สกสว. จัดถกระดมความเห็น โจทย์วิจัยสิ่งแวดล้อม “ด้านน้ำ”

ภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสานเสวนา ปลดล็อคการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมประเด็นน้ำ สแกนโจทย์วิจัยใหม่ ลดช่องว่าง ขจัดปัญหาซ้ำซาก เชื่อมต่อการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดผลกระทบระดับสูง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสิ่งแวดล้อม (SAT: Strategic Agenda Team) หรือ SAT สิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุน และ กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Community Institute – MCI) เป็นต้น ร่วมกับ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำ สานเสวนา ปลดล็อคการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ในประเด็น “น้ำ”

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ประธาน SAT สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการจัดสานเสวนาว่า เป็นเวทีที่เปิดให้แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอความคิดและแนวทางการการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยทางด้านน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศและมีความเกี่ยวโยงกับหลายมิติ ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ส่วนบทบาทหน้าที่ SAT: Strategic Agenda Team ที่ สกสว. มอบหมายให้ดำเนินการ คือ การประสานเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงกับการใช้องค์ความรู้และการขับเคลื่อนองค์ความรู้ระหว่างองค์กรทุกระดับ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี การจัดสานเสวนาครั้งนี้ เป็นการจัดครั้งที่ 4 จากที่กำหนดประเด็นสำคัญๆ ไว้ ทั้งสิ้น 5 เรื่อง เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลและสังเคราะห์ข้อจัดทำรายงานสรุปให้กับ สกสว. เพื่อดำเนินการดังที่กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกัน ทาง SAT สิ่งแวดล้อม จะนำข้อมูลที่ได้จากจัดเวทีเสวนาทั้งหมดมาจัดเสวนาอีกครั้ง เพื่อสื่อสารชุดข้อมูลความรู้คืนสู่สาธารณะ และเพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ด้านผู้เข้าร่วมสานเสวนาสะท้อนมุมมองเทียบสถานการณ์ “น้ำ” ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยว่า ปัจจุบันไทยประสบกับปัญหาที่เกี่ยวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย ซ้ำซาก วนต่อเนื่องทั้งปี ที่ทุกคนต่างประสบพบเจอ และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการน้ำ อันเกิดจากปัญหาน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ ตามมา โดยผู้แทนองค์กรต่างเสนอแนวทางการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1. การมองโจทย์การวิจัยอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ทั้งในส่วนของ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย (น้ำปนเปื้อน) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ยังมีช่องว่างทางด้านการวิจัยอยู่มาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการทำงานของนักวิชาการกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ขณะเดียวกันการส่งเสริมชุดโครงการวิจัย จะต้องมีเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำวิจัยเพียงหนึ่งปีแล้วจบ เพราะปัญหาเรื่องน้ำแต่ละปีมีความแตกต่างกัน ที่สำคัญ โครงการวิจัยจะต้องเป็นการดำเนินงานที่สามารถเสริมพลังกันและกัน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการขั้นตอนของการวิจัยที่มากกว่าการให้ข้อมูล การสนับสนุนงบประมาณ ระยะเวลาในการทำวิจัยที่เพียงพอ กรณีลุ่มน้ำโขง มีขนาดและความซับซ้อนของการจัดการทรัพยากรน้ำที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ และ 8 จังหวัดของประเทศไทย และมีความสำคัญต่อลุ่มน้ำสาขา มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และขาดการวิเคราะห์เชิงระบบ การจัดทำแผนแม่บทในการจัดการ จำเป็นที่ต้องมีทีมงานที่มีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหา มีทิศทางในการทำงานที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ในโจทย์ต่างๆ ร่วมกัน และงานวิจัยต้องสามารถทบทวนเพื่อเชื่อมร้อยความต่างในการมองแม่น้ำโขงในมิติต่างๆ

          2. การมองโจทย์การวิจัยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านการวิจัย เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีผลต่อความมั่งคง ทั้งนี้ทั้งนั้น การวิจัยทางด้านน้ำ มีผลกระทบกับทุกภาคส่วน จึงจำเป็นต้องมีความลึก งานวิจัยที่ไม่ใช่แค่การใช้ แต่ครอบคลุมถึงปัญหาในอนาคต (งานวิจัยข้ามเวลา) การทำน้ำเสียให้สามารถกลับนำมาใช้ใหม่ การบริหารแหล่งน้ำอย่างครบวงจรที่สามารถใช้เทคโนโลยี และ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อคำนวณความเหมาะสม กับปริมาณการใช้น้ำกับความต้องการใช้ของแต่ละพื้นที่ ว่าสามารถทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร ขณะเดียวกันงานวิจัยจะต้องมีงบประมาณประเภท “seed money” เพื่อเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการน้ำ หรือกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์/ชดเชยความเสี่ยงหรือความเสียหาย และมีระบบการเก็บค่าน้ำ (จากแนวของ พรบ. ทรัพยากรน้ำ) ของทุกภาคส่วน เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการใช้น้ำ รวมถึงกฎหมายควบคุม เช่น การปล่อยน้ำเสีย ค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง และการปนเบื้อน รวมถึงการจัดเก็บภาษีน้ำที่เป็นธรรมและจับต้องได้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร หากจำเป็นต้องจ่าย ก็ควรต้องจ่ายตามที่สามารถจ่ายได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการวิจัยที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว เช่น การใช้น้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นการนำน้ำในอนาคต มาใช้ก่อน แต่การดำเนินการที่ว่านี้ ยังไม่มีการศึกษากระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์วิจัยที่อยากจะฝากถึงผู้มีส่วนได้เสีย ได้พิจารณาต่อไป