเข้มแข็ง มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตในยุค Next Normal

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันถือเป็นจุดแข็งหลักของอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกว่า 1 พันล้านคนของอาเซียนและสหรัฐ โดยสหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน เป็นคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนอันดับ 1 ของภูมิภาค ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การผลักดันการค้าเสรี และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกครั้งที่ 4 ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับต้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในปัจจุบัน อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะเติบโตเป็นอันดับ 4 ภายในปี ค.ศ.2030 อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ และสร้างงานให้กับชาวอเมริกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาใหม่ๆ อาทิ พลังงานสะอาด อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1833 โดยเริ่มจากความตกลงด้านมิตรภาพและพาณิชย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรและการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ปัจจุบันสหรัฐมีการลงทุนในไทย 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมาลงทุนใน 26 รัฐของสหรัฐ คิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า บรรยากาศแห่งความสงบ สันติสุข จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและพัฒนาไปสู่การมีอนาคตที่มั่นคง โดยหวังจะเห็นบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายใน 4 สาขาภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ มีความสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของสองฝ่าย และของภูมิภาค และหวังว่า รัฐสภาสหรัฐจะให้การสนับสนุน และผลักดันความร่วมมือต่างๆ ในทางบวกให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์อันยั่งยืนและสมดุลของประชาชนของอาเซียนและสหรัฐ

จากนั้นเวลา 14.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำและผู้แทนชาติสมาชิกอาเซียน พบปะผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยมี นางจีน่า เรมอนโด (Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และนางแคทเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมด้วย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาพบหารือในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสพบปะและพูดคุยกับสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) ในหลายโอกาส และขอชื่นชมภาคเอกชนสหรัฐที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงทำให้ต้องกลับมาทบทวนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไทยให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค Next Normal ต่อไป ซึ่งประเด็นหลักที่อาเซียนกับสหรัฐสามารถร่วมกันผลักดันมี 3 เรื่อง หรือ “3R” ได้แก่

“Reconnect” ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ ผ่านการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีพื้นที่ EEC ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสหรัฐเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่สามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ต่อมาเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้พบหารือกับ นายลอยด์ เจ.ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ในโอกาสการเดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ของนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนขอบคุณสำหรับการต้อนรับ และยินดีที่ได้มาเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐ หลังจากเคยมีโอกาสได้หารือผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกลเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐที่ดำเนินมายาวนานกว่า 189 ปี และขอบคุณรัฐบาลสหรัฐที่สนับสนุนความช่วยเหลือแก่ไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือได้ว่าโรคระบาดถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ด้านนาย ลอยด์ เจ.ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า ตนชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรี ในการนำพาประเทศไทยต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพและกำลังพล การฝึก/ศึกษาทางทหาร การฝึกร่วม/ผสม ความร่วมมือด้านไซเบอร์และอวกาศ และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจนได้หารือถึงการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายและการปราบปรามการค้ามนุษย์

ในส่วนของความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยยินดีที่สหรัฐให้ความสำคัญกับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งยินดีที่สหรัฐสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo – Pacific: AOIP) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยฝ่ายสหรัฐได้ย้ำความพร้อมดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป และทั้งสองฝ่ายหวังจะได้สานต่อความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเสร็จสิ้นการพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ เพื่อร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยประธานาธิบดีสหรัฐเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียน