“บิ๊กฉัตร” เล็งชงครม.ขยายเวลาโครงการ 9101 เฟส 2 ช่วยชาวนาน้ำท่วม-ใช้เงิน2พันล้านบาท

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 8 กันยายน 2560 เพื่อขอขยายระยะเวลาโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ใต้ร่มบารมี ซึ่งหมดระยะดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเพิ่มโครงการอีกประมาณ 5,000 โครงการ จากเดิมดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก 24,000 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) โดยเฉพาะชาวนาที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิงไม่สามารถปลูกข้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวได้ทันในปีนี้ ทั้งนี้จากเดิมตั้งใจจะลงไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำเงินปัจจุบันเรามีเงิน 2 ส่วน ได้แก่ เงินบริจาคผ่านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งชดเชยตามระดับความเสียหาย ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งได้ชดเชยให้เกษตรกรไปบางส่วนแล้ว ส่วนที่ 2 คือ เงินในงบประมาณของแต่ละกรม ที่เฉลี่ยงบลงไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนเงินที่จะของบกลางมาช่วยเกษตรกรเพิ่มเติมจะทำได้ยากเพราะติดเรื่องระเบียบที่ทับซ้อนกัน อาทิ ข้าว มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,123 บาท เป็นต้น จึงเลือกใช้เงินโครงการ 9101 ซึ่งง่ายที่สุด

“สำหรับโครงการ 9101 ฯ ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม เบื้องต้นคาดว่าจะมีอีก 5,000 โครงการ ได้สั่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสรุปข้อมูลพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะได้นำเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมาเข้าร่วมโครงการ 9101 ให้เร็วที่สุด โดยจะใช้งบประมาณจากเงินในโครงการซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนโครงการที่เพิ่มเข้ามา”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่แจกไปไม่สามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่ที่ไวแสง ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์เกษตรกรสำหรับปลูกพืช ผักแทน ส่วนเกษตรกรปลูกข้าวที่เสียโอกาส โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง จะใช้เงินชดเชยคงยาก เพราะทับซ้อนกับระเบียบการให้เงินช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะขอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ต่ออีกเป็นปีที่ 2 โดยจะมีรายละเอียดต่างจากโครงการแรก เนื่องจากในปีแรก จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มากกว่าครึ่งของเงินสนับสนุนจึงจ่ายไปกับค่าแรงเยอะเพราะอยากให้เกษตรกรมีรายได้ ปีที่ 2 อยากให้เกษตรกรทำในสิ่งที่ตนเองถนัดสามารถประกอบอาชีพได้ทันที โดยการรวมกลุ่มรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าวัสดุ และเครื่องมือต่างๆ และให้เกษตรกรลงทุนเรื่องค่าแรงเอง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากพอเกษตรกรมีกำไร ก็จะมีเงินทุนต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป