นักพัฒนาร่วมแบ่งปันไอเดีย “เมือง-คิด-ใหม่” ชี้ต้องสร้างเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

วันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือโอเคเอ็มดี ได้จัดเวทีความรู้สาธารณะในหัวข้อ “เมือง คิด ใหม่” นำนักคิด ผู้ประกอบการและผู้มีประสบการณ์มาแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาและออกแบบเมืองแห่งความรู้ เพื่อนำไปสู่การขบคิดและต่อยอดสู่ทิศทางและนโยบาย รวมถึงกระตุ้นไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจให้กับประชาชนที่อยากเห็นภาพฝันของเมืองที่อาศัยอยู่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้า

 

นายฮวาง ซองจุง หัวหน้านักวิจัยด้านเมืองและรัฐบาลอัจฉริยะ 3.0 ของสำนักงานสังคมสารสนเทศแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กล่าวว่า สำหรับเกาหลีใต้จะเรียกว่าเป็น เมืองอัจฉริยะในฤดูหนาว หรือ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอฤดูหนาว เพราะในเวลานั้น กระแสเอไอกำลังมาแรงแต่ผู้คนกลับไม่เชื่อมั่นในเอไอ และไม่ได้รับการยอมรับ แต่หลายสิ่งได้เกิดขึ้น จนมาในปี 2004 หลายคนต่างคาดหวัง แต่เพราะความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้แผนเมืองอัจฉริยะหยุดชะงักนานถึง 10 ปี แต่เมื่อเกาหลีใต้ประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นศูนย์กลางของการผลิตจนได้มาเมื่อปีที่แล้ว เพราะว่ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติครั้งที่ 4” หากทำความเข้าใจโลกผ่านปฏิวัติครั้งที่ 1 คือ ไอน้ำ ครั้งที่ 2 กระแสไฟฟ้า ครั้งที่ 3 เซมิคอนดัคเตอร์ จนมาถึงครั้งที่ 4 ที่เรากำลังอยู่ในขณะนี้

ในเกาหลีใต้มีหนังสือเกี่ยวกับแนวคิด 4.0 มากว่าปีครึ่งแล้ว เป็นภาษาเกาหลีมากกว่า 80 เล่ม ที่เขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งที่ 4 ซึ่งนำเสนอแนวคิดและนิยามหลากหลาย แต่คุณสามารถจำแนกความหมายของการปฏิวัติครั้งที่ 4 ออกเป็น 1) การปฏิวัติการเชื่อมต่อ (Connectivity Revolution) ที่ทำให้ทุกสิ่งอยู่บนอินเตอร์เน็ต และเชื่อมต่อการบริการ ซึ่งเอไอก็เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยง 2) การปฏิวัติทางปัญญา (Intelligence Revolution) เกิดการสร้างปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ขึ้น 3) การปฏิวัติรูปแบบปฏิบัติการ (Platform Revolution) เกิดการเปลี่ยนรูประหว่างกันทั้งกายภาพและไซเบอร์ ไม่ว่าการไปสู่ความเป็นดิจิตัลหรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เช่นยานยนต์ไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ และ 4) การปฏิวัติสังคม (Social Revolution) ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปเช่น ระบบเศรษฐกิจแบบจ้างงานระยะสั้น รัฐบาลดิจิตัล

นายฮวางกล่าวอีกว่า รัฐบาลเกาหลีใต้วางวาระเมืองอัจฉริยะเพราะเห็นศักยภาพของอินเตอร์เน็ต จึงเริ่มขึ้นที่เมืองซองโดและอินชอน ในปี 2004 ตอนนั้นเราต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดข้อมูลแบบเรียลไทม์ และมีการสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลมหาศาล และเมื่อเมืองสำคัญในหลายประเทศเริ่มใช้เอไอ เกาหลีใต้จึงวางกรอบไว้ด้วยการนำไปเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้ามาใช้

“สรุปแล้ว เราเริ่มความคิดเมืองอัจฉริยะเมื่อ 10 ปีก่อนและผมทำพลาดหลายอย่าง ถ้าหากคุณอยากให้ผมพูดอะไรกับความสำเร็จของเมืองอัจฉริยะในเกาหลีใต้ ผมอาจบอกได้ใน 10 นาที แต่ถ้าหากให้บอกเล่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้น คงต้องเล่าเป็นวัน ตอนที่วางแผนเรื่องเมืองอัจฉริยะ หลายคนถามขอให้แสดงภาพเมืองอัจฉริยะ ได้เลย มันง่ายมาก หากเทียบเมืองอัจฉริยะเหมือนผลิตภัณฑ์ เวลาหนึ่งอาจเป็นของเจ๋ง แต่พอผ่านไป 10 ปี อาจเป็นของตกรุ่นไปแล้ว เมืองอัจฉริยะจึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์แต่เป็นระบบปฏิบัติการ และที่สำคัญ จงสร้างเมืองอัจฉริยะที่ไม่ใช่เพื่อเมืองหรือเพื่อทำเงิน แต่เพื่อทุกคน ทำไมน่ะเหรอ? เมืองอัจฉริยะไม่เพียงก่อเกิดการปฏิวัติแต่ยังหมายถึงโอกาส เราสามารถแบ่งประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าในอุตสาหกรรมและประชาชน หากเราพัฒนาเมือง เราจะพัฒนาคุณภาพชีวิต ตอนนั้นประชาชนจะได้ประโยชน์จากการปฏิวัติครั้งที่ 4 และนั่นแหละทำไมถึงเป็นช่วงฤดูหนาวของเมืองอัจฉริยะอันยาวนาน” นายฮวาง กล่าว

 

น.ส.มารี ออสเตอร์การ์ด ผู้อำนวยการหอสมุดประชาชนแห่งเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า กรณีการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนอย่างเช่น Dokk1 (หอสมุดประชาชนซึ่งตั้งอยู่ที่ที่เคยเป็นท่าเรือเดิมของเมืองอาร์ฮุช ประเทศเดนมาร์ก) ตนออกแบบพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งในความคิดของตนนั้น คิดว่าห้องสมุดจริงๆนั้นมันเป็นอย่างไร และควรเป็นเช่นไรด้วย อย่างเมืองอาร์ฮุสมีห้องสมุดประชาชนอยู่ 19 แห่ง ข้อดีอีกอย่างคือ ด้วยเมืองอาร์ฮุชมีขนาดเล็ก ทำให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายมาก และสามารถสร้างความร่วมมือได้ อีกทั้งมีการติดตั้งไว-ไฟทั่วเมืองเพื่อสอดรับกับชีวิตกับผู้คน นักเรียนสามารถเรียนบนออนไลน์ได้ แต่ห้องสมุดจะมีบทบาทสำคัญที่ให้ความรู้ เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนใช่่่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้ นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ตนมองกว้างขึ้นว่าจะทำอะไร ให้ทุกคนรู้ว่าห้องสมุดนั้นเชื่อมโยงกันหมด เราสามารถยืมหนังสือจากอีกแห่งโดยทำเรื่องยืมจากหอสมุด แม้ห้องสมุดแห่งหนึ่งไม่ได้มีหนังสือทุกเล่มบนโลก แต่เรามีสำเนาที่สามารถยืมจากที่ต่างๆของเมืองได้ ทั้งนี้ เดนมาร์กมีประชากรที่ใช้ห้องสมุดถึง 77% ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสำคัญเลยทีเดียว

ออสเตอร์การ์ดกล่าวอีกว่า จากที่ฉายภาพพื้นที่เดิมของท่าเรือก่อนหน้านี้ คุณจะทำอย่างไรที่จะสร้างสิ่งดึงดูดผู้คนที่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ให้มาทำกิจกรรมกัน จึงได้เปลี่ยนพื้นที่ท่าเรือเก่านี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนให้เข้ามา เกิดเป็นโครงการสร้างหอสมุดประชาชนขึ้นซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ 2 ปีก่อน และเมื่อห้องสมุดสร้างเสร็จ มันส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะโดยรอบให้สอดคล้องกับหอสมุดอีกด้วย ทำให้ได้พื้นที่สาธารณะที่น่าดึงดูดมากแห่งหนึ่ง กลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน

“หอสมุด Dokk1 คือ พื้นที่ของการร่วมมือกัน ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ของการพูดคุย ให้ความรู้ สร้างความคิดและแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการและพื้นที่พิเศษสำหรับเด็กและครอบครัว นี่คือวิสัยทัศน์ของห้องสมุดแห่งนี้ และอย่างที่คุณเห็น แทบไม่ได้เอ่ยถึงหนังสือหรือเทคโนโลยีเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีสองสิ่งนี้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้สถานที่ไว้เก็บหนังสือ หรือไม่ได้บรรจุเทคโนโลยีล้ำหน้ามากมาย แต่มันเป็นสถานที่สำหรับทุกคน อย่างเมืองอัจฉริยะที่ปรารถนาให้เป็นเมืองของทุกคน ห้องสมุดก็เช่นกัน ดังนั้นเราต้องทำสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน” ออสเตอร์การ์ด กล่าว

ออสเตอร์การ์ดกล่าวอีกด้วยว่า การมี Dokk1 มันส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือ จำนวนหนังสือยืมในห้องสมุดไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือบางครั้งตกลงไป แล้วทำไมคนถึงมาห้องสมุดกัน เพราะพวกเขามาใช้ห้องสมุดในเชิงกายภาพ ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงปฏิวัติทางสังคม รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเด็นของตนคือ ห้องสมุดอัจฉริยะ ห้องสมุดได้ทำการปฏิวัติสังคมด้วยตัวของมันเอง เพราะผู้คนที่มาใช้ห้องสมุด มาทำในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ เราเชื่อว่าห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งประชาธิปไตย ทุกคนสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้โดยไม่แบ่งเรื่อง อายุ เพศ สถานะหรือแนวคิด และไม่แสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และนี่เป็นแก่นสำคัญ สิ่งที่เมืองต้องการ จึงนำมาเชื่อมโยงให้ใกล้กัน และด้วยพื้นที่เปิดแบบนี้ จึงเชื้อเชิญผู้คนมาอยู่ร่วมกันมาอยู่ในพื้นที่นี้ หรือในชุมชนแห่งนี้นั่นเอง

ด้านดร.แจ๊กกี้ วอตต์ ประธานกลุ่มเมืองแห่งความรู้ของนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า หากมาพูดถึงเรื่องเมืองแห่งความรู้ มันโผล่มาจากที่ไหนไม่รู้ ที่จริงแล้วมันคือเมืองนั่นเอง ที่มีบริบททางการเมือง สังคม คุณอาจสามารถคิิดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองของคุณในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา สำหรับเมลเบิร์น ถือว่าเป็นเมืองใหม่บนโลกใบนี้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างเข้าสู่เมืองทั้งความรู้และเศรษฐกิจทำให้เมลเบิร์นกลายเป็นเมืองที่โตเร็วที่สุดของออสเตรเลีย ด้วยที่ตนเองเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ก็ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์เมืองแห่งความรู้ เราจะไม่พูดว่าเมืองอัจฉริยะ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแห่งความรู้ ผลที่ตามมาคือ เราสามารถรวบรวมข้อมูลชาวเมืองในชุมชนของเราและต้องเป็นอิสระด้วย ตนคิดว่าความก้าวหน้าในวันนี้คือการร่วมมือกันในการตัดสินใจให้เป็นไปตามทิศทาง

“เรารวบรวมฐานข้อมูลที่ใช้งานและมันบอกค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่ากำลังแรงงานที่เชื่อมกับสภาพแวดล้อม และข้อมูลยังบอกว่าเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเราจะทำยังไงเพื่อดึงดูดและรักษาประชากรไว้ หลายอาชีพมีแนวโน้มไปสู่ภาคบริการและมีแรงงานที่มีความรู้ มันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มันไม่ได้เกิดจากเวทย์มนต์อะไร แต่เป็นพลังของผู้คนที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ดร.วอตต์ กล่าว

ดร.วอตต์ กล่าวอีกว่า เมืองเมลเบิร์นจะไปสู่ความรู้นั้นเป็นเรื่องจริงจัง ไม่น่าแปลกใจ เรื่องราวของเมลเบิร์นนี้ เราลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อประชาชน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะ ก็จะไปถึงเป้าหมายพื้นฐานนั้นคือ ทุกคนมีส่วนร่วมกับประโยชน์ต่อชุมชน และให้ประโยชน์จากสถานที่ดังกล่าวด้วยตัวของมันเอง ทั้งการมีมหาวิทยาลัยถึง 9 แห่ง มีวิทยาลัยกว่า 200 แห่ง รวมถึงนักเรียนต่างชาติกว่า 4 หมื่นชีวิตแค่ที่เมลเบิร์นที่เดียว นั้นเป็นเรื่องอัศจรรย์มากที่ทำให้เมืองเป็นสถานที่น่าดึงดูด ทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลที่เก็บรวบรวม นั้นทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ชีวิตอยู่กับข้อมูล และเราใช้มันกับอะไรบ้าง

“สิ่งที่เราทั้งหมดคือสนับสนุนชุมชนในการเปลี่ยนผ่าน มันแทบไม่ได้มีอะไร ไม่แม้แต่เป็นอัจฉริยะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่รับมืออยู่ตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน ต้องการจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก เราจึงแบ่งโครงการต่างๆ มีห้องสมุดกลางจำนวน 6 แห่ง เราต้องมีสิ่งนี้อยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่แน่ใจของเดนมาร์กเป็นแบบไหน แต่ของออสเตรเลียเราต้องการให้ทุกคนเข้าถึงไม่ใช่แค่หนังสือธรรมดา หรือแม้แต่ในออนไลน์ แม้แต่สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เราทำมันทั้งหมดและใช้ได้ฟรีหมด ทำให้มันเกิดขึ้นจริงเพื่อทุกคน อย่างที่ต้องการในอนาคต” ดร.วอตต์ กล่าว

ดร.วอตต์ กล่าวตอนท้ายว่า พูดจากความรู้สึกต่อเมืองเมลเบิร์นต่อหน้าทุกคน หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของเกาหลีใต้และเดนมาร์ก และประสบการณ์ของประเทศไทยจากที่ได้ยิน ฉันหวังว่าสิ่งที่ได้อธิบายสิ่งที่ทำในเมลเบิร์นจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ฉันหวังไม่ได้ทำให้รู้สึกเป็นอัจฉริยะ แต่จะบอกให้ทุกคนเข้าใจถึงสังคมที่มันขับเคลื่อนด้วยความรู้และเศรษฐกิจในประเทศไทยในที่สุด และฉันอยากกระตุ้นให้คุณคิดถึงตรงนั้น อีกอย่างที่อยากทิ้งให้คุณกลับไปคิด นั้นคือการสร้างเมืองนั้นสำคัญมาก การสร้างเมืองให้มันโดดเด่น ในด้านหนึ่งอาจดูมีปัญหามากเหลือเกิน แต่ฉันมั่นใจว่า ต่อให้ทั้งที่มีมลพิษ อาชญากรรมหรือด้านลบอยู่รอบเมือง สิ่งที่ทำไปก็เพื่อให้เมืองนั้นฉลาดขึ้น มีพรสวรรค์ หาทางแก้ไขกับสิิ่งที่กำลังเข้าหาเรา ฉันมองในแง่ดี ในจุดของเมืองเมลเบิร์น เรามองแง่บวกเพราะสิ่งที่เราพยายามใส่เข้าไปให้กับเมือง และเพราะนั้นคือเพื่อประชาชน เราจึงยืนหยัดต่อสู้เพื่อเมืองของเราต่อไป