เผยแพร่ |
---|
สหรัฐ-สหภาพยุโรปลงโทษรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตร รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยใช้ และอย่างไม่เคยมีมาก่อน” มีอะไรบ้าง
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโดยมุ่งเป้าที่ภาคธุรกิจและคณะบุคคลที่แวดล้อมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จากการที่ผู้นำรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีหลายพื้นที่ของยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้นำสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยว่า เป็นมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในหลายรูปแบบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ไบเดน กล่าวว่า ทำเนียบขาวพร้อมกลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้ตกลงที่จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรในลักษณะเดียวกันนี้ “เราจะจำกัดความสามารถในการทำธุรกิจของรัสเซียทั้งในรูปแบบเงินสกุลดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเงินเยน .. สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรเป็นประเทศรักเสรีภาพทุกหนทุกแห่งจะคัดค้านด้วยเครื่องมือทุกอย่างที่อำนาจของเรามี” ไบเดนกล่าว และนี่คือรายละเอียดของการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ
อายัดทรัพย์แบงก์ใหญ่
วอชิงตันประกาศตัดสัมพันธ์กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 10 แห่ง ของรัสเซีย โดยตัดกระแสเงินของธนาคารเหล่านี้ต่อตลาดเงินตราของสหรัฐ ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของสินทรัพย์ในภาคการธนาคารของรัสเซีย ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐจะตัดขาดกับหนึ่งในสถาบันการเงินใหญ่สุดของรัสเซียคือ ‘สเบอร์แบงก์’ (Sberbank) ถือครองทรัพย์สินเกือบ 1 ใน 3 ของภาคธนาคารโดยรวมของรัสเซีย
นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินรายใหญ่อื่นๆ อีกหลายแห่งได้แก่ VTB Bank, Bank Otkritie, Sovcombank OJSC และ Novikombank ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินใดๆ ของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐจะถูกแช่แข็งและปิดกั้นการเข้าถึงสินทรัพย์ในสหรัฐ เช่นเดียวกับพลเมืองของสหรัฐจะไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารดังกล่าวเช่นกัน
แบนคนใกล้ชิดปูติน
มาตรการคว่ำบาตรของวอชิงตันยังมุ่งเป้าต่อบรรดาคณะบุคคลใกล้ชิดผู้นำรัสเซีย โดยหนึ่งในบรรดาบุคคลที่ถูกอายัดบัญชีและกีดกั้นการทำธุรกิจธุรกรรมนั้นมีนักธุรกิจมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับฟอร์บส์ถึง 3 รายคือ เกนนาดี ทิมเชนโก, บอริส โรเตนเบิร์ก และ อิกอร์ โรเตนเบิร์ก ขณธเดียวกันสหรัฐจะตัดขาดรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัสเซีย 13 บริษัทซึ่งรวมถึงบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซียอย่าง แกซพรอม (Gazprom), ธนาคารเพื่อการเกษตรรัสเซีย และการทางรถไฟรัสเซีย จากการระดมทุนในตลาดสหรัฐฯ ด้วย
จำกัดส่งออกสินค้า
ผู้นำสหรัฐยังได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสินค้าหลากประเภทโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบินและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการส่งออกสินค้าให้กับรัสเซีย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถเข้าถึงสินค้าประเภทดังกล่าวโดยหวังว่าจะสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมหลักของรัสเซีย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในยูเครน ด้วยความที่ยูเครนไม่ได้เป็นชาติสมาชิกนาโต้ บรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกนาโต้จึงทำได้แค่เพียงส่งกองกำลังทหารเข้าไปใกล้พรมแดนอยู่เครนมากขึ้นเท่านั้น โดยไม่สามารถเปิดปฏิบัติการทหารใดๆ ในพื้นที่ยูเครนได้
“กองกำลังทหารของเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กองกำลังของเราไม่ได้เข้าไปในยุโรปเพื่อต่อสู้ในยูเครน แต่จะป้องกันพันธมิตรของเราในนาโต้และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรของเราในภูมิภาคฝั่งตะวันออก” ไบเดนกล่าว
อนึ่ง มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียได้บุกยึดเมืองเชอร์โนบิล อันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าปรมานูเชอร์โนบิลที่เกิดระเบิดครั้งใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนไว้แล้ว โดยในเชิงยุทธศาสตร์เชื่อว่าปูตินต้องการใช้เศษซากของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เป็นเครื่องต่อรองเชิงกลยุทธ์ต่อบรรดายุโรปและชาติพันธมิตร เพื่อให้ถอนความประสงค์ที่จะไม่รับเอายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้
ขณะที่ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะปิดกั้นรัสเซียจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญและตลาดอื่น ๆ เพื่อลงโทษกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน
ฟอน เดอร์ ลีเยน ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่นี้ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเต็มรูปแบบ โดยส่งกำลังทหารข้ามพรมแดนจากหลายทิศทาง และทิ้งระเบิดลงทั่วประเทศ
ฟอน เดอร์ ลีเยน กล่าวว่า คนบริสุทธ์กำลังจะตายจากความกลัว และเธอได้ให้คำมั่นกับอียูว่าจะตอบโต้การกระทำของรัสเซียอย่างจริงจัง
“เราจะพุ่งเป้าไปที่ภาคที่เป็นยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจรัสเซีย ด้วยการปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดต่าง ๆ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของรัสเซีย” ฟอน เฟอร์ ลีเยน กล่าว พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ที่เตรียมมาว่า “เราจะอายัดทรัพย์สินชาวรัสเซียในสหภาพยุโรป และปิดกั้นไม่ให้ธนาคารรัสเซียเข้าถึงตลาดการเงินในยุโรป”
“การคว่ำบาตรเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อผลประโยชน์ของรัสเซีย และความสามารถในการทำสงครามของรัสเซีย”
นักการทูตระบุว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้นำเสนอร่างมาตรการต่อเอกอัครราชทูตจากประเทศในสหภาพยุโรปเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งร่างดังกล่าวประกอบด้วย การควบคุมการส่งออกด้านเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับน้ำมันและการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อธนาคารต่าง ๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรครั้งนี้ไม่ได้รวมถึงการขับรัสเซียออกจากสวิฟต์ (SWIFT) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยประเทศแถบบอลติกได้เรียกร้องให้มีการขับรัสเซียออกจากระบบดังกล่าว แต่เยอรมนีและอิตาลียังแสดงความลังเล
นักการทูตรายหนึ่งกล่าวว่า “ตอนนี้สวิฟต์ยังไม่พร้อม แต่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจทางการเมือง การตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำ”
“โจเซป บอร์เรลล์” นักการทูตระดับสูงของอียู ยืนยันว่า “บทลงโทษเหล่านี้ถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เราเคยใช้มา”
ส่วนบทลงโทษใหม่จะมีการนำเสนอในช่วงเย็นวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ในการประชุมสุดยอดฉุกเฉินของผู้นำสหภาพยุโรป
“เราจะบั่นทอนฐานเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการพัฒนาให้ทันสมัย” ฟอน เดอ ลีเยน กล่าว
การลงโทษดังกล่าวจะต่อยอดจากบทลงโทษขั้นต้นที่อียูเพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันพุธ เพื่อตอบโต้กรณีที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปยังภูมิภาคดอนบัสของยูเครน ซึ่ง “ชาร์ล มีแชล” ประธานสภายุโรปได้เรียกผู้นำสหภาพยุโรปเข้าประชุมฉุกเฉินหลังการตัดสินใจของรัสเซียครั้งนั้น
“เป้าหมายของรัสเซียไม่ใช่แค่ดอนบัสหรือยูเครน แต่เป็นความมั่นคงในยุโรป และสันติภาพระหว่างประเทศ” ฟอน เดอ ลีเยน กล่าว
ทั้งนี้ การคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของอียูจะมีผลต่อคนวงในที่ใกล้ชิดปูติน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเขา นอกจากนี้ยังมุ่งเป้าไปที่ผู้บัญชาการทหาร ผู้มีอิทธิพลต่อสื่อ ผู้บริหารธนาคาร และสถาบันการเงินที่รัฐควบคุม
อย่างไรก็ตาม อียูและพันธมิตรยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเสียหายต่อภาคพลังงานที่ทำรายได้ให้รัสเซีย หรือการนำเข้าเทคโนโลยีหลัก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปูตินเองก็ยังไม่ได้ตกเป็นเป้าในการคว่ำบาตรเช่นกัน
“นี่เป็นเวลาที่มืดมนที่สุดสำหรับยุโรป นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2” บอร์เรลล์กล่าว